Tuesday, February 26, 2008

บทความที่๓๔๙.การต้อนรับของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน (จบ)

การต้อนรับของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๓-
หลีเค่อหนุงและสหายจีนหลายคนได้พาเรามายังบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนซื้อมาจากเอกชน และจัดไว้สำหรับต้อนรับเรา (ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเคารพในกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่อยู่ในเมือง ในบทต่อๆไป)

สหายคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการให้ความสะดวกแก่เรา ส่วนอีก ๒ คนช่วยเราเกี่ยวกับงานบ้าน และมีทหารหน่วยหนึ่งคอยอารักขาคุ้มกันด้วย นอกจากนี้ก็มีล่ามไทย จีน(เป็นลูกจีนโพ้นทะเลที่เกิดในสยาม)พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดรถยนต์พร้อมคนขับมาบริการ เพื่อให้เราไปไหนมาไหนได้สะดวก

ในสมัยนั้นยังไม่มีองค์การทางด้านวิเทศสัมพันธ์ที่จะทำหน้าที่ต้อนรับแขกชาวต่างประเทศ ดังนั้นถ้าเป็นแขกชาวต่างประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะคอยต้อนรับ ส่วนเรา(ซึ่งไม่ใช่คอมมิวนิสต์)นั้น องค์การแนวร่วมจะเป็นฝ่ายให้การต้อนรับเรา และต่อมา เมื่อทางการจีนจัดตั้งองค์การวิเทศสัมพันธ์แล้ว จึงให้องค์การนี้ทำหน้าที่ดูแลและให้ความสะดวก

หลีเวยฮั่น (Li Wai-Han หรือ Li Wei-han) เป็นผู้รับผิดชอบองค์การแนวร่วม เคยร่วมมือกับประธานเหมาฯ ในการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ อนึ่ง ก่อนหน้านี้เขาเคยไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา ๔ ปี

-๔-
ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ เมื่อภรรยาข้าพเจ้าได้รับการปล่อยตัวจากการถูกควบคุมตัวโดยสันติบาลแล้ว ก็ได้ออกจากกรุงเทพฯ ไปยังกรุงปารีสพร้อมบุตร ๒ คนคือดุษฎีและวาณีเพื่อเตรียมเดินทางมายังประเทศจีนอย่างลับๆ ในการนี้ข้าพเจ้าจึงได้ขอให้นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลเพื่อมิให้ทิ้งร่อยรอยใดๆ ภรรยาและบุตรสาวข้าพเจ้าไปแวะที่สต็อคโฮล์มก่อน สถานเอกอัครราชทูตจีนคอยช่วยเหลือเกี่ยวกับการเดินทางต่อไปจากสต๊อคโฮล์ม

ทั้งสามเดินทางต่อไปยังเฮลซิงกิ มอสโคว จากมอสโควได้ใช้เส้นทางสายทรานส์ไซบีเรีย เข้ามายังประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีน ผ่านทางชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน (คือทางแมนจูเรีย)

รัฐบาลจีนได้จัดเตรียมบ้านอีกหลังหนึ่งให้ครอบครัวของเรา ต่อมาบุตรชายคนหนึ่งของข้าพเจ้าคือ ศุขปรีดี ได้มาอยู่ร่วมกัน

-๕-
ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ข้าพเจ้าขอย้ายไปอยู่กวางโจว โดยนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลได้ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ทางกวางโจวได้ต้อนรับอำนวยความสะดวก ส่วนสุดาบุตรสาวข้าพเจ้า ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาที่ปารีส ได้แวะมาเยี่ยมเรา ๒-๓ สัปดาห์ ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ แต่การณ์กลับผิดคาด สุดาไม่อาจออกจากประเทศจีนได้ เนื่องจากในระหว่างนั้น จอมพลสฤษดิ์ฯ ได้ออกหมายจับทุกคนที่เดินทางไปประเทศจีน ในจำนวนนั้น มีภรรยาและบุตรข้าพเจ้าอยู่ด้วย

ที่กวางโจว แรกทีเดียวทางการจีนจัดให้เราพักในบริเวณที่พักผู้เชี่ยวชาญโซเวียตและยุโรปตะวันออก ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มาจากประเทศจีนในฐานะที่ปรึกษาทางเทคนิค ทางวิชาการและทางอุตสาหกรรม ต่อมา เราได้ย้ายที่พักอีก ๒ ครั้ง

ช่วงที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในประเทศจีนนั้น รัฐบาลจีนอำนวยความสะดวกให้ข้าพเจ้าได้ฟังวิทยุจากทุกสถานีในโลก ได้อ่านหนังสือพิมพ์ และวารสารไทย อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ทำให้ข้าพเจ้าได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับประเทศต่างๆ และข่าวคราวจากเมืองไทยด้วย นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังอนุญาตให้ข้าพเจ้าเดินทางไปชมทั่วประเทศจีน ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนมณฑลต่างๆ ยกเว้นทิเบตและซินเกียง เนื่องจากโอกาสไม่อำนวย แต่ข้าพเจ้าได้ชมโรงงานและชนบทในแถบต่างๆ ก่อนที่จะมีการก่อตั้งสหกรณ์ ซึ่งต่อมาเป็นคอมมูนของประชาชน ซึ่งข้าพเจ้ายังได้ไปชมอีกบ่อยๆ

มีหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับประเทศจีน ที่หนังสือที่ผู้เขียนมักจะเล่าเรื่องราวที่ตนได้พบเห็นหรือได้ฟังมา สำหรับหนังสือของข้าพเจ้า ในส่วนที่ข้าพเจ้าจะได้เล่าถึงการพำนักอยู่ในประเทศจีนนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงแต่สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นเอง พร้อมข้อสังเกตส่วนตัวบางประการของข้าพเจ้า
จบบทความ "ชีวิตที่ผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน"

No comments: