Monday, February 12, 2007

บทความที่ ๔๓.ภาระอันหนักที่เราทั้งหลายต้องเข้าแบกไว้ด้วยบ่าอย่างเต็มกำลัง

ภาระอันหนักที่เราทั้งหลายต้องเข้าแบกไว้ด้วยบ่าอย่างเต็มกำลัง

ชาวพุทธทุกท่าน, พระพุทธศาสนาอยู่คู่กับแผ่นดินไทยมาเนิ่นนาน จนกระทั่งในบัดนี้ประชาชนในแผ่นดินก็ค่อยๆเสื่อมจากพระสัทธรรมลงไปทุกทีๆ ก็จริงอยู่ที่ว่าทุกสิ่งสรรพสิ่งย่อมดำเนินไปสู่ความแตกดับ และพระพุทธศาสนาก็จักตั้งอยู่ในโลกได้เพียง ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น และนี่ก็เลยอายุกึ่งพระพุทธศาสนามาได้ ๕๐ ปีแล้ว
ที่จริงแล้วไม่แต่เพียงประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่เป็นมวลมนุษยชาติบนโลกที่เสื่อมจากพระพุทธศาสนาอย่างรวดเร็ว แต่จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกท่านที่ได้ตระหนักถึงภารกิจที่จะรักษาพระพุทธศาสนาให้อนุชนรุ่นหลัง ควรจะลงมือกระทำ ก็คือ การรักษาหลักธรรมไว้ โดยการฟัง การอ่าน การศึกษาให้เข้าใจหลักธรรมะ แม้จะเป็นขั้นความเข้าใจที่ยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเผยแพร่หลักธรรมคำสอนทีถูกต้องให้กระจายไปสู่ประชาชนที่ยังไม่มีโอกาสจะได้ศึกษา
บัดนี้ ผมคิดว่าหลายท่านคงได้ตระหนักแล้วว่า ภาระอันหนักที่เราทั้งหลายจะต้องเข้าไปแบกไว้ด้วยบ่าอย่างเต็มกำลังนั้น ไม่ใช่เพียงการปกป้องรักษาชาติไว้เท่านั้น แต่ยังต้องปกป้องพระพุทธศาสนาไว้อีกด้วย ผมเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า จะมีวันที่ต้องตื่นขึ้นมาพบว่าพุทธศาสนาและชาติได้ทรุดหนักลงกว่าในยุคสมัยไหนๆ แต่เมื่อเราทั้งหลายได้รู้และตระหนักถึงความวิบัติทีจะเกิดขึ้นแล้ว เราก็ไม่อาจปฏิเสธภารกิจนี้ได้ ผมขอดำรงชีวิตที่เหลืออยู่ในอันที่จะรักษาพระพุทธศาสนาและแผ่นดินนี้ไว้ จนกว่าชีพจะหาไม่
สุดท้ายนี้ผมขอเสนอบทความของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านเป็นพระเถระผู้ศึกษาและรักษาพระศาสนาไว้รูปหนึ่ง ท่านกล่าวถึงความสำคัญของการรักษาพระไตรปิฎกไว้ ความตอนหนึ่งว่า
"เวลานี้น่าเสียดายว่า ชาวพุทธจำนวนมาก ไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเป็นแก่น และเป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา ไม่รู้จักพระไตรปิฎก ไม่รู้จักการสังคายนา ไม่รู้จักวิธีรักษาสืบทอดพระไตรปิฎก หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าธรรมวินัยนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาส หรือเป็นช่องทางให้เกิดความสับสน ตลอดจนความเสื่อมโทรมและความคลาดเคลื่อนต่างๆ พร้อมทั้งคำสอนที่ผิดเพี้ยนแปลกปลอมจะแทรกซ้อนหรือแอบแฝงเข้ามา
เรื่องนี้ต่างจากชาวพุทธในสมัยโบราณมาก แม้เขาจะไม่มีการศึกษารู้อะไรมากมายในความหมายของคนปัจจุบัน แต่เขาเข้าใจสิ่งเหล่านี้ อย่างน้อยรู้จักว่าพระไตรปิฎกคืออะไร เป็นหลักของพระศาสนาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร ต่อความเป็นความตายของพระพุทธศาสนา เพราะว่าถ้าพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อน ก็คือพระพุทธศาสนาคลาดเคลื่อน หรือกำลังเลือนลางไป ถ้าพระไตรปิฎกหายไป หมดไป ก็คือพระพุทธศาสนาสูญสิ้น เพราะจะไม่มีแหล่งคำสอนของพระพุทธเจ้าเหลืออยู่
อย่างที่กล่าวแล้วว่า เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ต้องการฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อต้องการรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร เราจะไปรู้เอาเองได้อย่างไร ก็ต้องไปฟังจากพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่อยู่ ก็ต้องไปดูคำสอนที่จารึกไว้ ซึ่งก็ได้จารึกไว้และรักษากันมาในพระไตรปิฎกนี้ ถ้าหมดพระไตรปิฎก ก็คือหมดพระพุทธศาสนาหมดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หมดพระธรรมวินัย หมดพระศาสดาของชาวพุทธ จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ ที่จะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ ด้วยการเล่าเรียนพระไตรปิฎก แล้วก็รักษาพระไตรปิฎกไว้ให้อยู่มั่นคงด้วยดี ดังที่ชาวพุทธโบราณทุกประเทศได้พยายามรักษากันมาเป็นงานสำคัญของชาติ
ถ้าเราเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก ก็คือเห็นความสำคัญของพระพุทธเจ้า เพราะว่าเรานับถือคำสั่งสอนของพระองค์ ถ้าเรารักษาพระไตรปิฎกไว้ได้ พระพุทธศาสนาก็อยู่อย่างดีที่สุด แล้วก็จะมีหลักที่เป็นแกนกลาง ที่เรานับถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ชาวพุทธทั้งหมด ชาวพุทธทั้งปวงในประเทศ เถรวาททุกประเทศ ก็จะมีเอกภาพดังที่เคยมีเอกภาพกันมาแล้ว
อย่างที่กล่าวแล้วว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกของประเทศไทย พม่า ลังกา หรือในประเทศไหนๆ แม้แต่ที่เอาไปในยุโรป เช่นที่อังกฤษ ก็เป็นเนื้อหาอันเดียวกันหมด เป็นคำสอนเดียวกัน เช่น ทาน ศีล ภาวนา อันเดียวกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขา อันเดียวกัน ขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปบาท อันเดียวกัน ไม่ว่าพระสูตรใดๆ ไปดูเนื้อหาก็เหมือนกันหมด ไปที่ไหนก็ใช้กันได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าพระไตรปิฎกที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนายังคงอยู่ ชาวพุทธก็ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ถ้าเราเสียหลักเรื่องนี้เมื่อไร ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาจะเริ่มมีปัญหา ชาวพุทธเองก็จะทะเลาะเบาะแว้งกัน นั่นก็คือความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา และความเสื่อมโทรมแห่งประโยชน์สุขของประชาชน ที่จะไม่รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงและไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องเพราะฉะนั้น จะต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระไตรปิฎก และชวนกันรักษาด้วยการศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจัง"

No comments: