Thursday, October 11, 2007

บทความที่ ๓๓๒. ตุลาแดงรำลึก (๖)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๖-
ด้วยความขัดแย้งสามประการที่สำคัญ และรวมอีกหนึ่งคือปัญหาถือครองที่ดิน ซึ่งถือเสมือนความขัดแย้งหลักที่ก่อให้เกิดรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ รวมทั้งการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ อันนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชน คัดค้านการเลือกตั้งในเวลาต่อมา และเหตุการณ์เคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนในครั้งนี้เองที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะขวัญใจประชาชนและโดยเฉพาะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนหนึ่ง(ที่ผมใช้คำว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนหนึ่งเพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นมติของพรรค-สุพจน์)หวังที่จะสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ให้เป็นนัสเซอร์ (ผู้นำอียิปต์)แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

โดยที่ภายหลังการเลือกตั้งที่เรียกว่า เลือกตั้งสกปรกเมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ ได้มีการคัดค้านการเลือกตั้งที่นำโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางรัฐบาลก็ได้เตรียมการปราบปรามอย่างเต็มที่ โดยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และแต่งตั้งให้พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหารห มีอำนาจสั่งใช้กำลังทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ ได้แต่ผู้เดียว

ต่อมาในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๐ ขบวนการนักศึกษาทั้งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การนำของ คุณสุวิช เผดิมชิต ประธานนักศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เดินขบวนไปพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับไฟเขียวจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงไม่ได้รับการขัดขวางจากทหารและตำรวจ มีทหารบกมีชื่อขึ้นมาในวันนั้นคนหนึ่งมีหน้าที่คุมกำลังทหารอยู่ที่สะพานมัฆวาน เพื่อขัดขวางการบุกทำเนียบของขบวนการนักศึกษา แต่เมื่อเผชิญหน้ากันกับขบวนการนักศึกษา ท่านกลับเปิดทางให้ขบวนการนักศึกษาเดินไปสู่เป้าหมายโดยปลอดภัย ทหารท่านนี้ชื่อ ร.อ.อาทิตย์ กำลังเอก หรือต่อมาก็คือ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก ที่ถูกพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สั่งปลดกลางอากาศนั้นเอง

การเดินขบวนบุกทำเนียบของรัฐบาลครั้งนั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบคู่กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ขณะนั้น พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ออกมารับคำร้องของนักศึกษาอ้างว่าจอมพล ป.พิบูลสงครามอยู่ที่ทำเนียบ นักศึกษาจึงได้เบนเข็มมุ่งไปที่ทำเนียบรัฐบาล

นักเรียกร้องของนักศึกษา จอมพล ป.พิบูลสงครามไม่อาจให้คำตอบในทันที โดยอ้างว่าจะต้องปรึกษากับฝ่ายต่างๆ ก่อน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับขบวนการนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง แต่เพื่อสยบปฏิกิริยาของนักศึกษา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ได้ประกาศขึ้นว่า

“ข้าพเจ้าจะเป็นตัวแทนของพี่น้องกระตุ้นรัฐบาลในเรื่องนี้ บัดนี้ได้เวลาแล้ว ขอให้พี่น้องแยกย้ายกันกลับได้แล้ว รอฟังคำตอบจากรัฐบาลต่อไป”

ทันทีที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พูดจบ เสียงโห่ร้อง ก็ดังขึ้น “ไชโย ! ไชโย ! จอมพลสฤษดิ์ จงเจริญ”

No comments: