Tuesday, October 2, 2007

บทความที่ ๓๑๙. ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๒๒

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พยมยงค์
บทที่ ๕. สมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์

-๑-
บรรดาเพื่อเก่าแก่ของข้าพเจ้าจากเอเชียอาคเนย์ซึ่งมาเยี่ยมเยียนหลังจากที่ข้าพเจ้าได้มาพำนักอยู่ที่ปารีส เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ บางคนก็ได้รำลึกถึงสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ที่เราได้ก่อตั้งขึ้นภายหลังที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ และต่อมาถูกยุบเลิกโดยปริยาย หลังจากการรัฐประหารในปี พ.ศ.๒๔๙๐

คำกล่าวหาต่างๆของบรรดาปรปักษ์ทางการเมืองของข้าพเจ้าขัดแย้งกันเองเมื่อพูดถึงองค์การนี้ บ้างก็ว่า องค์การนี้เป็นสันนิบาตของคอมมิวนิสต์ในเอเชียอาคเนย์ บ้างก็นำเอาองค์การนี้มาปะปนกับมหาอาณาจักรไทย (PAN-THAI) ที่จอมพลพิบูลฯ ริเริ่มดำเนินการ เพื่อรวบรวมคนเชื้อชาติ ”ไทย” ที่อยู่ในจีน อินเดีย และในเอเชียอาคเนย์ ทั้งนี้ เพื่อก่อตั้งมหาอาณาจักรไทยภายใต้เผด็จการของจอมพลพิบูลฯ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศบางคน ซึ่งประจำในสยามหลังจากข้าพเจ้าเดินทางออกจากบ้านเกิดเมืองนอนและเชื่อในคำบอกเล่านี้ ก็ได้เลยเถิดไปกันใหญ่โดยการเอาข้าพเจ้ามาแทนที่จอมพลพิบูลฯ ในการฝันเฟื่องเรื่องนี้ เช่นกรณีผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำกรุงเทพฯ ที่ข้าพเจ้าพูดถึงในคำนำของหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับลักษณะขององค์การที่ยุบเลิกไปแล้วนี้ และเกิดความสับสนระหว่างองค์การของเรากับสมาคมใหม่ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งระหว่างประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามชื่อที่เรียกกันว่า “สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เรียกสั้นๆว่า “อาเซียน” นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างที่จะเล่าประวัติของสมาคมของเราพอสังเขป

-๒-

ขอให้นึกถึงว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศสยามเป็นประเทศเดียวในบรรดาประเทศเอเชียอาคเนย์ที่เป็นเอกราชและเป็นสมาชิกดั้งเดิมของสันนิบาตชาติ ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขณะนั้นเวียดนาม กัมพูชา และลาว เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส พม่า มลายู และสิงคโปร์เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ อินโดนีเซียเป็นเมืองขึ้นของเนเธอแลนด์ ส่วนฟิลิปปินส์เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา

ผู้รักชาติจำนวนหนึ่งในบรรดาประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีแนวความคิดทางการเมืองและอุดมการณ์ต่างกัน ก็ได้ลี้ภัยหลบซ่อนเข้ามาอยู่ในสยาม ในบรรดาผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เหงียน ไอ ก๊อก เป็นผู้หนึ่งที่เข้ามาเป็นครั้งคราว ชื่อของเขามีความหมายว่า “เหงียนผู้รักชาติ” เขาเป็นผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่ของเวียดนาม โดยใช้นามแฝงหลายชื่อก่อนใช้ชื่อ “โฮจิมินห์” ในที่สุด เขาได้ลี้ภัยเข้ามาในสยาม ๒ ครั้ง และพำนักอยู่ระยะหนึ่งโดยใช้ชื่ออีกหลายชื่อ

ข้าพเจ้ามีความเห็นใจผู้รักชาติลี้ภัยทุกคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก โดยไม่แบ่งแยกอุดมการณ์ เพราะแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเลือกทางของตน

No comments: