Sunday, October 7, 2007

บทความที่ ๓๒๕. ตุลาแดงรำลึก (๑)

ตุลาแดงรำลึก

เรียบเรียงจากหนังสือประวัติรัฐธรรมนูญ ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล


-๑-
ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ ที่ก่อขึ้นโดยความร่วมของกลุ่มทหารเผด็จการ กลุ่มนักการเมืองศักดินา และจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา โค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของหลวงธวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ลงและนำไปสู่การเริ่มต้นแห่งการไล่ล่าปิดฉากนักการเมืองฝ่ายก้าวหน้าที่ยืนอยู่ในฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มความคิดซากเดนศักดินาและกลุ่มทหารเผด็จการ

๒ ปีถัดมาได้มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใต้ความเห็นชอบของนักการเมืองกลุ่มความคิดอนุรักษ์นิยมล้าหลังซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในสภากว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ รัฐธรรมนูญได้ถูกประกาศใช้ในวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๒ โดยมีพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงหลายประการ อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและหลอกลวงประชาชน และโดยประการสำคัญ เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่น่าละอาย ดังข้อความบางตอนในพระราชปรารภที่เป็นเท็จ มีดังนี้

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศความพระราชปรารภว่า จำเดิมแต่สมเด็จพระบรมปิตุลาธิราชพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ สถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้วนั้น...”

ข้อความตัวเน้น เป็นข้อความที่เรียกว่าจริงปนเท็จ คือ

จริง คือ ข้อความที่ว่า “โปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕”

เท็จ คือ ข้อความที่ระบุว่า (๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) “สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย”

ความจริงที่เป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ในสมัยที่เรียกชื่อประเทศนี้ว่า “สยาม” โดยคณะราษฎร เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระมหากษัตริย์ให้มอบอำนาจจากการปกครองแผ่นดินกลับคืนให้กับประชาชน ซึ่งพระมหากษัตริย์จำต้องยอม (เพราะในขณะนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และใกล้ชิดหลายพระองค์ถูกจับไว้เป็นตัวประกัน)และได้ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้เป็นหลักฐาน ดังปรากฏอยู่ใน “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕” ซึ่งถือเสมือนสัญญาประชาคม ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร ที่ได้ระบุไว้ในมาตรา ๑ ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย และตอกย้ำด้วยมาตรา ๗ ว่า การกระทำใดๆ ของพระมหากษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งก็หมายถึงระบอบประชาธิปไตยได้ถูกสถาปนาขึ้นแล้วนับแต่บัดนั้น

2 comments:

Anonymous said...

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น ในเรื่องการใช้คำว่าสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ว่าน่าจะถูกต้องแล้วนะคะ ที่ใช้คำนี้เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ฉบับแรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากก่อนหน้านี้เป็นเพียงธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวน่ะค่ะ ต้องขออภัยถ้าเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของดิฉันเอง และขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะหากจะมีผู้กรุณาไขข้อสงสัยนี้

Anonymous said...

ด้วยความเคาพนะครับ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงโปรดเกล้าขอแก้ธรรมนูญด้วยการเติมคำว่าชั่วคราวจึงเกิด รธน 10 ธันวาคม 2475 จากนั้นด้วยอาศัยสมาชิกรัฐสภาที่มีฝ่ายขวาจัดมากกว่าก็เกิดการร่างที่ตัดมาตราต่างๆที่ให้อำนาจประชาชนไว้จนหมดสิ้น กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยจอมปลอมมาตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2475 และ มากำจัดคณะปรีดีฯ สำเร็จในปี 2490 ด้วยฝ่ายขวาจัด เรื่องการบิดเบือนดังกล่าวจึงเกิดขึ้น จากนั้นอาศัยการครองกระทรวงศึกษาธิการมายาวนาน จัดการล้างสมองประชาชนจนสำเร็จให้เชื่อว่า ประชาธิปไตยนั้นไม่มีมาตั้งแต่สมัยราชาธิปไตย ก็จะเป็นว่า คณะราษฎรไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย โดยบิดให้กลายเป็นคณาธิปไตยบ้างล่ะ รีบร้อนเปลี่ยนแปลงบ้างล่ะ ทั้งๆที่ จริงๆแล้วเป็นการดึงอำนาจกลับไปสู่ระบอบเดิมมากกว่า และมาเกือบสำเร็จสมบูรณ์หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549