Thursday, October 11, 2007

บทความที่ ๓๓๑. ตุลาแดงรำลึก (๕)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๕-
ทั้งสฤษดิ์ ธนะรัชต์และเผ่าศรียานนท์ ต่างก็หวังที่จะเป็นทายาททางการเมืองสืบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ฐานะของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในเวลานั้นจึงเสมือนขี่เสือสองตัว จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เสือตัวหนึ่งตัวใดกัดกิน

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งของการเกิดรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งส่วนตัวในผลประโยชน์ระหว่างสฤษดิ์-เผ่า

ประการต่อมา หลังจากจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ออกทัศนาจรรอบโลกในปี ๒๔๙๘ เพื่อเป็นการแสดงสันถวไมตรีแด่ประมุข รัฐบาลและประชาชนแห่งประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย อเมริกา ยุโรปและอาฟริกา รวม ๑๗ ประเทศตั้งแต่วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๙๘ ถึงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ศกเดียวกัน จากการเดินทางครั้งนี้ทำให้จอมพล ป.พิบูลสงครามมีทัศนะเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนดีขึ้น และดีขึ้นจนถึงกับส่งตัวแทนส่วนตัวไปพบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนเพื่อเตรียมลู่ทางสถาปนาสัมพันธไมตรีกันต่อไป

และในอีกด้านหนึ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งท่านวรรณ หรือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมประเทศเอเชีย-อาฟริกาที่บันดง ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๔ เมษายน ๒๔๙๘ และพระองค์ท่านได้มีโอกาสพบปะกันเป็นพิเศษกับโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเป็นการขัดกับสหรัฐอเมริกาที่มีนโยบายต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างบ้าคลั่ง และการส่งตัวแทนไปพบปะกับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน การพบปะกันเป็นพิเศษระหว่างท่านวรรณ กับ โจวเอินไหลที่บันดง อินโดนีเซีย ไม่เป็นความลับสำหรับ ซีไอเอ ที่ได้ชื่อว่า รัฐบาลจำบัง

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งของการเกิดรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ อันเนื่องมาจากความไม่พอใจของสหรัฐอเมริกาต่อท่าทีของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงสนับสนุนให้สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาแทนจอมพล ป.พิบูลสงคราม เช่นเดียวกับสนับสนุนเหงียนวันเทียวเข้ามาแทนที่โงดินเดียมในเวียตนามใต้ในเวลาต่อมา

ประการต่อมาและเป็นประการชี้ขาด คือกรณีที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำริจะริ้อฟื้นคดีสวรรคตที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้ประหารชีวิตคุณเฉลียว ปทุมรส คุณชิต สิงหเสนี และคุณบุศย์ ปัทมศริน เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ และกระทรวงมหาดไทยโดยกรมราชทัณฑ์ ก็ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นคือประหารชีวิตบุคคลทั้ง ๓ คนเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ และก่อนที่จะถูกประหารชีวิตทั้ง ๓ คน ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระเมตตาอภัยโทษ แต่ก็ให้ยกฎีกานั้นเสีย และก่อนที่จะเข้าหลักประหาร นายชิต นายบุศย์ มหาดเล็กห้องพระบรรทมของในหลวงอานันท์ฯ และในเช้าวันเกิดเหตุ ทั้งสองคนก็นั่งอยู่ที่หน้าประตูห้องแต่งพระองค์ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่เข้าถึงห้องพระบรรทม (และได้ให้การต่อศาล เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า ก่อนเสียงปืนดังขึ้น ไม่มีใครล่วงล้ำเข้าไปในห้องพระบรรทมเลย แม้ในหลวงองค์ปัจจุบัน ถึงแม้พระพี่เลี้ยงเนื่องจะให้การตอบอัยการโจทก์ว่า “ถ้าพระองค์หนึ่งองค์ใดตื่นบรรทมก่อนแล้วก็จะต้องเข้าไปกระเซ้าเหย้าแหย่ให้อีกพระองค์หนึ่งตื่นขึ้น แล้วจึงประจ๋อประแจ๋ต่อกัน” แต่ในวันนั้นทั้งสองคนให้การตรงกันว่า ในหลวงองค์ปัจจุบันไปยืนอยู่แค่ประตู ถามไถ่พระอาการของในหลวงอานันท์ฯ แล้วบ่ายพระพักตร์กลับ) ได้มีโอกาสพบปะกับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหาดไทยซึ่งไปเป็นสักขีพยานในการประหารชีวิต ๓ คนนั้นด้วย การพบปะกับ ๓ คนในวันนั้นจะพูดจากันประการใดไม่เป็นที่เปิดเผย แต่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้มีบันทึกไว้ และได้เสนอจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

ต่อประเด็นนี้ ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มหาราษฎร์ไว้ ดังต่อไปนี้


“รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งตัวแทนไปพบผมในประเทศจีน แจ้งว่าได้หลักฐานใหม่ที่แสดงว่าผู้ถูกประหารชีวิตทั้งสามคมและผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ฉะนั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ออกกฎหมายให้มีการพิจารณาคดีใหม่ ด้วยความเป็นธรรม (ตามกฎหมายไทยเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเป็นอันยุติ ดังนั้นในการจะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่จึงทำไม่ได้ นอกจากจะมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงเตรียมจะเสนอกฎหมายตอ่สภาผู้แทนราษฎรให้ออกกฎหมายอนุญาตให้รื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่โจทก์-จำเลยได้พบหลักฐานใหม่-ผู้เขียน)ครั้นแล้วก็มีผู้ยุยงให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับพวก ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ โค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม”

นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งของการเกิดรัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ อันเนื่องมาจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกลงโทษประหารชีวิตไปแล้วทั้ง ๓ คน รวมทั้งท่านปรีดีฯ และเรือเอกวัชรชัยฯ และก็แน่ละ เมื่อผู้บริสุทธิ์ที่ถูกประหารชีวิตไปทั้ง ๓ คน รวมทั้งท่านท่านปรีดีฯ และเรือเอกวัชรชัยฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางแผนและมือปืนได้ถูกพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วใครล่ะเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์และมือปืนตัวจริง ????


ผู้ไม่บริสุทธิ์และมือปืนตัวจริงจึงยังคงปิดลับอยู่จนถึงวันนี้ แต่เราทุกคนเชื่อในคำโบราณไม่ใช่หรือที่ว่า ความลับไม่มีในโลก

เมื่อท่านปรีดีฯ ถูกถามในประเด็นนี้ในเวลาต่อมา ท่านตอบว่า “...ประวัติศาสตร์ในอนาคตจะตอบเอง”

ด้วยเหตุผลทั้ง ๓ ประการดังกล่าวข้างต้น คือผลประโยชน์ส่วนตัวระหว่างสฤษดิ์ กับเผ่าขัดกันประการหนึ่ง ผลประโยชน์ของชาติ (คือเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน)ระหว่างจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับสหรัฐอเมริกา(ที่ขัดขวางความสัมพันธ์ของไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน) ประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งคือสกัดกั้นไมให้นำคดีสวรรคตขึ้นมาพิจารณาใหม่

แต่ก็มีอีกประเด็นหนึ่งแทรกซ้อนเข้ามา ซึ่งแลดูผิวเผินก็ดูเหมือนกับไม่สำคัญ

แต่ถ้าจับเอาโครงสร้างของสังคมเป็นหลักแล้ว จะเห็นว่าประเด็นนี้เป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือประเด็นปฏิรูปที่ดินทำกินของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยออกพระราชบัญญัติกำหนดที่ดินทำกินครัวเรือนละไม่เกิน ๕๐ ไร่ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้พวกเจ้าที่ดินที่ไม่รู้จักพอเพียง มีที่ดินนับพันไร่หมื่นไร่ ซึ่งตกทอดกันมาจากระบบทาสศักดินาและระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงสนับสนุนการทำรัฐประหารของสฤษดิ์ฯอย่างถึงที่สุดและภายหลังที่สฤษดิ์ฯ ได้อำนาจแล้วก็ได้ยกเลิกกฎหมายปฏิรูปที่ดินฉบับนั้น ปล่อยให้เจ้าที่ดินมีที่ดินได้อย่างเสรีไม่จำกัดความพอเพียง ดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ อันเป็นผลพวงของรัฐประหารในครั้งนั้น

รัฐประหาร ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายๆ ประเด็นดังที่กล่าวมา แต่ก็ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้งในทันทีทันใด หากอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับนั้นสร้างฐานที่มั่นคงมาชั่วระยะหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขบางประการดังจะได้กล่าวต่อไป.

No comments: