Thursday, October 11, 2007

บทความที่ ๓๓๓. ตุลาแดงรำลึก (๗)

ตุลาแดงรำลึก
เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
-๗-
ต่อมาในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๐ ได้มีการประกาศยกเลิกตำแหน่ง”ผู้บัญชาการฝ่ายทหาร” และวันที่ ๑๔ ต่อมาได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และต่อมาอีก ๕ เดือนหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารจำนวนหนึ่ง ได้มีหนังสือขอให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๑๒ กันยายน ๒๕๐๐ แต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่ยอมลาออก กลับเข้าเฝ้าเพื่ออพระราชทานพระบรมราชโองการปลดจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในตอนเช้าวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ แต่ไม่ทรงโปรด

ในเช้าคืนวันนั้นเอง ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในนามของ “คณะทหาร” ได้ทำการยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามและนับแต่บัดนั้นอำนาจการปกครองแผ่นดินอยู่ในกำมือของ “คณะทหาร” (ดูรายละเอียดได้จาก “พลิกแผ่นดิน” ของประจวบ อัมพเศวต ของสำนักพิมพ์สุขภาพใจ)และฐานะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยิ่งมั่นคงยิ่งขึ้นเมื่อได้มีพระบรมราชโองการเป็นส่วนพระองค์ ในคืนรัฐประหารนั้นเอง (เพราะไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ) แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้ใช้กำลังอาวุธล้มล้างรัฐบาลเยี่ยงอนารยชน เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ดังสำเนาพระบรมราชโองการต่อไปนี้

ฉบับพิเศษ หน้า ๑
เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๗๖ ราชกิจจานุเบกษา ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐

ประกาศพระบรมราชโองการ
ตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร
------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

เนื่องด้วยปรากฏว่า รัฐบาลอันมี จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ข้าพเจ้าจึงขอตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๐


หมายเหตุ ประกาศพระบรมราชโองการฉบับนี้ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงเป็นผู้รับผิดชอบด้วยพระองค์เอง เช่นเดียวกับกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งถือเป็นโมฆะตามมาตรา ๗ ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ อันเป็นเสมือนสัญญาประชาคมระหว่างสถาบันกษัตริย์กับราษฎรไทย

โดยที่การทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครั้งนี้ไม่ได้ประกาศฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ หากให้คงใช้ต่อไป โดยมีเงื่อนไขตามพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๐ ดังนี้

“..(ก) ให้สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกประเภทที่ ๑ และสมาชิกประเภทที่ ๒ สิ้นสุดลงในวันประกาศพระบรมราชโองการนี้

(ข)ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ ๑ ภายในเก้าสิบวัน นับตั้งแต่วันประกาศพระบรมราชโองการนี้

(ค)จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ จากบุคคลซึ่งทรงเห็นสมควร มีจำนวนไม่เกิน ๑๒๓ คน ในวันและภายหลังวันประกาศพระบรมราชโองการนี้

ในระหว่างที่สมาชิกประเภทที่ ๑ ยังไม่ได้รับหน้าที่ ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่ ๒ ไปพลางก่อน

(ง)ก่อนที่จะได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นหน้าที่ของผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ...

พระบรมราชโองการฉบับนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหาร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และต่อมาได้แต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๐๐ จากบุคคลที่เห็นสมควร โดยเป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระทัย จึงทรงเห็นสมควรแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ จำนวน ๑๒๑ นาย ในจำนวนนี้ เป็นทหารบก ๗๓ นาย เป็นทหารเรือ ๑๕ นาย เป็นทหารอากาศ ๑๖ นาย เป็นตำรวจ ๓ นาย นอกนั้นเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่ และคหบดี ๑๔ นาย และบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยเหล่านี้เป็นบุคคลชนิดไหน ? อย่างไร ? ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้แล้ว เช่น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และจอมพลต้นตระกูลชุณหะวัณ (ผิน)

หลังจากตั้งผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็นสมาชิกประเภทที่ ๒ จำนวน ๑๒๑ คนแล้ว ก็เริ่มทำหน้าที่ตามเงื่อนไข (ค) คือสภาผู้แทนราษฎรและเปิดประชุมเพื่อเลือกตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๐ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดย

พลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
พลโท ปรุง รังสิยานนท์ เป็นรองประธานคนที่ ๑
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นรองประธานคนที่ ๒

และในวันเดียวกันนั้น ประธานสภาฯ ได้เชิญสมาชิกสภาฯ ไปประชุมหารือเป็นการภายใน ณ หอประชุมกองทัพบก เพื่อเฟ้นหาตัวบุคคลที่สมควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ตามคำชี้แนะให้นายพจน์ สารสินเป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๐๐ ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีโดย พลเอก สุทธิ์ สุทธิสรรณกร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และในวันเดียวกันนั้นเองได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

No comments: