Sunday, October 7, 2007

บทความที่ ๓๒๖. ตุลาแดงรำลึก (๒)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๒-
ทำไมพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ จึงพูดความจริงปนความเท็จ จะให้เข้าใจอย่างไร ? นอกจากจะเข้าใจว่า เพราะต้องการจะลบวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันสำคัญของชาติที่เรียกว่า วันชาติ ออกจากหน้าประวัติศาสตร์ (ซึ่งต่อมาในยุคเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓ ยกเลิกวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นวันชาติ)พร้อมกับโฆษณาชวนเชื่อว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นพระราชดำริมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโน้นแล้ว จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕

หลังจากที่รัฐธรรมฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๙๒ ต่อมาจึงได้นำเสนอคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อลงพระนามและลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ โดยคณะอภิรัฐมนตรีในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชทานแทนพระองค์เป็นผู้ลงพระนามและลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานวุฒิสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยสรุป รัฐธรรมฉบับนี้สำเร็จขึ้นมาด้วยความร่วมมือระหว่างเผด็จการทหารกับกลุ่มเจ้าเศษเดนศักดินา

เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลังจากได้รับความเห็นชอบผ่านรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๙๒ แต่มาประกาศบังคับใช้เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ อันเป็นระยะเวลาห่างกันร่วม ๒ เดือน ทั้งนี้เกิดจากฝ่ายเผด็จการทหาร (คณะรัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐) ที่เห็นการรุกคืบหน้าของฝ่ายศักดินาจากการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะสมาชิกรัฐสภาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเกิดความลังเลว่าจะเป็นการยื่นดาบกลับคืนสู่พลังเก่า แต่ก็มีเหตุการณ์เข้ามาช่วยการตัดสินใจฝ่ายทหารให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเวลาต่อมา

นั่นคือเหตุการณ์ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ หรือที่ท่านปรีดีฯ เรียกว่า “ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒” ที่มีท่านปรีดีฯ เป็นหัวหน้าขบวน นำกำลังเข้ายึดวังหลวงเป็นกองบัญชาการ เคลื่อนกำลังซึ่งประกอบด้วยทหารเรือและประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ส่งปลดรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ซึ่งขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) และตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี หนังสือ “รัฐสภาไทย ในรอบสี่สิบสองปี” (๒๔๗๕-๒๔๑๗)ซึ่งคุณประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้จัดทำ ได้บันทึกเหตุการณ์ ๒๖ กุมภาพันธ์ ไว้ดังนี้

“เกิดปฏิวัติ วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ ๒๐ น.เศษ ได้มีการประกาศข่าวพิเศษทางวิทยุกระจายเสียงว่า ได้มีพระบรมราชโองการให้รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้นายดิเรก ชัยนามเป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีร่วมคณะอีกหลายคน และยังแต่งตั้งผู้มีหน้าที่สำคัญๆ อีกหลายตำแหน่ง

บุคคลนี้ ได้ยึดพระบรมมหาราชวังเป็นที่บัญชาการ โดยมีผู้แต่งกายเป็นทหารเรือร่วมด้วย มีผู้กล่าวว่าหัวหน้าผู้ก่อการครั้งนี้ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการปราบปรามโดยเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และเข้าต่อต้านผู้ปฏิวัติ ส่วนหนึ่งเข้ายึดเขตสี่แยกราชประสงค์ (ทหารเรือจากกองสัญญาณ-ผู้เขียน)มีการยิงต่อสู้กันด้วย ในที่สุดฝ่ายปฏิวัติได้หลบหนีไป (เพราะกำลังทหารเรือส่วนใหญ่จากสัตหีบมาไม่ทันและยังมีข่าวว่าผู้บัญชาการชั้นสูงบางคนทรยศ-ผู้เขียน)คงจับผู้ที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมมือครั้งนี้ได้หลายคน ซึ่งมีอดีตรัฐมนตรี (ในรัฐบาลธวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ที่ถูกรัฐประหารเมื่อ ๘ พ.ย. ๒๔๙๐-ผู้เขียน)รวมอยู่ด้วยหลายคน เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดลและนายจำลอง ดาวเรือง ต่อมาก็ได้จับกุมนายทองเปลว ชลภูมิได้อีกผู้หนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวไว้เพื่อทำการสอบสวน

วันที่ ๓ มีนาคม ศกเดียวกัน เวลากลางคืน ทางตำรวจได้สั่งย้ายผู้ต้องหาซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีทั้ง ๔ คน เพื่อจะนำไปฝากขัง ณ สถานีตำรวจบางเขน การย้ายนี้ได้กระทำเวลาค่ำคืน โดยรถยนต์ของตำรวจ มีนายตำรวจชั้นนายพลเป็นหัวหน้าควบคุม เมื่อนำผู้ต้องหาไประหว่างทางถนนพหลโยธิน ประมาณ กม.๑๓ ใกล้ถึงสถานีตำรวจว่า มีโจรจีนมลายูแย่งผู้ต้องหา ได้มีการต่อสู้กันขึ้น ผู้ต้องหาทั้ง ๔ คน จึงถูกอาวุธปืนถึงแก่กรรม” (ข้อเท็จจริงคือตำรวจเอาไปยิ้งทิ้ง และตำรวจผู้รับผิดชอบถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในเวลาต่อมา-ผู้เขียน)

No comments: