Wednesday, February 28, 2007

บทความที่ ๗๓. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ (จบภาคหนึ่ง)

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
สำเร็จการศึกษา

แม้ว่าจะต้องต่อสู้อย่างขะมักเขม้นเพื่อชัยชนะในการศึกษา เอ็มเบ็ดก้าร์ก็มิได้ลืมจุดหมายอันแท้จริงที่ผลักดันชีวิตของเขาให้ดำเนินไป นั่นก็คือ การทำลายความอยุติธรรมให้หมดไปจากสังคมฮินดูและยกฐานะอธิศูทรขึ้นให้เป็นที่ยอมรับว่า พวกเขาก็คือเพื่อนมนุษย์เหมือนคนในวรรณะอื่นเช่นกัน ทั้งนี้พวกอธิศูทรเองก็จะต้องพัฒนาตนเองโดยทุกวิถีทาง ความสำเร็จในชีวิตจะมีได้ก็ด้วยการลงมือกระทำ มิใช่อยู่ที่การเพ้อฝัน

เมื่อมาถึงลอนดอนเอ็มเบ็ดก้าร์จึงหาโอกาสเข้าหา มองตากู (Montagu) ซึ่งในภายหลังท่านผู้นี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการของอังกฤษประจำอินเดีย เขาได้สนทนาเกี่ยวกับความทุกข์และความขมขื่นที่พวกอธิศูทรได้รับจากการกระทำอันเห็นแก่ตัวของพวกฮินดูในวรรณะอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณะพราหมณ์

ขณะที่ศึกษาอยู่ในลอนดอนเอ็มเบ็ดก้าร์ได้คิดคำนึงถึงงานหนังสือพิมพ์ “มุขนายก” อยู่เสมอๆ เขาคิดถึงงานปฏิรูปสังคมของเพื่อนร่วมงานในอินเดียที่กำลังดำเนินการแทนเขาอยู่ เขาจึงเขียนบทความส่งไปให้เพื่อนๆในสำนักหนังสือพิมพ์ มุขนายก นำตีพิมพ์สู่สาธารณะเรื่อยๆ และบางครั้งเขาก็ได้เตือนสติแก่เพื่อนร่วมงานของเขาว่า มันมิใช่เรื่องเป็นบาปเลยแม้แต่น้อยในการที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเกียรติยศและชื่อเสียงแก่ตนเองและกลุ่มชนของตน ถ้าตราบใดสิ่งที่เรามุ่งประสงค์ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เราจะต้องไม่เลิกล้มความพยายามหรือยอมแพ้ต่ออุปสรรคเป็นอันขาด และจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ความสามัคคีในหมู่คณะของพวกอธิศูทร เป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้ดำเนินงาน เอ็มเบ็ดการ์ได้ส่งจดหมายไต่ถามทุกข์สุขของเพื่อนร่วมสำนักงานหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ และสิ่งที่เขาจะต้องจัดการให้ลุล่วงเพื่อไม่ให้เป็นปัญหารบกวนจิตใจ ก็คือความห่วงใยในความเป็นอยู่ของภรรยาและบุตรหลาน เอ็มเบ็ดก้าร์ได้ส่งจดหมายฝากฝังเพื่อนสนิทคนหนึ่งให้ช่วยดูแลสุขทุกข์แทนตัวเขาด้วย ซึ่งเพื่อนของเขาคนนั้นก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีและแจ้งให้เอ็มเบ็ดก้าร์ทราบเพื่อหมดความกังวลใจในเรื่องนี้

กาลเวลาได้ผ่านไปเป็นลำดับ วิทยานิพนธ์ของเอ็มเบ็ดก้าร์ก็สำเร็จอย่างสมบูรณ์ วิทยานิพนธ์เรื่องแรกของเขาชื่อว่า “การกระจายอำนาจการคลังของจักรวรรดิอังกฤษในอินเดีย” (Provincial Decentralization of Imperial Finance in British India) ทำให้เขาได้รับปริญญาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต(ปริญญาโท) ในเดือนมิถุนายน ๒๔๖๔ และในเดือนตุลาคมของปีถัดมา เขาได้ยื่นวิทยานิพนธ์อีกเรื่องหนึ่งต่อมหาวิทยาลัยลอนดอน ชื่อว่า “ปัญหาเงินรูปี” (The Problem of Rupee) และในเวลาไล่เลี่ยกันนี้เขาก็เข้าสอบวิชากฎหมายและสำฤทธิผลก็เป็นไปตามความบากบั่นมานะของเขาแม้ว่าจะจบช้าไปเพราะต้องทุ่มเทกับการเขียนวิทยานิพนธ์ชนิดที่เรียกว่าแทบจะไม่มีเวลาหยุดพักเลย

ในระหว่างที่รอผลการตรวจวิทยานิพนธ์จากคณาจารย์ เขาได้เดินทางไปประเทศเยอรมันนีเพื่อจะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยบอนน์ ซึ่งได้ติดต่อไว้แล้วตั้งแต่กลางปี ๒๔๖๕ ทั้งนี้เอ็มเบ็ดก้าร์เห็นว่ามหาวิทยาลัยบอนน์ก็เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่เรืองนามอีกแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามเขาถูกเรียกตัวกลับไปยังลอนดอน เนื่องจากศาสตราจารย์ผู้ตรวจวิทยานิพนธ์ได้แจ้งแก่เขาว่าวิทยานิพนธ์บางตอนอธิบายน้อยเกินไปขอให้เขาเขียนเพิ่มเติม ในขณะนั้นเอ็มเบ็ดก้าร์ไม่สามารถจะอยู่ต่อในลอนดอนเพื่อแก้ไขวิทยานิพนธ์ เพราะปัญหาเกี่ยวกับการเงิน เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับอินเดียในเดือนเมษายน ๒๔๖๖ เมื่อกลับมาถึงเขาก็ลงมือเขียนวิทยานิพนธ์เพิ่มเติมจนเสร็จและส่งกลับไปยังมหาวิทยาลัยลอนดอน คณะกรรมการได้พิจารณาและลงความเห็นว่าใช่ได้ ในที่สุดผลของความความมานะบากบั่นทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการศึกษา เอ็มเบ็ดก้าร์ก็ได้รับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งในภายหลังวิทยานิพนธ์ของเขาได้ถูกตีพิมพ์เป็นตำราอ้างอิง โดยบริษัท เมสสรัส. พี. เอส. คิงแอนด์ซัน จำกัด

บัดนี้ เอ็มเบ็ดก้าร์ได้สำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตและยังตามด้วยปริญญาเอก ๒ ปริญญาคือ เศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา นับว่าเขาได้สร้างเกราะและเตรียมอาวุธให้แก่ตัวเองเป็นอย่างดียิ่ง เขาพร้อมแล้วที่จะกระโจนขึ้นสู่เวทีเผชิญหน้ากับศัตรูของความยุติธรรมทั้งในแง่กฎหมาย การเมือง เศรษฐศาสตร์และสังคม อย่างไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลอันป่าเถื่อนอีกต่อไป


จบภาคหนึ่ง

Tuesday, February 27, 2007

บทความที่ ๗๒. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๘

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
เริ่มต้นบทบาท

ในเดือนมีนาคม ๒๔๖๓ เอ็มเบ็ดก้าร์ได้รับเลือกเป็นประธานในที่ประชุมของอธิศูทรที่เมืองโคลัคปูระ มหาราชาแห่งโคลัคปูระได้ทรงพระกรุณาเข้าร่วมประชุม และได้ทรงปราศรัยปลุกใจพวกอธิศูทรที่เข้าประชุมมีใจความสำคัญว่า พระองค์มีความเชื่อมั่นในความสามารถของเอ็มเบ็ดก้าร์ ในการที่จะปลดแอกออกจากคอของพวกอธิศูทรทั้งหลาย และนับว่าเป็นโอกาสและโชคของพวกเขาที่มีคนอย่างเอ็มเบ็ดก้าร์เกิดขึ้นในพวกอธิศูทร เอ็มเบ็ดก้าร์จะเป็นผู้นำแสงสว่างมาให้แก่พวกเขาเหล่านั้น เมื่อการประชุมครั้งนั้นจบลง ได้มีการจัดเลี้ยงอาหารค่ำ มหาราชาและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านได้ร่วมรับประทานอาหารกับพวกอธิศูทร โดยมีเอ็มเบ็ดก้าร์เป็นผู้นำฝ่ายอธิศูทรอย่างเป็นกันเอง

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ๒๔๖๓ ได้มีการประชุมที่สำคัญอีกครั้งที่เมืองนาคปูร ในที่ประชุมนั้นเสียงของเอ็มเบ็ดก้าร์เป็นเสียงที่กึกก้อง และมีความสำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับการเลือกผู้แทนอธิศูทรเข้าสู่สภานิติบัญญัติ ว่าควรจะให้ใครเป็นผู้เลือก คือจะให้รัฐบาลเลือกหรือให้สมาชิกของสภานิติบัญญัติ หรือควรจะให้อธิศูทรเองเลือก เอ็มเบ็ดก้าร์ได้แสดงความคิดเห็นและกล่าวอย่างเผ็ดร้อนโดยย้ำว่า “ถ้ารัฐบาลเป็นผู้เลือกก็เท่ากับเป็นผู้แทนของรัฐบาล ถ้าให้สภาเลือกก็เท่ากับเป็นผู้แทนของสภา ถ้าจะให้เป็นผู้แทนของอธิศูทรก็ควรจะให้อธิศูทรเลือกเอง อธิศูทรมิได้โง่เขลาเสียจนเลือกผู้แทนของตนเองไม่ได้ พวกเขารู้เขาเข้าใจเท่าที่แล้วๆมา สังคมดูถูกพวกเขา กีดกันพวกเขา พวกเขาไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถเลย แล้วเมื่อใดพวกเขาจึงจะพ้นจากสภาพครึ่งสัตว์ครึ่งมนุษย์นั้นเสียที” ในที่สุดที่ประชุมก็เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว ซึ่งนับเป็นชัยชนะครั้งแรกในชีวิตของเขาที่ปรากฏแก่สาธารณชน

ศรีภรรยา

ในเรื่องชีวิตครอบครัวของเอ็มเบ็ดก้าร์นั้น การที่เขาเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยทำให้มีรายได้พอสมควรแก่อัตภาพ เขาใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุด ได้แบ่งเงินเดือนให้ภรรยาไว้ใช้จ่ายในครอบครัว อีกส่วนหนึ่งเก็บเอาไว้ เขาคิดเสมอว่าจะรวบรวมให้พอค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายในการกลับไปเรียนกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตที่เรียนไว้เพียงครึ่งเดียวในลอนดอน เอ็มเบ็ดก้าร์นับว่าได้ศรีภรรยาผู้อดทนและสนับสนุนความก้าวหน้าของสามี โดยไม่ย่อท้อต่อความลำบาก เธอต้องรับภาระเพิ่มขึ้นอีกในการดูแลครอบครัวพี่ชายของสามีของเธอที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว บ้านพักของเอ็มเบ็ดก้าร์มีอยู่สองห้องหันหน้าเข้าหากัน ตั้งอยู่ในบริเวณแหล่งสลัม ภรรยาของเขาถึงแม้จะมีศรัทธาในศาสนาอย่างมั่นคงแต่ก็ไม่อาจไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ เพราะการไปศาสนาสถานและร่วมประกอบพิธีทางศาสนาเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับคนนอกวรรณะอย่างเธอ

ตอนที่เอ็มเบ็ดก้าร์ไปศึกษาที่อเมริกา รามาไบผู้ภรรยาได้ดำเนินชีวิตไปด้วยความยากลำบาก แต่เธอก็ไม่ได้คร่ำครวญแม้แต่น้อย ได้แต่สวดภาวนาขอความสวัสดีและความรุ่งเรืองจงมีแก่สามีของเธอ เมื่อตอนที่เขาไปอเมริกา เธอกำลังตั้งครรภ์ ต่อมาได้ให้กำเนิดบุตรชายแต่ต้องเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก เมื่อเอ็มเบ็ดก้าร์กลับมาจากอเมริกา เธอก็ตั้งครรภ์อีกและก็ต้องสูญเสียบุตรไปตั้งแต่ยังเป็นทารกอีกเช่นกัน แต่การตั้งครรภ์ครั้งที่สาม ครั้งนี้เธอได้ให้กำเนิดบุตรชายและให้ชื่อว่า เยชวันต์ การให้กำเนิดเยชวันต์ทำให้เธอมีสุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน แต่เธอก็อดทนไม่ให้กระทบกระเทือนต่อการศึกษาหาความรู้ของสามีเลยแม้แต่น้อย

ครั้นแล้วเอ็มเบ็ดก้าร์ก็สามารถรวบรวมเงินได้ก้อนหนึ่งและได้เพิ่มเติมจากโดยความช่วยเหลือจากมหาราชาแห่งโคลัคปูระ อีกทั้งได้ยืมเงินจากเพื่อนปาซีของเขาที่เคยร่วมศึกษาด้วยกันที่นิวยอร์ก คือ นาวัล ภาเทนา เป็นจำนวน ๕,๐๐๐ รูปี เขาจึงเดินทางไปยังลอนดอนอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๓ โดยตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะเรียนวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ให้สำเร็จ การจากไปในครั้งนี้ รามาไบภรรยาของเขาก็ต้องอยู่ด้วยความยากลำบากอีกครั้ง สุขภาพก็ไม่แข็งแรง ความรู้ก็ไม่มี งานที่เธอจะทำได้ก็คือรับจ้างเป็นกรรมกรและคนใช้เท่าน้น อีกทั้งกลุ่มชุมชนของเธอยังเป็นที่รังเกียจถูกดูถูกจากคนวรรณะอื่นๆ นอกจากจะดูแลลูกชายแล้วเธอยังจะต้องแบกภาระครอบครัวของพี่ชายสามีด้วย ถ้าเอ็มเบ็ดก้าร์ไม่ได้ศรีภรรยาที่อดทนและน่ายกย่องเช่นนี้ ความสำเร็จและความรุ่งโรจน์ของเขาและของประชาชนชาวอินเดียจะมาจากที่ใด ? รามาไบจึงนับว่าเป็นผู้มีคุณูปการแก่ประชาชนชาวอินเดียโดยทางอ้อมทีเดียว

ถูกทวงให้ชดใช้ทุน

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่แห่งบาโรด้าได้มีหนังสือถึงรัฐบาลแห่งบอมเบย์ ถึงคณะเจ้าหน้าที่วิทยาลัยซิดนาห์มและถึงหัวหน้ากรรมกรที่บอมเบย์ โดยแจ้งให้ทราบว่า เอ็มเบ็ดก้าร์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับมหาราชาแห่งบาโรด้าเกี่ยวกับการทำงานชดใช้ทุน (ซึ่งหากกล่าวอย่างเป็นธรรมแก่เอ็มเบ็ดก้าร์แล้ว เขาไม่มีเจตนาจะละเมิดสัญญานั้นเลย แต่ความบ้าคลั่งและป่าเถื่อนของสังคมฮินดูในเมืองบาโรด้าต่างหากที่ทำให้เขาต้องหนีออกจากเมืองบาโรด้า ซึ่งไมใช่แต่เฉพาะเขาเท่านั้น แต่หากเป็นทุกคนที่ต้องเผชิญความป่าเถื่อนอย่างนั้นก็ไม่สามารถจะทนทำงานชดใช้ทุนต่อไปได้เช่นกัน) เรื่องนี้มหาราชาแห่งบาโรด้าไม่ได้ทรงทราบเรื่องว่าพวกเจ้าหน้าที่ของพระองค์ได้กลั่นแกล้งเอ็มเบ็ดก้าร์ในทางกฎหมาย ซึ่งต่อมาพระองค์ทรงบันทึกไว้ว่า “เงินที่จ่ายให้เอ็มเบ็ดก้าร์ ถือว่าหมดไปในการศึกษา ไม่ควรจะรื้อฟื้นขึ้นอีก” ซึ่งในที่สุดของคดีในปี ๒๔๗๕ เรื่องก็ยุติลงโดยฝ่ายมหาราชาตัดสินยกให้ประโยชน์ทางการศึกษาของเอ็มเบ็ดก้าร์ คือเอ็มเบ็ดก้าร์ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยแต่อย่างใด

อดทนเพื่อความสำเร็จ

เมื่อเอ็มเบ็ดก้าร์กลับมาศึกษาที่กรุงลอนดอนอีกครั้งเขาได้รื้อฟื้นการเรียนของเขาใหม่ ที่สถานศึกษาเรียนเศรษฐศาสตร์และการเมืองที่ลอนดอนในปี ๒๔๖๕ ในวิชาเศรษฐศาสตร์ ขณะเดียวกันก็สมัครเป็นนักศึกษากฎหมายที่เกรส์ อินน์ ตอนนี้เอ็มเบ็ดก้าร์ได้ทุ่มเทความสนใจของเขาไปยังห้องสมุดลอนดอน อันเป็นสถานที่รวบรวมสรรพวิชานานาแขนง นับว่าเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุดที่จะขุดค้นหาวิชาความรู้ ซึ่งนักปราชญ์ของโลกหลายต่อหลายคนได้สร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนและโลก โดยอาศัยห้องสมุดแห่งนี้เป็นที่ฝึกฝนมันสมอง

เวลาเป็นเรื่องสำคัญแก่เขาเป็นอย่างมาก ในลอนดอนเขาได้พักอยู่ในห้องเช่ากับเพื่อนชาวอินเดียผู้หนึ่ง เศรษฐีนีเจ้าของห้องเช่าเป็นคนเห็นแก่เงินและดุดัน อาหารเช้าที่เธอจัดให้ก็คือ ปลาหนึ่งชิ้น ขนมปังหนึ่งแผ่น แยมชนิดเลว และน้ำชาหนึ่งถ้วย เอ็มเบ็ดก้าร์มิได้ถือว่าอาหารเป็นเรื่องใหญ่แต่อย่างใดเลย ดังนั้นเขาจึงกินอาหารอันน่าเบื่อนั้นเพียงเพื่อยังชีพ เมื่อเสร็จธุระจากอาหารเขาก็ตรงไปห้องสมุดทันที ณ ที่นั้น เขาตั้งตาอ่านหนังสือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาใช้เวลาอยู่ในห้องสมุดตั้งแต่เริ่มเปิดในเวลา ๘.๐๐ น.และกลับเมื่อห้องสมุดปิดในเวลา ๑๗.๐๐ น.เป็นอย่างนี้ทุกวัน เขาไม่เคยสนใจอาหารกลางวันเลย เขาเป็นคนแรกที่ไปถึงห้องสมุดและเป็นคนสุดท้ายที่เดินออกพร้อมด้วยกระเป๋าเอกสารที่บันทึกสิ่งที่ได้อ่านเป็นประจำทุกวัน หน้าตาของเขาซีดเซียวเหนื่อยอ่อนและสะลึมสะลือ แต่ก็แฝงด้วยความหวังว่าจะสำเร็จในไม่ช้า พอถึงที่พักเขาจะพักผ่อนชั่วครู่แล้วรับประทานอาหารเย็น ซึ่งเป็นน้ำซุปใสๆและขนมปังทาเนย ๒-๓ ชิ้น นับเป็นความโหดร้ายไร้ความเมตตาจากเจ้าของห้องเช่าหน้าเลือด ตกกลางคืนท้องจะร้องด้วยความหิวโหยอย่างมาก เอ็มเบ็ดก้าร์นอกจากทำงานอย่างเคร่งเครียดมาตลอดวัน มาซ้ำด้วยการกินแบบอดๆอยากๆ เขาต้องได้รับความทรมานอย่างมาก เขาไม่ซื้ออาหารทานพิเศษ แม้แต่ค่าโดยสารรถประจำทางเขาก็เลือกที่จะเดิน เพราะต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง

เขาพักผ่อนด้วยการเดินเล่นสักครู่แล้วจึงเริ่มอ่านหนังสือต่อไป อ่านทบทวนสิ่งที่ได้จากห้องสมุดหรืออ่านจากตำราที่เรียนบ้างจนดึกดื่น บางครั้งเพื่อนร่วมห้องซึ่งเข้านอนตอนที่เอ็มเบ็ดก้าร์อ่านหนังสือและเมื่อตื่นมาตอนตี ๔ ตี ๕ ก็พบว่าเอ็มเบ็ดก้าร์ยังอ่านหนังสืออยู่เช่นเดิม เขาจึงสงสารและเตือนด้วยความหวังดีให้เขาลดความขยันลงบ้างเพื่อรักษาสุขภาพ เอ็มเบ็ดก้าร์ได้ตอบอย่างนุ่มนวล่า “ความทุกข์และเวลาอันจำกัด บังคับให้ต้องรีบเรียนและให้สำเร็จการศึกษาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” อยู่มาคืนหนึ่งเนื่องจากอาหารอันแสนจะทารุณของเจ้าของห้องเช่าทำพิษให้เอ็มเบ็ดก้าร์ตัวร้อนแสบไส้ นอนบิดตัวไปมาด้วยความหิว เพื่อนร่วมห้องได้ช่วยชีวิตเขาไว้โดยให้อาหารที่นำไปจากอินเดียมีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบมาทอดให้เขากินประทังความหิวและยืดชีวิตเขาออกไป...

บทความที่ ๗๑. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๗

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
หยัดยืนขึ้นสู้

ในระยะนั้น ทั้งนักการเมืองและนักสังคมสงเคราะห์ได้มุ่งความสนใจไปยังพวกอธิศูทรหรือพวกนอกวรรณะมากขึ้นโดยลำดับ ต่างก็มีความคิดเห็นเป็นอันเดียวกันว่า ความเชื่อถือในเรื่องอธิศูทรควรจะหมดไปจากสังคมอินเดีย และพยายามหาทางให้บุคคลเหล่านี้ได้มีสิทธิ และมีโอกาสได้รับการศึกษาทัดเทียมกับคนในวรรณะอื่นๆ นักสังคมสงเคราะห์และนักการเมืองได้มีการประชุมสัมมนากันหลายครั้งที่บอมเบย์และที่เมืองใหญ่ๆแห่งอื่นๆเกือบทั่วอินเดีย ในการประชุมสัมมนาที่บอมเบย์ได้เลือกตัวแทนของอธิศูทรให้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ตอนนั้นเอ็มเบ็ดก้าร์ยังเก็บตัวเงียบอยู่ เพราะความขมขื่นที่ได้รับจากเมืองบาโรด้ายังระอุอยู่ในหัวอกของเขา เขาคิดอยู่ว่า ก่อนที่เขาจะไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมวรรณะของเขา เขาจะต้องช่วยเหลือตนเองให้ได้เสียก่อน เขารู้ว่าอธิศูทรคนอื่นๆก็คงมีความเจ็บช้ำเช่นเดียวกับเขา แต่มันจะไม่มีประโยชน์เลยที่คนว่ายน้ำไม่เป็นจะไปคิดช่วยเหลือคนตกน้ำ เขาจะต้องสร้างตัวเขาเองให้แข็งแกร่ง สามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองให้ได้เสียก่อน เขาจึงจะออกโรงเพื่อแสดงบทบาทช่วยเหลือเพื่อนร่วมวรรณะ

ครั้งแรกเขาคิดจะดำเนินชีวิตโดยการเป็นนักกฎหมาย ซึ่งอาชีพนี้จะทำให้เขากว้างขวางและเป็นที่เชื่อถือในสังคมได้ แต่วิชากฎหมายที่เขาได้ศึกษาอยู่ที่ เกรส์ อินน์ (Gray’s Inn)ยังไม่จบ (สภาเนติบัณฑิตของอังกฤษผู้ที่จะเป็นทนายความจะต้องผ่านโรงเรียนของสภาเนติบัณฑิต ซึ่งมีอยู่ ๔ แห่งด้วยกัน คือ Inner Temple, Middle Temple, Lincoln’s Inn และ Gray’s Inn) เขาจึงเลิกคิดในการเป็นนักกฎหมายไว้เสียก่อน แต่ความคิดจะศึกษาวิชากฎหมายยังไม่หมดไปจากความพยายามของเขา เขาหันมารับเป็นครูสอนพิเศษ ให้แก่นักเรียนปาซี ๒ คน และพร้อมกันนั้นเขาก็เปิดสำนักงานเล็กๆขึ้น ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ขายหุ้นส่วนและบริษัท ทำให้เขามีรายได้ดีพอสมควร แต่ก็ไม่นานนักเพราะเมื่อพวกซื้อขายหุ้นได้ทราบว่า ผู้ให้คำแนะนำอันลึกซึ้งและคมคายผู้นี้เป็นคนนอกวรรณะ จึงพากันเลิกทำการติดต่อขอคำแนะนำอีก เขาจึงต้องปิดสำนักงานเล็กๆของเขาลง ครั้นแล้วไม่นานเขาก็ได้รับงานเป็นผู้โต้ตอบจดหมายและเป็นคนทำบัญชีของร้านปาซี ซึ่งเป็นงานที่พอมมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้

ในตอนนี้จิตใจของเขาได้หมกหมุ่นอยู่กับความคิดที่สุขุมและแยบยลในการที่จะปรับปรุงระบบสังคมอันเลวร้ายของพวกฮินดู เขาได้เริ่มเขียนหนังสือเป็นรูปบทความบ้าง เป็นรูปเล่มเล็กๆบ้าง ครั้งหนึ่ง เขาได้เขียนบทความลงในหนังสือวารสารของสมาคมเศรษฐศาสตร์อินเดีย (Indian Economics Society)ในบทความนั้น เขาให้ความเห็นว่า การบูรณะสังคม ขึ้นอยู่กับความเข้าใจอันถูกต้องถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยของสังคม ซึ่งเป็นปัญหาที่นักสังคมลืมนึกถึงไป และเขายังได้เขียนหนังสืออื่นๆอีก ซึ่งเขามิใช่ว่าจะมีประโยชน์แก่คนในวรรณะเดียวกับเขาเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์แก่ชาวอินเดียทั้งมวลด้วย

ด้วยดวงจิตอันอับเฉาและคิดมากนี้ นาวาแห่งชีวิตของเอ็มเบ็ดก้าร์จึงดำเนินไปไม่สู้จะราบเรียบรื่นนัก แต่แล้วเขาก็ได้ทราบข่าวว่ามีตำแหน่งอาจารย์ว่างลงใน วิทยาลัยซิดนาห์ม (Sydenham College) ที่เมืองบอมเบย์ เขาจึงได้ยื่นใบสมัครเข้าเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาแห่งนั้น โดยได้เขียนจดหมายถึงท่าน ลอร์ด ซิดนาห์ม อดีตผู้ว่าราชการรัฐบอมเบย์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เขาเคยสนิทสนมเมื่อตอนที่อยู่ในกรุงลอนดอน ขอร้องให้ท่านผู้นี้แนะนำฝากเขาเข้าเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยดังกล่าว หลังจากสอบสัมภาษณ์แล้ว รัฐบาลแห่งรัฐบอมเบย์ได้แต่งตั้งเขาเป็นอาจารย์ในวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองประจำสถาบันในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๑ เขาคิดอยู่เสมอว่า จากรายได้ในการเป็นอาจารย์นี้ เขาสามารถจะเก็บหอมรอมริบไว้เป็นทุนเพื่อเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ในลอนดอนที่เขาทิ้งไว้กลางคันให้สำเร็จได้

ในระยะแรกๆ นักศึกษาแห่งวิทยาลัยนั้นไม่ได้ทราบว่าอาจารย์คนใหม่ของพวกเขาเป็นคนนอกวรรณะ เพราะพวกเขาคิดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่อธิศูทรจะมาสอนนักศึกษาฮินดูในวรรณะอื่น พวกนักศึกษาไม่รู้เลยว่า อาจารย์หนุ่มที่ยืนบรรยายให้ความรู้อยู่เบื้องหน้าพวกเขาด้วยท่าทางองอาจแต่งตัวเรียบร้อยสง่าผ่าเผย แต่เคร่งเครียดต่อวิชาการนั้นคือใคร มาจากไหน เอ็มเบ็ดก้าร์มีความสามารถเป็นพิเศษหรือจะเรียกว่าเป็นพรสวรรค์สำหรับเขาก็ได้ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ ด้วยวิธีการสอนที่ดีและชวนให้คนคิด การสอนของเขาเป็นที่ประทับใจของนักศึกษาทุกคน จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วในกลุ่มนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ นักศึกษาจากวิทยาลัยอื่นได้ขออนุญาตพิเศษเข้าฟังคำบรรยายเวลาเอ็มเบ็ดก้าร์เข้าทำการสอน นับว่าเขาได้ทำชื่อเสียงให้แก่วิทยาลัยแห่งนั้นไม่น้อยทีเดียว แต่ไม่นานนักชีวิตการเป็นอาจารย์ของเขาก็เริ่มอับเฉาลง เพราะเงาแห่งความเป็นอธิศูทรของเขาได้ปรากฏขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศอันมีเกียรติของสถาการบันศึกษา โดยอาจารย์บางคนที่เป็นพราหมณ์มีความรังเกียจในตัวเอ็มเบ็ดก้าร์ไม่ยอมให้เขาร่วมดื่มน้ำที่จัดไว้สำหรับคณาจารย์ของวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ความเป็นอาจารย์มิใช่จะเป็นเส้นทางสุดท้ายที่เขาต้องเดิน สังคมอันน่าขบขันได้เล่นตลกกับชีวิตเขาครั้งแล้วครั้งเล่า เอ็มเบ็ดก้าร์เป็นคนทำงานด้วยอุดมการณ์ เขาได้ครุ่นคิดถึงสภาพและชะตากรรมของพวกอธิศูทรโดยเริ่มคิดถึงพระเจ้า แต่มิใช่อ้อนวอนให้พระเจ้า(ของฮินดู)ทรงโปรดช่วยยกระดับการเป็นอยู่ของเขาและหมู่ชนนอกวรรณะของเขาให้ดีขึ้น หรือขอให้พ้นจากการกดขี่ของคนวรรณะอื่น แต่เขาคิดถึงพระเจ้าด้วยการตั้งปัญหาว่า พระเจ้ามีอยู่จริงหรือ พระเจ้านั้นเป็นที่เคารพบูชาของสัตว์โลกทั้งมวล ถ้าเป็นจริงตามที่ชาวโลกเชื่อแล้วไซร้ เหตุไฉนพระองค์จึงทรงไม่โปรดคนอย่างเขาและพวกอธิศูทรทั้งหลายบ้าง บรรพบุรุษของเขาได้พากันกราบไหว้อ้อนวอนพระเจ้ามาเนิ่นนานหลายชั่วคนแล้ว แต่พระองค์ก็ยังทารุณปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญกับการกดขี่ของพวกวรรณะอื่นอยู่ตลอดมา เอ็มเบ็ดก้าร์เชื่อการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี เขาคิดเสมอว่า พระเจ้ามิได้ลิขิตชีวิตให้ แต่เขาต่างหากที่ลิขิตชีวิตของเขาเอง เขามิได้เคร่งในทางจิตนิยม (Idealism) จนเกินไป และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เคร่งในสสารนิยมจนเกินควร (Materialism) เขาพยายามเสมอมาที่จะเชื่อมโยงโลกแห่งความคิดและโลกแห่งการกระทำเข้าหากันด้วยอุดมการณ์อันมั่นคงและการดำเนินงานด้วยความสุขุมรอบคอบ มีการยกระดับอธิศูทรและปรับปรุงสังคมฮินดูเป็นจุดหมายปลายทาง เขาจึงได้เริ่มเข้าพบและทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญทั้งในวงการเมืองและทางสังคม เพื่อหาลู่ทางก้าวไปสู่ความมีชื่อเสียงต่อไป

จุดเปลี่ยนแปลง

ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น ชื่อเสียงของเจ้าชายองค์หนึ่งแห่งโคลัคปูระ (Prince of Kolakpur) ก็ได้ปรากฏขึ้นในวงการนักปฏิรูปสังคม เจ้าชายองค์นี้มีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาเช่นเดียวกับมหาราชาแห่งบาโรด้า พระองค์มีพระประสงค์อย่างแรงกล้าในการที่จะถอนรากถอนโคนแห่งความรังเกียจเดียดฉันท์และการกดขี่กีดกันอันเกิดจากระบบวรรณะ และได้ทรงช่วยให้พวกวรรณะต่ำได้เป็นอิสระพ้นจากการบีบบังคับนานาประการอันปราศจากความยุติธรรม พระองค์ได้ปลุกใจพวกอธิศูทรทุกวิถีทางเท่าที่พระองค์จะทรงทำได้ ทรงให้การศึกษาฟรีแก่พวกอธิศูทร และทรงแต่งตั้งอธิศูทรให้มีโอกาสเข้ารับราชการในสำนักของพระองค์ แม้กระทั่งนายควาญช้างพระองค์ก็ทรงเลือกจากพวกอธิศูทร

ในปี ๒๔๖๒ เอ็มเบ็ดก้าร์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเจ้าชายแห่งโคลัคปูระพระองค์นั้น เพื่อขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับเงินทุนที่จะออกหนังสือพิมพ์สักฉบับหนึ่ง ที่จะคอยทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้แก่พวกอธิศูทร เจ้าชายได้ทรงพระกรุณาให้ความช่วยเหลือแก่เอ็มเบ็ดก้าร์อย่างดียิ่ง โดยพระราชทานกระดาษให้เป็นรายปักษ์ เอ็มเบ็ดก้าร์จึงได้ดำเนินการติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตออกหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เขาต้องต่อสู้อย่างหนักเพราะถูกกลั่นแกล้งต่างๆนาๆ เพื่อขัดขวางไม่ให้เขาออกหนังสือพิมพ์ได้ แต่ในที่สุดเขาก็เอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นได้ หนังสือพิมพ์ของเขาออกมาสู่สายตาชาวโลกได้เป็นฉบับแรกในเดือนมกราคมปี ๒๔๖๓ ภายใต้ชื่อว่า “มุขนายก” ซึ่งแปลว่า “ผู้นำคนใบ้” แต่ตัวเอ็มเบ็ดก้าร์ไม่ได้เป็นบรรณาธิการเองเขาสนับสนุนอยู่เบื้องหลังโดยเป็นคนเขียนบทความ ในฉบับแรกนั้น เอ็มเบ็ดก้าร์ได้เขียนบทความธรรมดาๆ แต่ใช้ภาษาคมคายชวนให้คิด ในตอนหนึ่งเขากล่าวว่า อินเดียเป็นดินแดนแห่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สังคมฮินดูนั้นช่างสูงส่งประดุจหอคอยอันสูงตระหง่าน มีหลายชั้นหลายตอน แต่ไม่มีบันไดหรือช่องทางที่จะเข้าไปสู่หอคอยอันนั้นได้ คนที่อยู่ในหอคอยไม่มีโอกาสจะลงมาได้ และจะติดต่อกับคนในหอคอยเดียวกันในอีกชั้นหนึ่งก็ทำไม่ได้ ใครเกิดในชั้นใดก็ตายในชั้นนั้น เอ็มเบ็ดก้าร์ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับสังคมฮินดูด้วยว่า เป็นสังคมที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน ๓ ชิ้น คือ พวกพราหมณ์,พวกมิใช่พราหมณ์ และพวกอธิศูทร โดยเหน็บแหนมว่า พวกพราหมณ์ที่ทำการสอนศาสนามักจะพูดเสมอว่า พระเจ้ามีอยู่ทุกหนแห่งรวมทั้งในมนุษย์และสัตว์ต่างๆ แต่ทำไมผู้สอนนั่นเองได้ดูถูกเหยียดหยามพวกอธิศูทรว่าเป็นตัวบาป ตัวราค จะถือว่าบุคคลเหล่านี้กำลังเห็นพระเจ้าเป็นตัวราคีได้ไหม?

ในบทความเดียวกันนั้นเขาได้ปลุกใจพวกอธิศูทรทั้งหลายให้ตื่นจากความหลงใหลที่เข้าใจว่าตัวเองถูกพระเจ้าสาปมา พวกเขาจะพ้นจากการถูกสาปได้ด้วยการต่อสู้มิใช่ด้วยการวิงวอน ขอความเมตตา ในบทความอื่นๆของหนังสือพิมพ์มุขนายก เอ็มเบ็ดก้าร์เขียนว่า ยังไม่เป็นการสมควรที่อินเดียจะได้รับเอกราช ถ้าพลเมืองของอินเดียยังไม่อยู่ในสภาพที่มีความเสมอภาคกันทางศาสนา ทางสังคม ทางเศรษฐกิจและทางการเมือง ในทุกๆด้านและทุกๆกลุ่มชน อินเดียจะต้องให้โอกาสแก่ทุกๆคนได้มีโอกาสยกและสร้างฐานะของตนเพื่อความก้าวหน้าและอยู่ดีกินดี ถ้าพวกพราหมณ์จะกล่าวว่าไม่เป็นการยุติธรรมที่อังกฤษไม่ยอมให้เอกราชแก่อินเดีย พวกอธิศูทรก็ได้กล่าวมาไม่น้อยกว่าร้อยครั้งพันครั้งแล้วว่า พวกพราหมณ์ไม่ให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา เอ็มเบ็ดก้าร์กล่าวต่อไปว่า ประชาธิปไตยทางสังคมมีความสำคัญมากกว่าประชาธิปไตยทางการเมือง เพราะถึงแม้อังกฤษจะให้เอกราชแก่อินเดีย แต่ระบบสังคมยังไม่ถูกปฏิรูปให้ดีขึ้นกว่านี้ พวกอธิศูทรก็คงไม่มีสภาพดีขึ้น คือยังคงมีสภาพเป็นทาสอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ตอนนี้เอ็มเบ็ดก้าร์ยังไม่พร้อมที่จะออกโรงต่อสู้กับสังคมฮินดูได้อย่างจริงจัง เพราะคลังแสงของเขายังมีอาวุธไม่เต็มที่ จึงเป็นการเสี่ยงอย่างมากถ้าจะประกาศสงครามอย่างเปิดเผยกับพวกพราหมณ์ เขาจึงคงมีอาชีพเป็นอาจารย์ต่อไป...

บทความที่ ๗๐. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๖

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
กลับมาตุภูมิ

ขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังดำเนินไป ในประเทศอเมริกาได้มีกลุ่มกู้อิสรภาพและมีนโยบายขับไล่อังกฤษของชาวอินเดียอยู่กลุ่มหนึ่ง หัวหน้ากลุ่มกู้อิสรภาพนี้ได้ชักชวนเอ็มเบ็ดก้าร์ให้เข้าร่วมงานกับพวกเขา แต่เอ็มเบ็ดก้าร์ยังไม่พร้อมที่จะกระโดดไปสู่เวทีการเมืองในขณะนั้น เขาได้แต่บอกหัวหน้าคณะกู้อิสรภาพในตอนนั้นว่า เขายังเป็นนักศึกษาอยู่ หน้าที่ของเขาก็คือจะต้องเรียนให้สำเร็จก่อน มิฉะนั้นแล้วจะดูประหนึ่งว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อมหาราชาแห่งบาโรด้าผู้มีพระคุณอันมหาศาลในการให้โอกาสสนับสนุนเขาให้ได้เดินทางมาศึกษาในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้เอง พวกคณะกู้อิสรภาพจึงไม่ได้ตัวเอ็มเบ็ดก้าร์มาร่วมงานกับพวกตน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาเดินทางไปถึงลอนดอนเจ้าหน้าที่ตำรวจลับของอังกฤษสงสัยว่าเขาจะเป็นสมาชิกในกลุ่มนั้นด้วย จึงตรวจค้นเอ็มเบ็ดก้าร์อย่างละเอียด

เมื่อผ่านการตรวจค้นไปได้เขาก็ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนที่สถาบัน เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science) ในขณะเดียวกันเขาก็ส่งจดหมายแจ้งให้มหาราชาฯทราบเพื่อทรงกรุณาอนุญาตและต่อทุนการศึกษาให้แก่เขา ขณะรอคอยคำตอบในเรื่องการขอทุนอยู่นั้น เขาก็ได้ดำเนินการศึกษาของเขาไปเรื่อยๆ และปรากฎว่ามีความก้าวหน้าโดยลำดับ ศาสตราจารย์ได้ให้เขาทำวิทยานิพนธ์ในวิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อปริญญาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.) และขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาวิชากฎหมายควบคู่ไปด้วย แต่แล้วคำตอบจากมหาราชาแห่งบาโรด้าก็มาถึงมืออันสั่นเทาด้วยความเสียใจของเอ็มเบ็ดก้าร์ว่า ทุนการศึกษาของเขาได้สิ้นสุดลงแล้ว ไม่สามารถจะต่อทุนให้อีกได้ และเขาถูกเรียกตัวกลับประเทศอินเดียโดยด่วน

ข่าวนี้ประหนึ่งสายฟ้าฟาดลงกลางหลังของเขา เขาต้องชะงักการเรียนลงด้วยความขมขื่นและเสียดายอย่างยิ่ง แต่จะทำอย่างไรได้เพราะเกิดมาเป็นคนจน การศึกษาต้องฝากชะตาไว้กับผู้อื่นผู้หยิบยื่นหรือลิบโอกาสเสีย เมื่อผู้ให้ทุนมีคำสั่งมาเช่นนั้น เขาจึงไม่มีทางเลือก ต้องยุติการศึกษาแล้วเข้าพบอาจารย์ขออำลาเดินทางกลับประเทศ เอ็มเบ็ดก้าร์เก็บหนังสือที่สะสมเอาไว้จากนิวยอร์กใส่ลังส่งกลับอินเดียโดยผ่าน บริษัท โธมัส คุกแอนด์ซัน โดยไม่คิดว่าจะกลับมายังลอนดอนอีก ส่วนตัวเขาเองเดินทางโดยบริษัท เอส เอส ไกเยอร์ไอฮินด์ ในระยะเวลานั้นการเดินทางผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไม่มีความปลอดภัยเลยเพราะอยู่ช่วงสงครามโลก เรือโดยสารถูกทิ้งระเบิดอยู่บ่อยๆ และก็ปรากฏว่าเรือเดินสมุทรของบริษัทโธมัส คุกแอนด์ซันได้ถูกตอร์ปิโดของข้าศึกจมลงในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ข่าวนี้แพร่สะบัดไปสู่บอมเบย์ทำให้ครอบครัวของเอ็มเบ็ดก้าร์เสียใจเศร้าสลดคิดว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว แต่ในที่สุดก็ได้ทราบความจริงภายหลังว่าเขาเดินทางมาโดยบริษัทเดินเรืออื่น มีเพียงกระเป๋าและหนังสือเท่านั้นที่เสียหายไป

เอ็มเบ็ดก้าร์ได้เดินทางกลับมาถึงมาตุภูมิอย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๖๐ และเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับมหาราชาเขาจึงต้องเดินทางจากบอมเบย์ไปเมืองบาโรด้า แต่เขาประสบปัญหาการเงินไม่มีเงินพอจะซื้อตั๋วรถไฟเดินทางไปเมืองบาโรด้าได้ แต่โชคของเขาก็ยังไม่ทรามเกินไปนัก เพราะบริษัทเดินเรือโธมัส คุกฯ ได้จ่ายเงินชดเชยความเสียหายในสิ่งของสัมภาระของเขา ถึงแม้เขาจะเสียใจที่หนังสือที่มีคุณค่ามหาศาลต่อเขาได้สูญหายไป แต่เขาก็ได้ค่าโดยสารไปบาโรด้าจากการนั้น เขาจัดสรรแบ่งเงินนั้นให้ภรรยาใช้จ่ายในครอบครัวบ้างเล็กน้อยและใช้ซื้อตั๋วรถไฟไปเมืองบาโรด้า เขาและพี่ชายได้เดินทางไปเมืองบาโรด้าในกลางเดือนกันยายน

ทำงานชดใช้ทุน

มหาราชาทรงทราบว่าเอ็มเบ็ดก้าร์จะเดินทางมา จึงส่งคนไปคอยรับที่สถานีรถไฟ แต่ใครจะมีน้ำใจไปรับคนนอกวรรณะอย่างเขา และเมื่อข่าวแพร่สะพัดไปทั่วเมืองว่าคนนอกวรรรณะจะเดินทางมา โรงแรมหรือบ้านพักต่างๆจึงไม่ต้อนรับให้เขาและพี่ชายได้เข้าไปพักเลย ในที่สุดเขาก็แอบเข้าไปขอเช่าห้องแถวแห่งหนึ่งเพื่อพักอาศัยโดยไม่ให้เจ้าของห้องแถวทราบว่าเขาคือใคร

ตามสัญญาที่ทำไว้กับมหาราชา เขาจะต้องทำงานใช้ทุนเป็นเวลา ๑๐ ปีที่เมืองบาโรด้า มหาราชามีพระประสงค์จะแต่งตั้งให้เขาเป็นรัฐมนตรีการคลังในรัฐนั้น โดยทรงดำริว่า เอ็มเบ็ดก้าร์มีประสบการณ์ความรู้มาจากต่างประเทศ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นทหารองค์รักษ์ประจำสำนักพระราชวังบาโรด้า และด้วยชะตากรรมที่เขาเกิดมาเป็นคนนอกวรรณะ เขาถึงถูกดูถูกเหียดหยามจากเพื่อนร่วมงาน แม้กระทั่งคนใช้ในสำนักงานก็รังเกียจเขาและดูถูกเขาเหมือนกับคนเป็นโรคเรื้อน เหล่านักการคนเดินเอกสารในสำนักงานก็พลอยดูถูกและรังเกียจเอ็มเบ็ดก้าร์ไปด้วย เพราะมีความเชื่อว่าเอ็มเบ็ดก้าร์เป็นตัวบาปเป็นตัวเสนียดที่จะแตะต้องไม่ได้เป็นอันขาด เวลานักการจะส่งหนังสือให้เอ็มเบ็ดก้าร์จึงต้องเอาภาชนะอื่นมารองยืนให้ เอ็มเบ็ดก้าร์จะไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่มน้ำในสำนักงานเป็นอันขาด เพราะภาชนะตักน้ำดื่มมีไว้ใช้สำหรับคนวรรณะอื่น ถ้าลูกนอกวรณะอย่างเขาไปแตะต้องก็จะทำให้คนทั้งสำนักงานพลอยได้รับความเป็นเสียดจัญไรไปด้วย

เอ็มเบ็ดก้าร์ได้อดทนอดกลั้นอย่างที่เขาทำมาตลอดตั้งแต่วัยเด็ก ทำงานรับใช้ทุนโดยมิได้คิดย่อท้อ เมื่อมีเวลาเขาจะไปนั่งอยู่ในห้องสมุดประชาชน และบางครั้งเป็นเวลาราชการแต่ไม่มีงานอะไรที่จะทำอยู่บนโต๊ะ ข้าราชการคนอื่นๆจะสนทนากันอย่างสนุกสนานและพักผ่อนไปในตัว แต่เอ็มเบ็ดก้าร์แม้จะมีการศึกษาสูงถึงปริญญาเอก ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมวงสนทนาเพราะการเป็นคนนอกวรรณะ
ไม่มีที่พักอาศัย

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าของห้องแถวพร้อมด้วยคนในวรรณะกลุ่มหนึ่งถืออาวุธ ตรูกันเข้ามาพบเอ็มเบ็ดก้าร์และถามว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน เอ็มเบ็ดก้าร์ตอบอย่างสุภาพว่าเขาเป็นฮินดู มาจากบอมเบย์ พวกนั้นโกรธและตะโกนบอกว่า “เอ็งโกหก พวกข้ารู้ดีว่า เอ็งเป็นคนนอกวรรณะ ก็ด้วยเหตุอันใดเอ็งจึงมาทำให้ห้องพักที่เขามีไว้ให้พวกวรรณะอื่นต้องสกปรกโสมมเล่า” แล้วบังคับให้เขาย้ายออกจากห้องพักโดยทันที ไม่เช่นนั้นก็จะเจ็บตัว เอ็มเบ็ดก้าร์ได้ทำใจดีสู้เสือขอร้องอย่างสุภาพว่า ขอโอกาสให้เข้าได้เตรียมตัวหาที่อยู่ใหม่สัก ๘ ชั่วโมงเถิด แล้วเขาก็ออกไปร้องขอเช่าห้องพัก บ้านเช่าหลายแห่ง แต่ไร้ผล ทั้งๆที่เขาไม่ได้ขออยู่ฟรีๆ เขาจ่ายค่าเช่าเท่ากับคนอื่นๆ แต่พวกเจ้าของห้องเช่าเชื่ออย่างฝังหัวเสียแล้วว่าสิ่งที่คนนอกวรรณะแตะต้องล้วนเป็นของสกปรกอัปรีย์ ถึงเงินก็เป็นเงินไม่ดี ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครที่จะมีน้ำใจให้ที่พักพิงในเมืองแก่เขาได้ เอ็มเบ็ดก้าร์ทำหนังสือร้องทุกข์ถึงมหาราชา พระองค์ได้ส่งเรื่องให้เทวัญ(ตำแหน่งคล้ายราชเลขาธิการ) พิจารณาโดยด่วน แต่เทวัญตอบว่า “เป็นเรื่องสุดวิสัยที่เขาจะช่วยเหลือได้” เขาทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ได้เลย

เอ็มเบ็ดก้าร์ผู้ทั้งหิวกระหาย เขาได้ไปนั่งใต้ร่มไม้และร้องไห้อย่างคับแค้นเศร้าใจในความอาภัพของตนเองที่เกิดมาเป็นลูกนอกวรรณะ ขณะนี้มีเพียงท้องฟ้าเป็นหลังคาพักพิง ผืนแผ่นดินคือพื้นบ้านสำหรับเขา ทั้งๆที่เขาเป็นคนได้รับการศึกษา หากว่าพระเจ้า(ศาสนาฮินดู)มีความเมตตาจริง ทำไมจึงสร้างบุคคลนอกวรรณะอย่างเขาให้เกิดมาต้องระทมทุกข์อันเกิดจากการกระทำของคนอื่นอย่างไร้มนุษยธรรมอย่างนี้

เมื่อเอ็มเบ็ดก้าร์ตกอยู่ในสภาพคนไร้ที่พึ่ง ชีวิตเต็มไปด้วยความขมขื่นและมืดมน เมื่อหาที่พำนักเพื่อทำงานชดใช้ทุนแก่ผู้มีพระคุณของเขาไม่ได้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปเมืองบอมเบย์ เขาคิดไปตลอดทางว่า แม้สัตว์เดรัจฉานพวกฮินดูยังอนุญาตให้อยู่ในใต้ถุนบ้านของพวกเขาได้ ส่วนตัวเขาเองนั้นเป็นคนเหมือนกันแท้ๆ กลับถูกรังเกียจและกีดกันถึงขนาดนี้ ดังนั้นเขาจึงสภาพที่เลวกว่าสัตว์ดิรัจฉานในสายตาของชาวฮินดูผู้นับถือศาสนาเดียวกับเขา จะมีทางหรือไม่หนอที่ความเชื่อถืออย่างนี้จะหมดสิ้นไปจากจิตใจชาวอินเดีย เมือเขากลับถึงบอมเบย์ในกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๐ เอ็มเบ็ดก้าร์ได้พยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะหาที่พำนักในเมืองบาโรด้า เพื่อที่จะได้ทำงานให้ครบตามสัญญา เขาเข้าพบกับนักสังคมสงเคราะห์ท่านหนึ่งชื่อ เคลลัสก้าร์ (Mr.Keluskar) เพื่อให้ช่วยติดต่อหาที่พักในเมืองบาโรด้าให้เขา ท่านผู้นี้ก็ได้ช่วยเหลือจริง โดยติดต่อไปยังศาสตราจารย์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยบาโรด้า ขอร้องให้กรุณารับเอ็มเบ็ดก้าร์ไว้ในชายคาของเขาด้วย โดยเอ็มเบ็ดก้าร์จะจ่ายค่าเช่าให้เป็นรายเดือน ศาสตราจารย์ผู้นี้ตกลงจะรับเขาไว้ให้อาศัยอยู่ด้วย เอ็มเบ็ดก้าร์จึงเดินทางไปบาโรด้าอีกครั้ง

แต่พอไปถึงสถานีรถไฟบาโรด้า เวรกรรมก็ยังไม่สิ้นสุด เขาได้รับแจ้งว่าศาสตราจารย์ผู้นั้นได้เปลี่ยนใจเสียแล้ว ขอร้องเอ็มเบ็ดก้าร์อย่าได้ไปสู่บ้านเขาเลย เหตุผลก็คือภรรยาของเขาเป็นคนหัวเก่า พอได้ทราบว่าสามีจะรับคนนอกวรรณะเข้ามาในชายคาบ้าน เธอก็รู้สึกแทบจะสิ้นสติ เนื้อตัวสั่นเหมือนว่าแสงเทียนต้องลมจะดับลงให้ได้ฉะนั้น เอ็ดเบ็ดก้าร์จึงต้องเดินทางกลับบอมเบย์ เขาได้อำลาดินแดนแห่งผู้มีพระคุณของเขาด้วยความขมขื่นยิ่ง พอกันเสียทีบาโรด้าเมืองที่เขาได้พบแต่สายตาอันเต็มไปด้วยความโหดร้ายและน้ำใจอันเต็มไปด้วยความจงเกลียดจงชัง แต่พระคุณอันล้นเหลือของมหาราชา ยังฝังอยู่ในส่วนลึกแห่งดวงจิตอันเต็มไปด้วยความกตัญญูของลูกนอกวรรณะผู้นี้มิมีวันจะเลือนลางไปได้เลย

เมื่อกลับมาถึงบอมเบย์ได้ไม่นานนัก เขาก็ต้องประสบความเศร้าสลดอีกครั้ง เมื่อแม่เลี้ยงของเขาได้ล้มป่วยลงอย่างหนัก และได้ถึงแก่กรรมในอีกไม่กี่วันต่อมา เอ็มเบ็ดก้าร์ได้จัดงานศพให้เป็นไปตามประเพณีให้ดีที่สุดเท่าที่เขาจะสามารถทำได้ในขณะนั้น

บทที่ ๖๙. การปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ้ดก้าร์ ตอนที่ ๕

เอ็มเบ็ดก้าร์รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
พัฒนาตนเอง
หลังจากได้ทำศพบิดาเรียบร้อยแล้ว เอ็มเบ็ดก้าร์ก็รู้สึกท้อแท้ใจที่จะกลับไปทำงานที่เมืองบาโรด้าอีก เพราะบรรยากาศในเมืองนั้นไม่ทำให้เขาได้รับความสุขใจเลยแม้แต่น้อย และบัดนี้ความกระหายที่จะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมได้กระตุ้นให้เขากระเสือกกระสนหาทุนเรียนในขั้นสูงขึ้นไป และโอกาสทองก็ได้เปิดประตู้ให้แก่เขาอีกครั้งเมื่อมหาราชาแห่งรัฐบาโรด้าผู้ที่เคยเป่าปัดปัญหาทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีให้แก่เขาได้ดำริที่จะคัดเลือกนึกศึกษาอินเดีย ส่งไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียสหรัฐอเมริกา เอ็มเบ็ดก้าร์จึงได้เข้าเฝ้ามหาราชา ณ พระราชวังของพระองค์ที่เมืองบอมเบย์ และได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดของเขาต่อมหาราชา พระองค์ทรงแนะนำให้เขายื่นใบสมัครขอทุนการศึกษาตามที่รัฐบาลของพระองค์ได้ประกาศไว้

เอ็มเบ็ดก้าร์ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำทุกอย่าง ในที่สุด มหาราชาได้ตัดสินพระทัยให้ทุนแก่เอ็มเบ็ดก้าร์และนักศึกษาอื่นอีก ๓ คน เขาถูกเรียกตัวไปยังบาโรด้าในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๔๕๖ เพื่อเซ็นสัญญากับกระทรวงศึกษาธิการแห่งรัฐบาโรด้า โดยมีข้อตกลงว่าเขาจะเรียนวิชาตามที่กระทรวงกำหนดให้เรียน และหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว เขาจะต้องกลับมาทำงานให้รัฐบาลแห่งรัฐบาโรด้าเป็นเวลา ๑๐ ปี

นับว่าเป็นโชควาสนาของลูกนอกวรรณะอย่างเอ็มเบ็ดก้าร์ ลูกอธิศูทรที่ถูกประณาม ถูกรังเกียจว่าเป็นราคีต่อผู้คบหาสมาคม เขาได้มีโอกาสที่จะไปศึกษาแสวงหาวิชาความรู้ในดินแดนที่ทั่วโลกยอมรับว่ามีความเจริญในทุกสาขาวิชาการ นับเป็นยุคใหม่และเหตุการณ์ใหม่สำหรับชาวอินเดียอีกด้วยที่ยอมเปิดโอกาสให้แก่ชาวอธิศูทร กล่าวกันว่า นักการเมืองชั้นนำของอินเดียในสมัยเดียวกับเอ็มเบ็ดก้าร์ ก็มีแต่เอ็มเบ็ดก้าร์เท่านั้นที่สำเร็จการศึกษาจากดินแดนของลินคอล์นผู้เกลียดความเป็นทาสและรักเสรีภาพเหนือชีวิตจิตใจ

เอ็มเบ็ดก้าร์เดินทางไปถึงเมืองนิวยอร์กในสัปดาห์ที่สามของเดือนกรกฎาคม ๒๔๕๖ อาทิตย์แรกเขาพักที่ Hartley Hall อันเป็นห้องโถงของมหาวิทยาลัย แต่ปัญหาสามัญของนักเรียนต่างประเทศก็คือไม่ชินกับอาหารฝรั่ง เขาจึงย้ายไปอยู่ที่ที่มีนักเรียนอินเดียอยู่ ณ ที่นั้นเขาได้พบกับเพื่อนชาวอินเดียด้วยกันปาซี (ปาซี : คนอินเดียชนกลุ่มน้อย ผิวขาว รูปร่างสูงใหญ่คล้ายชาวยุโรปที่นับถือศาสนาปาซี หรือศาสนาโซโรอัสเตอร์) ชื่อ นาวัล ภาเทวนา ผู้ซึ่งได้มีส่วนช่วยเหลือการสร้างฐานะและชื่อเสียงของเอ็มเบ็ดก้าร์อย่างมากในโอกาสต่อมา

ชีวิตในอเมริกาเป็นประสบการณ์ใหม่ เป็นโลกอีกโลกหนึ่งผิดจากที่เอ็มเบ็ดก้าร์ได้รับมาจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน บัดนี้เขามีอิสระเสรีทัดเทียมกับเพื่อนนักศึกษาทั่วไป สามารถจะหาหนังสืออ่านได้ทุกชนิดเท่าที่ต้องการ สามารถพักผ่อนหาความเพลิดเพลินได้จากการเดินเล่นในสถานที่ต่างๆ การอาบน้ำ ดื่มน้ำก็ไม่ถูกกีดกัน เขามีสิทธิในการนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับนักศึกษาอื่นๆ แม้แต่กับนักศึกษาชาวอินเดียด้วยกันที่เรียกตัวเองว่าเป็นลูกพราหมณ์ เป็นคนวรรณะสูง บัดนี้ความคิดใหม่ๆกำลังไหลมาสู่สมองของเขา


เอ็มเบ็ดก้าร์ได้ตั้งคำถามแก่ตัวเองว่า ทำไมพวกพราหมณ์ในอินเดียจึงประณามพวกอธิศูทรเหมือนกับไม่ใช่มนุษย์ ไม่กล้าคบค้าสมาคมด้วย กลัวจะเกิดราคีต่อชีวิต แต่พวกพราหมณ์ที่อเมริกากลับกล้านั่งร่วมโต๊ะ เรียนร่วมชั้น นอนร่วมห้องกับลูกนอกวรรณะอย่างเขา ลูกพราหมณ์เหล่านั้นไม่กลัวความมัวหมองจะเกิดขึ้นแก่พวกเขาหรอกหรือ เอ็มเบ็ดก้าร์มั่นใจและเชื่อมั่นว่า ระบบสังคมในอินเดียคือระบบทาส ระบบนี้จะต้องหมดไปได้ก็ด้วยการช่วยเหลือตัวเองของพวกอธิศูทร เท่านั้น มิใช่ด้วยการกราบไหว้วิงวอนต่อเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่บรรพบุรุษได้เคยเชื่อถือและปฏิบัติกันมาหลายชั่วคนแล้ว เครื่องมือหรือปัจจัยที่จะช่วยปลดแอกให้พวกอธิศูทรปรับปรุงตัวเองได้ ก็โดยการให้การศึกษาทัดเทียมกับคนในวรรณะอื่นๆทั้งหญิงและชาย เพราะการศึกษาทำคนให้รู้ทันต่อเหตุการณ์และรู้จักความเป็นจริงของธรรมชาติและสังคม

ขณะที่เอ็มเบ็ดก้าร์กำลังสร้างวิมานในอากาศในการที่จะยกระดับและขจัดความเป็นทาสของอธิศูทรนั้น เขาก็มิได้หลงลืมความเป็นนักศึกษาของตน ชีวิตและสิ่งแวดล้อมใหม่ในมหานครนิวยอร์กมิได้ทำให้ลูกวรรณะอย่างเขาลืมตัวแม้แต่น้อย เขาได้มุ่งหน้าศึกษาอย่างหนักไม่มีเวลาจะไปเดินเที่ยวเตร่เหมือนลูกผู้ดีมีเงินทั้งหลาย ความคิดที่จะไปดูหนังดูละครหรือเที่ยวไนท์คลับมิได้ผ่านเข้ามาในสมองของเขาเลย เขาดำรงชีวิตอย่างประหยัดเพื่อจะให้เหลือเงินสำหรับซื้อหนังสือที่เขาชอบและเห็นว่าเป็นประโยชน์ เขารู้ตัวว่าโอกาสอย่างนี้จะหาไม่ได้ง่ายสำหรับคนจนๆอย่างเขา จุดมุ่งหมายในการศึกษาของเขามิใช่เพื่อให้ได้รับใบปริญญาเท่านั้น แต่จะต้องให้เป็นผู้มีความรู้ดีในวิชานั้นๆด้วย เข้าทำนองที่ว่า “เรียนอะไรก็เรียนให้รู้เป็นครูเขา”

บัดนี้เอ็มเบ็ดก้าร์เลือกเรียนวิชารัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์โดยมีวิชาสังคมวิทยาเป็นวิชาประกอบ ศาสตราจารย์ คนหนึ่งชื่อ เอ็ดวิน (Edwin Selignan R.A.) เป็นคนที่เขาเลื่อมใสในบุคลิกและวิธีการสอนอย่างมาก เขาจะติดตามและขออนุญาตพิเศษเข้าฟังคำบรรยายของศาสตราจารย์ผู้นี้เสมอ เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการศึกษา เขาจะไปขอความช่วยเหลือและขอคำแนะนำและไม่เคยได้รับความผิดหวังเลย

เอ็มเบ็ดก้าร์ทำงานหนักเสมอต้นเสมอปลาย อ่านหนังสือไม่น้อยกว่าวันละ ๑๘ ชั่วโมง ขุดค้นอย่างไม่ยอมเหน็ดเหนื่อย สองปีให้หลังนับแต่เหยียบเท้าลงบนแผ่นดินแห่งเสรีภาพ เขาก็ได้รับความสำเร็จมาไว้ในกำมือพร้อมด้วยความปีติยินดี เขาได้รับปริญญาโท โดยวิทยานิพนธ์ชื่อ “การพาณิชย์ของอินเดีย สมัยโบราณ” (Ancient Indian Commerce) ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ซึ่งนับว่าเป็นบันไดขั้นแรกแห่งความสำเร็จและนับว่าเป็นขั้นสำคัญมาก ความสำเร็จขั้นที่สองก็มาสู่มือเขาในเวลาไม่นาน เพราะเขาได้ทำวิทยานิพนธ์อีกเรื่องหนึ่งชื่อว่า “เงินปันผลแห่งชาติอินเดีย” (National Dividend of India) หลังจากได้ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจเข้าต่อสู้เพื่องานค้นคว้าในที่สุดวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ก็สำเร็จ และมหาวิทยาลัยโคลัมเบียยอมรับในสัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายน ๒๔๕๙ (ซึ่งในอีก ๘ ปีให้หลัง บริษัท พี เอส คิง แอนด์ซัน ในลอนดอน ได้ตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ฉบับนี้อีก โดยให้ชื่อว่า “การวิวัฒนาการการคลังส่วนจังหวัดในอินเดียของอังกฤษ”(The Evolution of Provincial Finance in British India)) ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้ให้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตแก่เอ็มเบ็ดก้าร์ หนังสือเล่มนี้เมื่อถูกตีพิมพ์แล้วก็ได้กลายเป็นตำราอ้างอิงและเป็นคู่มือสำคัญของสมาชิกสภานิติบัญญัติของอินเดียและเป็นคู่มือสำคัญของสมาชิกสภานิติบัญญัติของอินเดีย สมัยอังกฤษยังมีอำนาจอยู่ ซึ่งมักจะนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงเวลาพิจารณางบประมาณประจำปีเสมอๆ

เมื่อมีเวลาว่างเอ็มเบ็ดการ์จะพักผ่อนด้วยการเดินหาซื้อหนังสือเก่า เพราะหนังสือเก่าราคาถูก แต่เนื้อหาสาระไม่ผิดจากหนังสือใหม่ ในนิวยอร์กเขาได้เงินซื้อหนังสือวิชาต่างๆประมาณ ๒,๐๐๐ เล่ม และได้ขอร้องเพื่อนที่จะกลับอินเดียให้ช่วยนำหนังสือจำนวนนี้กลับอินเดียให้ด้วย แต่ตอนหลังได้ทราบว่า หนังสือบางส่วนได้สูญหายไป

สิ่งที่เขาได้รับความประทับใจขณะอยู่ในอเมริกาที่สุดมีอยู่ ๒ ประการ คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญของอเมริกา โดยเฉพาะที่แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกาศรับร้องสิทธิของพวกนิโกร ประการที่สองคือ ชีวิตของบุคเก้อ ที.วอชิงตัน (Booker T. Washington) ผู้เป็นนักปฏิรูปและนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ของพวกนิโกรในอเมริกา ท่านผู้นี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้พัฒนาชาวนิโกรให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงทั้งในทางร่างกายและจิตใจ

หลังจากได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียแล้ว เอ็มเบ็ดก้าร์ก็ได้มุ่งความสนใจไปยังลอนดอน อันเป็นศูนย์กลางการศึกษาอันยิ่งใหญ่ของโลกอีกแห่งหนึ่ง เขาออกจากอเมริกาในเดือนมิถุนายน ๒๔๕๙ ซึ่งไม่กี่วันก็มาถึงกรุงลอนดอนเมืองอันเรืองนามของโลก...

บทความที่ ๖๘. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๔

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
มหาวิทยาลัย
เมื่อพิมเรียนจบมัธยมแล้ว บิดาของเขาได้คำนึงถึงประเพณีของฮินดูที่จะต้องจัดการแต่งงานให้ลูกเสียแต่เนิ่นๆ ซึ่งตอนนั้นมีบิดามารดาของสาวๆหลายคนมาติดต่อรามจิเพื่อสู่ขอพิมให้แก่ลูกสาวของตน รามจิได้พิจารณาคนแล้วคนเล่า ในที่สุดก็รับเอาหญิงสาวที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุดมาเป็นเจ้าสาวของพิม เจ้าสาวของพิมชื่อว่า รามาไบ เป็นลูกสาวของกุลีหาบหามคนหนึ่งซึ่งเป็นอธิศูทรเช่นกัน เธอเป็นหญิงสาวที่สุภาพอ่อนโยน ถึงจะจนแต่ก็จนแต่วัตถุอันเป็นสมบัติภายนอก ตอนเข้าสู่พิธีแต่งงานนั้น รามาไบอายุเพียง ๙ ขวบ ส่วนพิม เอ็มเบ็ดก้าร์อายุได้ ๑๗ ปี สถานที่ประกอบพิธีแต่งงาน ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงใจใช้ตลาดสด เป็นที่ประกอบพิธี ที่ตกลงหาเอาสถานที่เช่นนี้เพื่อประกอบพิธีก็เพราะความจน ไม่สามารถจะหาสถานที่ได้ดีกว่านี้ ในตลาดสดนั้นเป็นที่กว้าง ตอนกลางวันจะพลุกพล่านจอแจ แต่ตอนกลางคืนจะเงียบปราศจากผู้คน พอเวลาประมาณทุ่มกว่าๆ พ่อค้าแม่ค้าจะกลับกันไปหมด พิธีมงคลสมรสของพิมและรามาไบก็เข้าสวมรอยทันที เจ้าสาวและญาติๆได้ยึดมุมหนึ่ง ฝ่ายเจ้าบ่าวก็ยึดได้อีกมุมหนึ่ง ส่วนแขกที่มาในพิธีก็ต้องยืนอยู่ในน้ำครำที่สกปรกอันเกิดจากผักและปลาเน่า แขกบางคนต้องแบกเอาก้อนอิฐมาเหยียบเพื่อให้เท้าพ้นจากน้ำครำ พิธีดำเนินไปอย่างถูกต้องตามประเพณีนิยม และยุติลงด้วยความเรียบร้อยทุกประการ

หลังจากแต่งงานเรียบร้อยแล้ว พิมก็ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยบอมเบย์ด้วยการสนับสนุนของบิดาใจเพชรของเขา นับว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับคนอธิศูทรมาก ที่คนในกลุ่มชนนี้ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย สำหรับพิมแล้วเขาถือว่านี่เป็นโอกาสทองและเขาจะไม่มีวันให้มันผ่านไปโดยเสียเปล่าเป็นอันขาด พิมจึงตั้งใจเรียนอย่างหนักเช่นเคย แต่ชะตาก็โหดร้ายกับเขาบ้างในช่วงแรกของการเรียนเขาล้มป่วยลงและค่อนข้างหนัก จึงทำให้เขาสอบตกในปีแรก แต่เขาก็ไม่ท้อแท้ใจ เพราะรู้ว่าการสอบตกในปีแรกนี้มิใช่เพราะเขาไม่มีความสามารถในการเรียน แต่เนื่องจากการล้มป่วยทำให้เขาไม่ค่อยได้เรียนอย่างจริงจัง

ในปีถัดมาเขาใช้ความพยายามอีกและผลสำเร็จก็เป็นของเขา พอขึ้นเรียนชั้นปีสองฐานะครอบครัวของพิมก็ทรุดลง อาชีพกรรมกรของรามจิตกต่ำลง รายได้บางวันเกือบจะไม่พอค่าอาหารในครอบครัว ทำให้กระทบถึงการศึกษาของพิมอย่างมาก รามจิได้พยายามบากบั่นวิ่งเต้นติดต่อขอความช่วยเหลือจากองค์การ ขบวนการทางสังคมหลายต่อหลายแห่งเพื่อขอทุนการศึกษาให้แก่พิม

ประจวบกับในช่วงเวลานั้นขบวนการปฏิรูปสังคมของอินเดียที่จัดเป็นรูปสมาคมบ้าง ศูนย์บ้าง กลุ่มบ้าง ต่างก็กำลังตื่นตัว จึงมีนักสังคมสงเคราะห์หลายคนคิดช่วยเหลือรามจิวิ่งเต้น ครั้นแล้วนักสังคมสงเคราะห์คนหนึ่งได้พาพิมเข้าเฝ้ามหาราชาแห่งเมืองบาโรด้า (Maha Raja of Baroda) มหาราชาพระองค์นี้มีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระองค์มีพระประสงค์จะหาทางยกระดับฐานะทางสังคมและการเป็นอยู่ของพวกอธิศูทร พระองค์พยายามเปิดโอกาสให้พวกอธิศูทรได้รับการศึกษาทัดเทียมกับคนในวรรณะอื่น ทรงเห็นว่า การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องแรกแห่งการพัฒนาทั้งมวล การศึกษาเข้าถึงชนกลุ่มใดแล้ว การพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ก็จะพลอยง่ายไปด้วย

พระดำริของมหาราชาพระองค์นี้นับว่าน่าสรรเสริญยิ่งนัก พอพิมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเช่นนั้น ทำให้พระองค์ได้ทรงเห็นบุคคลิกของพิมด้วยพระองค์เอง แล้วจึงทรงพระราชทานทุนการศึกษาแก่พิม โดยจ่ายให้เป็นเดือนๆละ ๒๕ รูปี ทำให้อุปสรรคของพิมหมดลงไปอย่างสิ้นเชิง

มหาวิทยาลัยคือโรงงานอุตสาหกรรมหนักที่ทำหน้าที่ผลิตมันสมองให้แก่ชาติ บุคคลที่ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยจะต้องฝึกฝนอบรมตนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ด้วยสติปัญญา จะต้องเป็นคนใจกว้าง ยินดีรับฟัง และรับทราบสิ่งต่างๆด้วยเหตุและผล และจะต้องมีใจสูงพอ ณ มหาวิทยาลัยบอมเบย์นั้น มีอาจารย์หลายคนสงสารพิมและได้ให้ความช่วยเหลือแก่เขา โดยให้ยืมตำราบ้าง ให้เสื้อผ้าบ้าง พิมน้อมรับความช่วยเหลือเหล่านั้นด้วยความรู้สึกกตัญญูอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ยังมีอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่รังเกียจและไม่เคยสนใจการศึกษาของพิมเลย และความรู้สึกเหล่านั้นก็กระจายไปสู่เหล่านักศึกษาและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยด้วย

อยู่มาวันหนึ่ง ฉากอันน่าอดสูก็เกิดขึ้นแก่พิมอีก นั่นคือ คนขายเครื่องดื่มในร้านของมหาวิทยาลัยไม่ยอมขายเครื่องดืมให้แก่พิม และไม่ยอมอนุญาตให้พิมเข้าไปนั่งในร้านอีกด้วย แต่ก่อนนั้นเขาก็เคยปฏิบัติต่อพิมเหมือนปฏิบัติต่อนักศึกษาคนอื่นๆ เพราะยังไม่รู้ว่าพิมเป็นอธิศูทร พิมเคยเข้าไปนั่งในร้าน เคยแตะต้องโต๊ะเก้าอี้ และเคยซื้อเครื่องดื่มอยู่เป็นประจำ พอคนขายคนนั้นรู้ว่าพิมเป็นอธิศูทรเท่านั้น ก็ไม่ยอมอนุญาตให้พิมเข้าไปในร้านเขาอีกเป็นอันขาด เหตุไฉนชายคนนั้นจึงไม่คิดบ้างว่า ถ้าความอัปรีย์จัญไรจะเกิดขึ้นเพราะความเป็นอธิศูทรของพิมแล้ว มันก็น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ ๒ ปีมาแล้ว คือตอนที่พิมเข้าไปในร้านตอนแรกๆ นับแต่นั้นมาพิมจึงไม่มีโอกาสจะซื้ออะไรดื่มในบริเวณมหาวิทยาลัยได้ สิ่งเหล่านี้ได้บันทึกลงในความทรงจำอันลึกของพิมครั้งแล้วครั้งเล่า

พิมระลึกอยู่เสมอว่า ความรุ่งโรจน์ในอนาคต มิได้ขึ้นอยู่กับการบวงสรวงไหว้วอนเทพเจ้า แต่ขึ้นอยู่ที่การกระทำ ชีวิตของเขาจะสมหวัง จุดมุ่งหมายของเขาในการช่วยเหลือตนเองและเพื่อนร่วมวรรณะจะสำเร็จลงได้ด้วยการศึกษา ดังนั้นพิมจึงมิได้เรียนเพียงเพื่อให้สอบผ่านได้อย่างเดียว แต่เพื่อความรู้อันลึกซึ้งและกว้างขวางอีกด้วย เพื่อจะได้เป็นปัจจัยในการศึกษาขั้นสูงต่อไป และในที่สุดในปี ๒๔๕๕ พิมก็สอบผ่านและได้รับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ จากเด็กชายพิมที่มอซอมาเป็น พิม เอ็มเบ็ดก้าร์ที่มีปริญญาตรี (B.A.) พ่วงท้ายแล้ว

ในช่วงเวลานั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวอินเดียถูกจำกัดโดยรัฐบาลอินเดีย ก็เหมือนในประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น การพูด การเขียน ถูกจำกัดขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์ ความรู้สึกทางชาตินิยมและความต้องการให้ได้มาซึ่งเอกราชจึงได้เริ่มขึ้น ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญที่ได้ฉายาว่าเป็นผู้เปิดฉากการรณรงค์เพื่อเอกราชของอินเดีย คือ โลกมายา ติลัก ได้นำขบวนการต่อต้านอังกฤษ จึงมีผู้ถูกเจ้าหน้าที่อังกฤษปราบปรามอย่างรุนแรง บางคนถูกจับติดคุก บางคนถูกประหารชีวิต บางคนก็เสียชีวิตในคุก ข่าวเช่นนี้แพร่สะบัดทั้งในหนังสือพิมพ์และวงสนทนาทั่วไป ทำให้ พิม เอ็มเบ็ดก้าร์ รู้สึกสงสารชาวอินเดียผู้รักชาติทั้งหลายเหล่านั้น และแล้วเลือดแห่งความรักชาติได้หมุนเวียนไปทั่วร่างกาย บัดนี้สิ่งที่ก้องอยู่ในโสตประสาทแห่งเป็นภาพชัดเจนในความทรงก็คือ “การทำลายล้างระบบวรรณะและการได้มาซึ่งเอกราชของชาติ”

สูญเสียครั้งใหญ่

หลังจากสำเร็จปริญญาตรีแล้ว พิม เอ็มเบ็ดก้าร์ ได้เดินทางไปรับราชการทหารที่เมืองบาโรด้า ซึ่งอยู่ในรัฐของผู้มีพระคุณของเขา พิมได้รับยศเป็นร้อยโทในกองทัพบกของอินเดียแห่งรัฐบาโรด้า เจ้าหน้าที่ร่วมงานส่วนมากยังเป็นพวกหัวเก่าเคร่งในประเพณี พิม เอ็ดเบ็ดก้าร์จึงได้รับความอึดอัดใจเกี่ยวกับการเป็นอธิศูทรของเขาต่อไป พอเขาทำงานได้เพียง ๑๕ วัน ก็ได้รับโทรเลขด่วนจากครอบครัวที่บอมเบย แจ้งว่าบิดาของเขาป่วยหนัก พิมจึงเตรียมตัวออกจากบาโรด้าทันทีเพื่อไปดูแลรักษาบิดา แต่เขามัวแต่จะหาซื้อของติดมือกลับไปให้บิดา จึงพลาดรถไฟในวันนั้นทำให้เสียเวลาไป ๑ วัน

พิมมาถึงบอมเบย์ก็พบว่าอาการของรามจิบิดากำลังทรุดหนัก เขาเข้าไปยืนใกล้เตียงของพ่อ เผ้าดูด้วยความรักและบูชา รามจิลืมตาขึ้นเห็นบุตรชายอันเป็นที่รักของเขา ผู้ที่เขาเพ้อฝันจะเห็นอนาคตอันแจ่มใสและตั้งใจจะฝากความหวังเอาไว้มายืนอยู่ใกล้ๆ จึงเรียกให้มานั่งแล้วลูบหลังด้วยความเมตตา แต่ไม่มีสำเนียงใดๆหลุดจากปากของรามจิ มือที่ลูบหลังนั้นก็เบาลงและช้าลงๆ ในที่สุดก็ไม่มีการเคลื่อนไหว ตาของเขาปิดสนิท อันว่าความตายก็เป็นเช่นนี้กับทุกชีวิตไป ไม่เคยต่อรองหรือปรานีให้แก่ใคร การสูญเสียอันยิ่งใหญ่ในชีวิตได้บังเกิดขึ้นแก่เอ็ดเบ็ดก้าร์อีกครั้งนับแต่มารดาจากไป ความเศร้าโศกได้ท่วมทับเขา รามจิบิดาของเขาได้จากได้โลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์และหาความยุติธรรมไม่ได้ เขาจากไปโดยไม่เหลือสมบัติอันใดไว้เลย ทิ้งไว้แตจิตวิญญาณอุดมการณ์แห่งการต่อสู้และน้ำใจอันเด็ดเดี่ยวให้เป็นมรดกแก่ลูกๆสืบไป...

Friday, February 23, 2007

บทความที่ ๖๗. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๓

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
เข้าสู่วัยหนุ่ม
การดำรงชีพอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศโดย เฉพาะอาชีพที่ต่ำต้อยหาเช้ากินค่ำจึงเป็นเรื่องที่ลำบากขึ้นทุกที รามจิจึงคิดที่จะหาทางขยับขยายไปทำงานในเมืองใหญ่ รามจิเห็นว่าการที่เขาจะยังรับจ้างเป็นกรรมกรอยู่ในตำบลเล็กๆอย่างนั้น เขาก็คงจะไม่สามารถช่วยการศึกษาลูกได้เลย จึงคิดจะติดตามลูกสาวเขาไปอยู่ในเมืองบอมเบย์โดยหวังใจว่าในเมืองใหญ่งานกรรมกรคงจะมีมาก รามจิไม่เคยกลัวงานไม่ว่างานใดขอแต่เพียงให้เป็นงานที่บริสุทธิ์ ถึงจะหนักหนาเพียงใดก็ยินดีสู้ สิ่งที่เขากลัวคือไม่มีงาน และในช่วงนี้พิมก็กำลังเรียนและนับวันจะโตเป็นหนุ่มขึ้นทุกวัน การศึกษาของเขากำลังก้าวหน้าได้รับคำชมเชยจากผู้ปรารถนาดีทุกคน ถ้าเรียนจบมัธยมแล้วหากอยังอยู่ในชนบทเล็กๆก็จะมีปัญหาเรื่องสถานที่เรียนต่อ เหล่านี้เป็นเหตุสนับสนุนให้รามจิตัดสินใจย้ายถิ่นฐานเข้าอยู่ในบอมเบย์

ในเมืองใหญ่ ย่อมเป็นสวรรค์ของคนร่ำรวยผู้มีเงินทองจับจ่ายใช้สอยวัตถุมาสนองความต้องการแห่งตน แต่สำหรับคนยากจน จะหาความโอบอ้อมอารี ความเห็นอกเห็นใจจากคนในเมืองใหญ่นั้นแสนยาก เมื่อความเจริญทางวัตถุมีมากขึ้นเพียงใด ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ก็มากขึ้นเท่านั้น สำหรับรามจิเมื่อย้ายเข้าเมืองใหญ่มาได้ไม่กี่วัน เขาก็ไปปลูกกระท่อมเล็กๆอยู่ชานเมือง สถานที่นั้นเป็นแหล่งที่อยู่ของพวกกรรมกร คนไร้การศึกษา เป็นสลัมและสกปรก แต่เขาก็พอใจที่ยังมีโอกาสได้ปลูกกระท่อมอยู่อาศัย พอได้ที่อยู่อาศัยและได้งานทำแล้ว สิ่งที่รามจิห่วงมากก็คือการศึกษาของลูกๆโดยเฉพาะพิม รามจิจึงนำลูกไปฝากเข้าเรียนที่โรงเรียนมีชื่อแห่งหนึ่งชื่อว่า “มาระธา ไฮสกูล” (Maratha High School) เนื่องจากพิมได้รับการเอาใจใส่จากบิดาเกี่ยวกับการเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักภาษามาระธีและภาษาอังกฤษดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น แม้มาอยู่ในโรงเรียนนี้พิมก็ยังคงสอบได้เป็นที่หนึ่งในวิชานี้อีก

นักปราชญัทั้งหลายต่างก็ยอมรับกันว่า การอ่านหนังสือทำให้คนเป็นคนสมบูรณ์ การอ่านทำให้เกิดปัญญาและซาบซึ้งในหลักวิชาการต่างๆ นักปราชญ์ของโลกทุกคนจะต้องเป็นคนมีนิสัยรักการอ่าน พิมก็มีนิสัยรักการอ่านหนังสือมาแต่เด็กๆ เมื่อได้เข้ามาอยู่ในบอมเบย์แล้ว พิมพยายามหาหนังสือเก่าๆที่วางขายอยู่ตามข้างถนนราคาถูกๆมาอ่าน พิมอ่านหนังสือทุกชนิด หนังสือเล่มใดที่ตามที่เขาได้จับอ่าน เขาจะต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นให้จบ เขาเชื่อว่า หนังสือเป็นมิตรที่ดีและซื่อสัตย์ ไม่เคยคิดทรยศต่อผู้อ่านเลยสักรายเดียว (แต่หนังสือที่ว่านั้นจะต้องเป็นหนังสือที่มุ่งให้สัจจะข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน หาใช่หนังสือขยะที่มอมเมา หลอกลวงผู้อ่านให้จมวังวนกับความเท็จ การเอาเปรียบทางชนชั้น-แด่บรรพชนฯ)

ในตอนนี้พิมจึงกลายเป็นหนอนหนังสือไปแล้ว แต่ปัญหามีว่าฐานะจนๆอย่างพิมนั้น ไม่ใช่จะเป็นเรื่องง่ายเลยที่จะหาเงินมาซื้อหนังสืออ่านแต่ละเล่มได้ หนังสือบางเล่มบางวิชาก็อ่านไม่ได้เพราะอธิศูทรไม่ได้รับอนุญาตให้แตะต้องหนังสือที่สงวนไว้สำหรับพวกวรรณะพราหมณ์ แม้จะเข้าไปห้องสมุดก็ทำไม่ได้ เพราะอธิศูทรอย่างพิมผู้รักษาห้องสมุดหรือบรรณารักษ์จะไม่อนุญาตให้เข้าไปเป็นอันขาด จามจิผู้เป็นบิดาต้องกัดฟันต่อสู้ ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเพื่อให้มีรายได้พอเป็นค่าอาหารแต่ละวันและยังต้องแบ่งมาซื้อหนังสือให้ลูกได้อ่าน บางทีรามจิต้องอดอาหารยอมเก็บเงินเพื่อเป็นค่าหนังสือให้ลูก บางเดือนทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะเจ็บป่วยหรือดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจจึงไม่สามารถจะหาเงินมาเจียดไว้ซื้อหนังสือ เขาก็ตัดใจนำทรัพย์สินที่มีอยู่เล็กๆน้อยๆไปจำนำมาซื้อหน้งสือ เขามีความปรารถนาและเพ้อฝันอย่างแรงกล้าที่จะเห็นความก้าวหน้าในการศึกษาของลูก

บรรยายกาศของโรงเรียนมาระธาไฮสกูล ก็เหมือนกับโรงเรียนบ้านนอกที่พิมเคยประสบมา ตอนแรกๆไม่มีใครรู้ว่าพิมเป็นอธิศูทร เพราะเขาได้ใช้นามสกุลเอ็มเบ็ดก้าร์แล้ว จึงไม่มีใครรังเกียจ พอต่อมามีคนรู้ว่า พิม เอ็มเบ็ดก้าร์ นั้นแท้ที่จริงก็คือ พิม สักปาล อธิศูทรที่คนในวรรณะอื่นพากันขยะแขยงที่สุด ถึงแม้พิมจะเรียนหนังสือเก่ง พวกครูทั้งหลายก็ไม่ต้องการที่จะสอนและให้ความสนับสนุนแก่พิม เขาต้องกัดฟันอดทนต่อสู้กับบรรยากาศอันน่าเศร้าของโรงเรียนต่อไปด้วยน้ำใจอันทรหด

รามจิคิดว่า ถ้าหากเขาจะพาลูกไปสมัครเข้าโรงเรียนรัฐบาลคงจะทำให้บรรยากาศของโรงเรียนดีขึ้น จึงตัดสินใจพาพิมไปฝากเข้าที่โรงเรียนรัฐบาลที่มีชื่อแห่งหนึ่ง ชื่อว่าโรงเรียน เอลฟินสตั้น ไฮสกูล (Elphinston High School ปัจจุบันเป็นวิทยาเขตที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่ง ของมหาวิทยาบอมเบย์ และที่หน้าวิทยาเขตแห่งนี้ มีอนุสาวรีย์ของเอ็มเบ็ดก้าร์ยืนอยู่อย่างสง่างาม

ถึงแม้ว่าโรงเรียนแห่งนี้จะเป็นโรงเรียนรัฐบาลก็ตาม บรรยากาศของโรงเรียนทั้งครูและนักเรียนก็ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบวรรณะอยู่นั่นเอง ความรังเกียจความดูถูกต่างๆ ที่พิมเคยได้รับจากโรงเรียนอื่นๆ ก็ยังคงได้รับในโรงเรียนนี้อยู่เหมือนกัน วันหนึ่ง ภาพที่สร้างความรันทดให้แก่พิมก็เกิดขึ้น สาเหตุก็มาจากความเป็นอธิศูทรของเขานั่นเอง ในวันนั้นครูประจำชั้นได้เรียกให้พิมไปยืนหน้าชั้นเพื่อทำแบบฝึกหัดบนกระดานดำให้นักเรียนคนอื่นๆดู ทันใดก็เกิดเสียงอึกทึกครึกโครมดังลั่นขึ้นในห้องเรียน เพราะเด็กนักเรียนฮินดูในวรรณะอื่นได้พากันเอาปิ่นโตหรือกล่องอาหารเก็บไว้หลังกระดานดำเป็นประจำ และเมื่อครูเรียกให้พิมออกไปเขียนที่กระดานดำ นักเรียนเหล่านั้นจึงพากันลุกฮือและวิ่งไปที่กระดานดำ เพื่อเอาปิ่นโตหรือกล่องอาหารของตนออกไป ทำให้ชั้นเรียนวุ่นวายไปหมด ภาพนั้นทำให้พิมน้อยใจในความอาภัพที่เกิดมาเป็นลูกอธิศูทร นอกจากเพื่อนนักเรียนจะไม่เป็นมิตรกับพิมแล้ว ครูบางคนก็พยายามพูดจาเป็นทำนองให้พิมเกิดความท้อแท้ใจ เพื่อจะได้ลาออกไปเสีย

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้พิมผิดหวังมากก็คือ เมื่อเขาถูกตัดสิทธิที่จะเรียนภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่สอง ซึ่งภาษานี้จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขตู้คัมภีร์พระเวท แต่กลายเป็นภาษาที่ห้ามอ่านหน้าเขียน ห้ามฟังสำหรับอธิศูทรอย่างเคร่งครัด ทั้งๆที่คัมภีร์พระเวทเป็นคัมภีร์อันสำคัญของศาสนาฮินดู แต่เหตุไฉนผู้สอนศาสนาของฮินดูจึงห้ามศาสนิกของตนเองเรียนรู้คำสอนของศาสนา (เรื่องนี้ควรจะนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาในแง่ที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง คำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแพร่หลายไปยังคนทุกชั้นวรรณะ เคยมีผู้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงตรัสแสดงธรรมเป็นภาษาที่ใช้ในหมู่สังคมของคนวรรณะสูงเท่านั้น แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอม เพราะพระธรรมย่อมต้องเป็นประโยชน์แก่สัตว์ ทั้งหลายโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ แล้วแต่ปัญญาและการสะสมของบุคคลนั้นๆว่าสามารถเข้าใจพระธรรมได้มากน้อยเพียงใด และในประเทศไทยทุกวันนี้การศึกษาภาษาบาลีเป็นเรื่องเปิดเผย ชักชวนให้มีการศึกษาภาษาบาลีให้มากเพื่อรักษาพระไตรปิฎกให้ถูกต้อง โปรดดูความสำคัญของรักษาพระไตรปิฎก http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_1332.html )

เมื่อโอกาสที่ศึกษาภาษาสันสกฤตได้ปิดตาย (แต่ต่อมาภายหลัง พิมได้ศึกษาสันสกฤตด้วยตนเองจนแตกฉานเป็นผู้มีความรู้ดีในภาษานี้ผู้หนึ่ง)เขาจึงเลือกไปศึกษาเปอร์เซียเป็นภาษาที่สอง เมื่อพิมประสบปัญหาต่างๆในโรงเรียนเช่นนี้ แทนที่จะเขาเบื่อหน่ายท้อแท้เหมือนเมื่อกอ่น เขากลับมีวิริยะยิ่งขึ้น หวังจะเอาชนะลูกคนวรรณะอื่นๆด้วยผลการเรียน พอกลับมาถึงบ้านเขาก็จะหมกตัวอยู่กลับตำรา แต่ก็ทำไม่ได้สมความคิด เพราะพิมพักอาศัยอยู่กับรามจิในกระท่อมเล็กๆซึ่งมีเพียงห้องเดียว รามจิจึงได้ขบคิดแก้ปัญหาการเรียนของพิมแบบง่ายๆและก็ได้ผลคือ ให้พิมเข้านอนแต่หัวค่ำ ตัวรามจิเองจะทำงานเบ็ดเตล็ดหรือถ้าไม่มีงานอะไรทำแล้ว เขาก็จะนั่งเฉยๆจนตีสอง และจึงปลุกพิมตื่นขึ้นดูหนังสือ และรามจิก็จะเข้านอน พิมจะใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดที่ไม่มีโป๊ะจุดดูหนังสือ เวลามีลมพัดมาก็จะใช้กระดาษบัง อีกทั้งยังต้องระมัดระวังไม่ให้ตะเกียงน้ำมันกลายเป็นต้นเพลิงเผากระท่อมของเขาและเพื่อนบ้าน เพราะสลัมอย่างนั้นติดไฟง่ายมาก
พิมจะดูหนังสือไปจนสว่าง แล้วนอนพักผ่อนเอาแรงตอนเช้าอีกนิดหน่อย จึงอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียน (เวลาราชการในอินเดียเริ่ม ๑๐.๐๐ น. และเลิก ๑๘.๐๐ น.) ทำอย่างนี้เป็นกิจวัตรประจำ ด้วยความมานะบากบั่นของพิมและความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดของรามจิบิดา ในที่สุด พิมก็สอบไล่ได้ชั้นมัธยมสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ด้วยเปอร์เซ็นต์สูงมาก โดยเฉพาะวิชาภาษาเปอร์เซีย

การสอบไล่ได้ชั้นมัธยมบริบูรณ์นี้ มิใช่เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกอธิศูทรเลย ดังนั้นบ้านใกล้เรือนเคียงจึงจัดฉลองเพื่อให้พิมมีกำลังใจและทั้งจะได้เป็นตัวอย่างของอธิศูทรอื่นๆต่อไป ทั้งนี้ในช่วงนั้นได้มีนักปฏิรูปสังคม (Social Reformer) หลายท่านที่กำลังมีชื่อเสียงต่างก็มีความปรารถนาดีต่อพิม จึงได้สอบถามรามจิว่าจะส่งพิมศึกษาต่อในขั้นนมหาวิทยาลัยหรือเปล่า รามจิได้ตอบท่านผู้หวังดีเหล่านั้นอย่างหนักแน่นว่า ถึงแม้เขาจะยากจน มีฐานะความเป็นอยู่อย่างอัตคัดขัดสน แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ จะพยายามส่งลูกเรียนให้จบปริญญาให้จงได้

บทความที่ ๖๖. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที่ ๒

ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย
ถูกเหยียดหยาม

เมื่อพิมเรียนจบชั้นประถม รามจิผู้บิดาก็ไม่ได้ให้บุตรชายหยุดการศึกษาไว้เพียงแค่นั้น เพราะถึงแม้เขาจะยากจนแต่ก็เห็นความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นหนทางเดียวที่จะให้ลูกชายได้ยกระดับตนเองขึ้นไป ชีวิตในโรงเรียนมัธยมทำให้พิมได้เริ่มรู้จักความชอกช้ำที่คนในวรรณะเช่นเขาได้รับจากคนวรรณะอื่น

ครั้งหนึ่งเมื่อโรงเรียนปิดภาคเรียน พิมกับพี่ชายและหลานชายตัวเล็กๆผู้เป็นลูกของพี่สาว จะเดินทางไปหารามจิผู้ไปทำงานอยู่ต่างถิ่นซึ่งเป็นหมู่บ้านในชนบทที่ไกลจากการคมนาคม เขาได้เขียนจดหมายไปล่วงหน้านัดหมายให้มารอรับที่สถานีรถไฟ แต่จดหมายไปไม่ถึงตามกำหนด รามจิไม่ได้รับจดหมายจากลูกๆจึงไม่ทราบว่าพวกเขาจะเดินทางมา

เด็กๆทั้งสามเมื่อลงจากรถไฟแล้ว ก็นั่งรออยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมงก็แน่ใจว่าพ่อคงไม่ได้รับจดหมาย จึงพากันไปร้องขอความช่วยเหลือจากนายสถานี ให้ช่วยแนะนำว่าจะเดินทางไปที่หมู่บ้านแห่งนั้นได้อย่างไร แต่นายสถานีผู้ใจดำก็ไม่ได้แยแสความเดือดร้อนของเด็กๆเลย เด็กๆก็รบเร้าจนนายสถานีทำรำคาญไม่ไหวจึงถามพวกเกวียนว่าจะมีผู้ใดเดินทางผ่านหมู่บ้านแห่งนั้นบ้าง บังเอิญว่ามีเกวียนอยู่เล่มหนึ่งจะผ่านไปทางนั้น นายสถานีจึงติดต่อว่าจ้างโดยให้พวกเด็กออกค่าโดยสารเอง เด็กทั้งสามดีใจที่จะได้ไปถึงที่หมายแม้จะนั่งเกวียนไปก็ไม่ลำบากมากนัก

เด็กทั้งสามนั่งเกวียนไปพลางสนทนากันไป และจากการสนทนาของเด็กๆนี่เองทำให้นายสารถีผู้บ้าคลั่งในเรื่องวรรณะรู้ว่าเด็กทั้งสามคนที่แต่งตัวสะอาดหมดจนนี้เป็นอธิศูทร เขาจึงโกรธอย่างสุดขีด ขับไล่เด็กทั้งสามลงจากเกวียนทันที โดยเชื่อว่าเด็กทั้งสามจะนำความอัปมงคลมาให้แก่เขา วัวและเกวียนของเขาจะเป็นราคี อีกทั้งเขายังจะลงมือเด็กทำร้ายเด็กทั้งสามเสียอีก เด็กๆจึงยกมือไหว้อ้อนวอนขอความเมตตา และเพิ่มค่าโดยสารเกวียนเพิ่มให้อีกเท่าหนึ่ง นายสารถีผู้อำมหิตจึงรับเงินไว้แต่ไม่ยอมให้เด็กๆโดยสารไปด้วย เด็กทั้งสามคนจึงรอดพ้นจากการถูกทำร้าย แต่ก็ต้องเดินตามหลังเกวียนไป

พวกเขาเดินด้วยเท้าตั้งแต่บ่ายจนถึงเที่ยงคืน ด้วยความหิวกระหายเป็นที่สุด แต่ก็ไม่สามารถจะหาน้ำดื่มได้เลย ทุกแห่งหนที่พวกเขาเข้าไปขอน้ำดื่ม สิ่งที่ได้รับคือคำด่าบริภาษอย่างหยาบคายและไล่หนีไปให้พ้น นี่คือความโหดร้ายทารุณที่มนุษย์ร่วมชาติ ร่วมศาสนา เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันกระทำต่อกันอย่างบอดเขลาหลงในสิ่งสมมติเรื่องวรรณะอันเป็นเรื่องปั้นแต่งเพื่อกดขี่คนอื่นไว้ให้รองรับความสุขสบายของคนวรรณะอื่น

อีกเรื่องหนึ่งที่พิมได้รับการเหยียดหยามเพียงเพราะเขาเกิดมาในสังคมที่กำหนดค่าเขาไว้เพียงคนชั้นต่ำ คือ พิมไปร้านตัดผมเพื่อจะจ้างให้ช่างตัดผมให้เขา แต่เมื่อช่างตัดผมรู้ว่าเขาเป็นคนอธิศูทรจึงกล่าวแก่เขาว่า “ฉันยินดีตัดผมให้แก่ทุกคน หรือแม้แต่รับจ้างตัดขนสัตว์เดรัจฉาน แต่จะไม่ยอมให้กรรไกรของฉันแตะต้องผมของลูกนอกวรรณะอย่างแกเป็นเด็ดขาด” แล้วขับไล่ให้พิมออกจากร้านไปโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นก็จะเจ็บตัว พิมจึงรู้ว่าตนเองถูกเหยียดหยามอย่างต่ำช้ายิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉาน เวลาจะตัดผมพี่สาวจึงต้องทำหน้าที่กัลบกให้เขาตลอดมาจนกระทั่งเขาโตเป็นหนุ่ม

เหตุการณ์เหล่านี้ฝังอยู้ในส่วนลึกของหัวใจพิมตลอดเวลา เขาเริ่มทราบถึงสภาพและฐานะทางสังคมของตนเองและคนนอกวรรณะทั้งหลายดีขึ้นโดยลำดับ เขาตั้งคำถามแก่ตนเองเสมอว่า ทำไมจึงมีคนในวรรณะและนอกวรรณะ ตอนนั้นเขาก็ยังหาคำตอบอันถูกต้องแก่ตนเองได้

ชีวิตในโรงเรียนมัธยมเป็นชีวิตทีขมขื่นและเบื่อหน่ายสำหรับพิม แต่เขาก็อดทนต่อสู้ เพราะรามจิบิดาของเขาสอนไว้ว่า คนที่ไม่มีความอดทน ไม่รู้จักต่อสู้อุปสรรคจะเป็นคนที่พระเจ้าทอดทิ้งและจะหาที่พึ่งแก่ตนเองไม่ได้ บรรยายกาศของโรงเรียนเหมือนเป็นขุมนรกสำหรับพิม ครูในโรงเรียนทุกคนเป็นวรรณะพราหมณ์ ที่สมมติตัวเองว่าเป็นคนชั้นสูง แต่หามีเมตตาในจิตนักนิดไม่ พิมจะถูกครูสั่งบังคับให้ไปนั่งอยู่มุมห้องเรียน และใช้กระสอบขาดๆที่เขาถือไปโรงเรียนทุกวันด้วยนั้นปูนั่ง ครูทั้งหลายจะไม่ยอมแตะต้องหนังสือและสมุดแบบฝึกหัดของพิมเป็นอันขาด ถึงเวลาอ่านโคลงภาษาสันสกฤต ครูจะให้เด็กอื่นอ่าน แต่ไม่อนุญาตให้พิมอ่าน เพราะสันสกฤตเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ ไม่คู่ควรแก่คนนอกวรรณะอย่างพิม ที่ครูทุกคนทำอย่างนั้นกับพิม ก็เพราะเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าหากถูกต้องตัวหรือสิ่งของๆเด็กนอกวรรณะแล้ว จะทำให้เกิดราคีและชีวิตและครอบครัวของพวกเขา

เมื่อพิมกระหายน้ำเวลาอยู่ในโรงเรียน เขาจะตักน้ำดื่มเองไม่ได้อย่างเด็ดขาด เขาจะต้องขอร้องให้ใครสักคนหนึ่งที่มีใจอารีตักน้ำแล้วให้พิมแหงนหน้าขึ้น ให้ผู้มีใจอารีค่อยๆเทน้ำลงใส่ปากอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายพิมไปถูกภาชนะตักน้ำหรือถูกร่างกายของผู้มีใจอารีนั้น


คุณครูผู้เมตตา

เมื่อพวกครูต่างพากันเกลียดชังความเป็นอธิศูทรของพิมเช่นนี้ จึงไม่มีใครใส่ใจความก้าวหน้าในการเรียนของพิม วันไหนเขาไม่ไปโรงเรียน วันนั้นนับว่าเป็นบุญตาของพวกครูเสียอีก แต่ด้วยบุญกุศลกรรมในอดีตชาติได้ตามให้ผลแก่พิม จึงมีครูใจพระอยู่คนหนึ่ง ทั้งๆที่เป็นพราหมณ์แต่ก็ไม่มีจิตใจมืดเบาเขลาปัญญาเหมือนครูคนอื่นๆ เขาเฝ้ามองดูพิมด้วยสายตาเต็มไปด้วยความเมตตาเอ็นดู เมื่อครูคนอื่นแสดงอาการรังเกียจพิม เขาก็ได้แต่เกิดความสงสารอยู่ในใจ จะแสดงออกมามิได้ เกรงว่าเพื่อนร่วมงานและคนร่วมวรรณะจะพลอยรังเกียจเขาไปด้วย เวลาลับตาเพื่อนครู เขามักจะแบ่งอาหารกลางวันของเขาให้พิมทานด้วยเสมอ
พิมมีนามสกุลเดิมว่า “สักปาล” เป็นนามสกุลของพวกอธิศูทร พอเอ่ยนามสกุลนี้ใครๆก็จะรู้ทันทีว่านี่ลูกอธิศูทร คุณครูใจพระผู้นั้นจึงเปลี่ยนนามสกุลให้พิมเสียใหม่ โดยแก้ทะเบียนในโรงเรียนให้พิมใช้นามสกุลของเขาแทน ซึ่งเป็นนามสกุลพราหมณ์ ได้แก่ชื่อนามสกุลว่า “เอ็มเบ็ดก้าร์” (เพราะนามสกุลพราหมณ์นี้เอง จึงทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นพราหมณ์แม้แต่มหาตมะคานธีก็เคยคิดเช่นนั้น) และพิมก็ใช้นามสุกลนั้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การที่ครูผู้เมตตาท่านนั้นได้ให้พิมใช้นามสกุลร่วมกับท่านโดยที่พิมไม่ได้ร้องขอเลยนั้น เขากระทำไปด้วยความเมตตาปรานี ที่ทนเห็นการถูกรังแกหรือโดนดูถูกอย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้ เขาไม่ได้มุ่งหวังอะไรจากพิมเลย จึงนับได้ว่าครูผู้นี้เป็นผู้ทำความดีเพื่อความดีมิใช่ทำเพื่อโลกธรรม

ภายหลังต่อมาที่พิมย้ายออกจากโรงเรียนแห่งนั้นไปแล้ว ก็ไม่มีโอกาสได้พบกับครูผู้อารีอีกเลย จนกระทั่งเนิ่นนานต่อมาเมื่อพิมได้กลายเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งของอินเดีย ที่ได้รับเชิญให้ไปประชุมร่วมโต๊ะเจรจาที่ประเทศอังกฤษเพื่อหาลู่ทางให้ได้มาซึ่งเอกราชของอินเดีย ก่อนออกเดินทางไปอังกฤษเขาได้รับจดหมายโดยมิคาดฝันจากคุณครูผู้เมตตาท่านนั้น มีใจความสำคัญว่า เขามีความสุขใจมาก ความฝันที่เขาเคยฝันไว้ ความหวังที่เขาเคยหวัง ทั้งๆที่ตอนนั้นยังมองไม่เห็นความสำเร็จเลยแม้แต่เงา บัดนี้ได้กลายเป็นความจริงและเป็นผลสำเร็จขึ้นมาแล้ว ขอให้พิมดำเนินงานต่อไปด้วยสติปัญญาและความสุขุมรอบคอบ เพื่อนำหิตประโยชน์มาสู่ตนเองและประชาชาติอินเดียทั้งมวล จดหมายฉบับนี้ทำให้พิมมีความปีติยินดียิ่งนัก มีค่าสำหรับเขาเหลือจะพรรณนา ทำให้เขามีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป

เสี่ยงไปตายเอาดาบหน้า

ชีวิตในโรงเรียน พิมได้รับความกดดันต่างๆ เขาจึงไม่สนใจเรื่องการเรียน หันไปมัวสุมกับการกีฬาต่างๆและความสนุกสนานเพลิดเพลิน พอเลิกจากโรงเรียนก็ไปเที่ยวรับจ้างเลี้ยงควายและแกะ เพื่อจะได้มีโอกาสไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ แล้วยังได้ค่าจ้างอีกด้วย จึงเป็นช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตของเขาที่อยู่บ้านไม่ติด ประกอบกับที่รามจิผู้บิดาได้แต่งงานใหม่ พิมรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นแม่เลี้ยงนำเครื่องประดับของแม่บังเกิดเกล้าของเขามาสรวม ทำให้เขาไม่อยากจะอยู่บ้านและไม่สนใจเรียน การเล่นกีฬาและการวิ่งเล่นกับเพื่อนๆทำให้เขาลืมเหตุการณ์ที่โรงเรียนและความอึดอัดที่บ้าน

ครั้งหนึ่งพิมคิดจะหนีออกจากบ้านไปแสวงโชคหาเลี้ยงชีพตามลำพัง ไม่ต้องคอยอาศัยขอเงินจากพ่อและแม่เลี้ยงอีกต่อไป ในช่วงนั้น พี่สาวทั้งสองได้ติดตามสามีไปทำมาหากินอยู่ในบอมเบย์และเล่าให้พิมฟังว่าในเมืองใหญ่นั้น เด็กตำบลเดียวกันได้เข้าไปทำงานในบอมเบย์เป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่เป็นกรรมกรแบกหามตามโรงงานต่างๆ นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่อธิศูทรจะได้มีงานทำ เพราะก่อนหน้านั้นแม้แต่อาชีพกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ยอมรับอธิศูทรเข้าทำงานเลย พิมจึงตกลงใจจะไปตายเอาดาบหน้า ความหวังของเขาก็เพียงได้เป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมสักแห่งก็พอใจแล้ว

แต่มีปัญหาอยู่ว่าเขาจะเดินทางไปเมืองบอมเบย์ได้อย่างไร เพราะเขาไม่มีเงินสักแดงเดียว เขาใช้ความคิดอย่างหนัก ในที่สุดก็วางแผนจะลักขโมยเงินในกระเป๋าของมิราผู้เป็นอาว์ที่เขาเคารพรักเสมือนแม่บังเกิดเกล้า เขาใช้ความพยายามอยู่ถึงสามคืนแต่ไม่สำเร็จ พอตกคืนที่สี่เขาก็ลักเอากระเป๋าของอามาได้ แต่ก็ต้องประสบความผิดหวังอย่างแรง เพราะปรากฏว่าในกระเป๋านั้นมีเงินเพียงแอนนาเดียว(ประมาณ ๕๐ สตางค์)เท่านั้น ด้วยเงินเพียงเท่านี้เขาไม่สามารถจะใช้เป็นค่าโดยสารรถเดินทางเข้าบอมเบย์ได้เลย และในคืนนั้นเองเขาก็ล้มเลิกการหาเงินแบบเลวๆ อันน่าอดสูแก่ตัวเองนั้นเสีย แล้วเขาก็เลือกวิธีการใหม่

การเปลี่ยนแปลงความคิดในครั้งนี้ได้เปลียนโฉมหน้าชีวิตของเขาไปอย่างชนิดที่เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว เขาเลิกสนใจกีฬา เลิกเล่นเพลิดเพลินกับเพื่อนๆโดยเด็ดขาด แล้วตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวบอกตนเองว่า “ประโยชน์อะไรกับกีฬาและการเล่นเพลิดเพลินไปวันๆ ฉันจะต้องทุ่มเทความสนใจทั้งหมดให้กับการศึกษา ฉันจะต้องสอบผ่านและเรียนให้สำเร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่ฉันจะสามารถดำรงชีวิตอยู่บนลำแข้งของตนเองได้” นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา การศึกษาของพิมก็ดีขึ้นโดยลำดับ เรื่องเสเพลทั้งมวลถูกทอดทิ้งโดยเด็ดขาด ผลการสอบคะแนนออกมาสูงลิ่วทุกวิชา

Thursday, February 22, 2007

บทความที่ ๖๕. การต่อสู้เพื่อปลดแอกของรัฐบุรุษ ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ตอนที ๑

เอ็มเบ็ดการ์ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย



ในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย มีสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะต้องพากันไปชมคือ รัฐสภาของอินเดีย ซึ่งเป็นสถาบันอันทรงเกียรติสูงสุดของประเทศแห่งนี้ นักท่องเที่ยวจะพบกับอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่ตั้งอยู่อย่างสง่างามหน้ารัฐสภา นั่นคือ อนุสาวรีย์ของ ท่านด๊อกเตอร์ บี อาร์ เอ็มเบ็ดก้าร์ (Dr. B.R. Ambedkar) ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น สถาปนิกผู้ออกแบบกฎหมายรัฐธรรมนูญอินเดีย ที่ใช้ปกครองประเทศในขณะนี้

รัฐสภาของอินเดียมีขึ้นได้ก็ด้วยความสามารถแห่งสติปัญญาของเขา เขาได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิรูปสังคมผู้ยิ่งใหญ่ เป็นนักการเมืองที่มีอุดมการณ์สูง อุทิศแม้ชีวิตเพื่อความเจริญรุ่งเรืองและเอกราชของชาติ เป็นนักกฎหมายที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ เขาใช้กฎหมายเป็นอาวุธเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคมและสร้างศักราชใหม่ให้แก่สังคมอินเดีย เป็นนักการศึกษาที่คลุกคลีกอยู่กับการศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม เขาได้ริเริ่มสร้างสถานศึกษาให้แก่คนยากคนหลายต่อหลายแห่ง นอกจากนั้นยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักศาสนา ฯลฯ

สำหรับโลกภายนอกประเทศอินเดีย จะรู้จักเขาในฐานะที่เป็นผู้นำชาวอินเดียหลายแสนคนประกาศตนนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นการเปิดฉากนำพระพุทธศาสนากลับคืนมามาตุภูมิอีกครั้งหลังจากพุทธศาสนาได้สูญหายจากความทรงจำของคนอินเดียส่วนใหญ่

ดร.บี อาร์ เอ็มเบ็ดการ์ เป็นวีรบุรุษที่สร้างตนขึ้นมาจากชนชั้นที่ถือกันว่าต่ำที่สุดที่คนในสังคมยัดเยียดให้ ทั้งๆที่เขาไม่ปรารถนาจะรับเลย เขาเกิดมาจากความไม่มีอะไรและจากไปโดยนัยนั้น แต่สิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้ให้ประชาชนชาวอินเดียเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่จนประเมินไม่ได้ จึงอนุชนรุ่นหลังทั้งคนอินเดียและคนชาติอื่นควรที่จะศึกษาชีวิตของท่านผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง

สังคมฮินดู
ระบบวรรณะในสังคมอินเดียได้สืบทอดกันมาเนิ่นนานหลังจากที่ศาสนาฮินดูได้ถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มคนมาตั้งหลักแหล่งอาศัยตามลุ่มน้ำสินธู และแม่น้ำคงคา กลุ่มชนเหล่านี้เรียกดินแดนของตนเองว่า “มหาภารตะ”และเรียกศาสนาของตนว่า “ศาสนาฮินดู” ต่อมาเพื่อมีคนจากต่างแดนเข้ามาถึงดินแดนแห่งนี้ ก็เรียกชาวมหาภารตะว่า “ชาวสินธู” ตามหลักแหล่งที่กลุ่มชนนี้ตั้งอาศัย และบางทีก็เรียกว่าชาว “อินดู” ตามศาสนาที่กลุ่มชนนี้นับถือ และกลายมาเป็น “อินเดีย” อย่างที่คนต่างประเทศเรียกกันจนถึงทุกวันนี้ ส่วนคนอีนเดียก็ยังคงเรียกดินแดนของตนว่า “มหาภารตะ” อยูจนบัดนี้

ศาสนาฮินดูมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ หากแบ่งตามยุคสมัยจะแบ่งเป็น ๓ ยุค คือยุคพระเวท ยุคพราหมณ์และยุคฮินดูปัจจุบัน ระบบวรรณะเกิดขึ้นในยุคพราหมณ์ที่เริ่มจากการจัดแบ่งคนออกตามหน้าที่ซึ่งเริ่มแรกก็ไม่ได้เคร่งครัดนัก คนในวรรณะหนึ่งอาจจะเปลี่ยนไปเป็นวรรณะอื่นได ต่อมาคนในวรรณะพราหมณ์ที่มีหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ต้องการจะสงวนเอาหน้าที่ของตนให้สืบทอดไว้ให้ลูกหลาน จึงทำการสอนว่า คนในวรรณะทั้ง ๔ นั้นจะต้องสมสู่กับคนในวรรณะเดียวกันเท่านั้น และหน้าที่การสั่งสอนเป็นหน้าที่ของคนวรรณะพราหมณ์เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ระบบวรรณะจึงผิดไปจากเจตนาเดิมที่แบ่งตามหน้าที่การทำงานของคนในสังคม กลับกลายเป็นการแบ่งตามสายโลหิต (Heredity)

ในวรรณะทั้ง ๔ คือ วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร คนที่อยู่ในวรรณะใดวรรณะหนึ่งยังนับว่าเป็นคนมีวรรณะคือ เรียกว่า “สวรรณะ” แปลว่าพวกมีวรรณะสังกัด แต่ยังมีคนอีกพวกหนึ่งที่ไม่มีวรรณะสังกัด เรียกว่า “อวรรณะ” ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นวรรณที่ ๕ ในสังคมฮินดู พวกฮินดูได้เหยียดหยามพวกอวรรณะว่าเป็น พวกต่ำช้า เป็นตัวเสนียด เป็นอัปมงคลแก่ผู้พบเห็น มีฐานะต่ำกว่าสัตว์ดิรัจฉาน พวกเขาถูกเรียกในชื่อต่างๆกันไป เช่น จัณฑาล,หริจาน,หินชาติ,ปาริหะ,มาหาร์, ปัญจมะ อธิศูทร ฯลฯ

พวกอวรรณะหรืออธิศูทร ยังถูกแบ่งเป็นพวกใหญ่ๆอีก ๓ พวกคือ พวกที่แตะต้องไม่ได้,พวกที่เข้าใกล้ไม่ได้และพวกที่มองดูไม่ได้ อาชีพของพวกเขาได้แก่ คนกวาดถนน ล้างส้วม ขนขยะ ไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ต้องเช่าที่ทำกินได้เท่านั้น สถานที่อาศัยก็คือ ตามกองขยะหรือแหล่งสลัม เมื่อใครเกิดมาเป็นอธิศูทรแล้วก็จะต้องดำเนินชีวิตอย่างอธิศูทรและตายไปอย่างอธิศูทร พวกเขาไม่มีความหวังใดๆในชีวิตเลย ท่านบัณฑิต ยาวหระลาล เนห์รูเคยกล่าวแสดงความเห็นใจคนอธิศูทรว่า “พวกอธิศูทรนั้นไร้ผ้าผ่อนจะห้อหุ้มกาย ไม่มีบ้านจะอาศัย อดอยากยากแค้น โศกเศร้าระทมทุกข์อย่างแสนสาหัส” และท่านมหาตมะคานธีก็เคยกล่าวว่า “ระบบอธิศูทร คือ มลทินของศาสนาฮินดู”

บรรพบุรุษของอินเดียผู้มีใจเป็นธรรมหลายคนได้พยายามที่จะให้ความเชื่อเรื่องอธิศูทรหมดไปจากสังคมฮินดู แต่ก็ไร้ผลเสมอมา เมื่อสมัยอังกฤษมาปกครองอินเดีย รัฐบาลอังกฤษก็ทราบดีว่าการมีอธิศูทรในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ขัดต่อหลักประชาธิปไตยที่ถือว่าทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกันตามกฎหมาย แต่อังกฤษก็ไม่สามารถขจัดปัญหานี้ให้หมดไปจากสังคมฮินดูได้ ทั้งๆที่อังกฤษได้รับผลสำเร็จในการปกครองอินเดียก็โดยได้รับความช่วยเหลือของพวกอธิศูทรไม่น้อยเลย

ในคราวที่อังกฤษเข้ามาในอินเดียในครั้งแรกๆ อังกฤษได้มาอย่างพ่อค้า โดยตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (ENGLISH EAST INDIAN COMPANY) ตามประวัติศาสตร์ปรากฎว่า บริษัทนี้ดำเนินการค้าขายแต่ขณะเดียวกันก็มุ่งหวังจะยึดครองอินเดียไปพร้อมๆกัน จนในที่สุด เจ้าผู้ครองรัฐต่างๆของอินเดียก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของบริษัทฯ และรัฐบาลของอังกฤษก็เข้าเป็นเจ้าของบริษัทนั้น จึงทำให้อินเดียทั้งประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งในช่วงแรกๆ อังกฤษได้รับพวกอธิศูทรเข้าเป็นทหารของบริษัท ทำการรบกับศัตรูของอังกฤษคือ ฝรั่งเศส ผู้เป็นคู่แข่งการค้าที่สำคัญที่ต้องการมีอิทธิพลเหนืออินเดีย และแม้แต่ชาวอินเดียด้วยกันเองก็แข็งข้อไม่ยอมรับการเข้าครองของอังกฤษ พวกอธิศูทรก็ได้แสดงฝีมือให้เห็นอังกฤษเห็นประจักษ์ชัดแจ้งแล้ว จนในที่สุดอังกฤษก็ครองความเป็นใหญ่เหนืออินเดียแต่เพียงผู้เดียว

ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ และ ๒ ทหารอธิศูทรก็ได้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารอังกฤษ แต่เหตุใดอังกฤษจึงไม่สามารถช่วยขจัดระบบอธิศูทรให้หมดไปจากสังคมอินเดียได้ คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือ “นโยบายอยู่เหนือเหตุผล” นโยบายของอังกฤษที่ปกครองอินเดียก็เพื่อเอาผลประโยชน์จากอินเดียไปสู่ประเทศของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น ในเมื่อคนในสังคมชั้นสูงของอินเดียยังไม่คิดที่จะลืมตาดูและสร้างความเป็นธรรมในใจว่า อธิศูทรนั้นก็คือมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับคนทั่วโลก ถ้าเขาได้รับโอกาสฝึกฝนเหมือนคนอื่นๆ อังกฤษจึงทำอะไรไม่ได้ นอกจากเอาอธิศูทรมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษเอง ระบบอธิศูทรจึงปักหลักแน่นอยู่ในสังคมฮินดู ยากที่จะถอนรากถอนโคนให้หมดไปได้

วัยเยาว์
ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์ ถือกำเนิดจากครอบครัวอธิศูทรที่ยากจนครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านอัมพาวดีซึ่งอยู่ในชนบทห่างไกลความเจริญขึ้นในรัฐมหาราษฎร์ (บอมเบย์) เมื่อตอนที่ดร.เอ็มเบ็ดก้าร์จะเกิดนั้น บิดาของเขาคือ รามจิได้นิมนต์ฤาษีผู้เป็นลุงของตนให้มาฉันภัตตาหารที่บ้าน แต่ฤาษีผู้สละความเกี่ยวข้องทุกอย่างแล้วไม่รับนิมนต์ แต่ได้ให้พรแก่รามจิว่า “ขอให้เธอจงมีลูกชายและขอให้เป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศในอนาคต”
พรจากฤาษีได้สำเร็จอย่างแรกคือ เอ็มเบ็ดก้าร์ได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๔ (ค.ศ. ๑๘๙๑) บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า “พิม” (Bhim) เขาเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง ๑๔ คน

เมื่อพิมอายุได้ ๒ ขวบ รามจิผู้บิดาได้เกษียณจากราชการทหาร ไปประกอบอาชีพส่วนตัว อาชีพนั้นก็ได้แก่อาชีพที่สังคมกำหนดให้อธิศูทรทำ คือ กรรมกรแบกหาม และกำจัดสิ่งโสโครก แม้ว่ารามจิจะมีความรู้พอจะประกอบการค้าขาย แต่ก็ไม่อาจทำได้เพราะไมใช่อาชีพที่สังคมยอมให้อธิศูทรทำได้

เมื่อพิมอายุได้ ๖ ขวบมารดาของเขาก็เสียชีวิต เขาได้รับการดูแลเอาใจใส่ทะนุถนอมจากมิราผู้เป็นอาว์ รามจิบิดาของพิมได้เลี้ยงดูลูกๆด้วยความอดทนแข็งแกร่งไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค เขาเป็นคนมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในการศาสนา เขามักจะพาลูกๆไปสวดมนต์ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู แต่การสวดมนต์เป็นภาษาสันสกฤตมีไว้เฉพาะพวกพราหมณ์เท่านั้น รามจิจึงพาลูกๆสวดมนต์ด้วยภาษามาระธี(Marathi ซึ่งเป็นภาษาราชการที่ใช้ในรัฐมหาราษฎร์ เป็นภาษาสำคัญภาษาหนึ่ง มีรากฐานมาจากภาษาบาลและสันสกฤต)ในยามกลางคืนอันเงียบสงัดหรือเวลาเช้าตรู่ การสวดมนต์ทำนองสรภัญญะด้วยเสียงไพเราะวังเวงได้ตกทอดเป็นมรดกแก่ลูกๆสืบมา

รามจิเป็นคนบุคคลที่น่านับถือเขางดเว้นจากการดื่มสุราเมรัยและการพนันอบายมุขโดยเด็ดขาด เขาไม่เชื่อว่า อบายมุขจะช่วยให้เขาเป็นคนทันสมัยและพ้นจากความทุกข์ยากลำบากได้ เขาเป็นคนรักกีฬาทุกชนิด ทำให้เขามีใจรู้แพ้ รู้ชนะ และรักความยุติธรรมเป็นชีวิตจิตใจ เขารู้ดีว่าคนในสังคมในวรรณะอื่นๆได้หยิบโยนความอยุติธรรมให้แก่เขาและคนในกลุ่มชนของเขา เขาจึงพยายามอุทิศกำลังกายและกำลังความคิด เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวอธิศูทรให้ดีขึ้นทุกอย่าง และเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมและความเสมอภาคทางสังคม เขาได้เข้าพบกับผู้ว่าราชการรัฐ เพื่อขอความเห็นที่จะพัฒนาพวกอธิศูทรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำเนาเอกสารหลักฐานที่รามจิได้เคยยื่นต่อทางราชการและต่อนักปฏิรูปสังคมในช่วงนั้นเมื่อพิมได้รู้เดียงสาขึ้นก็ได้พบเห็นและศึกษาด้วยความสนใจ

ครั้งหนึ่งรามจิได้ทำการต่อสู้คัดค้านคำสั่งของรัฐบาลที่ห้ามอธิศูทรเข้ารับราชการในกองทัพอินเดีย เขาเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม เพราะยามมีสงคราม เช่นสมัยอังกฤษทำสงครามกับฝรั่งเศสเพื่อแสวงหาความยิ่งใหญ่เหนืออินเดีย อังกฤษก็ได้อาศัยทหารอธิศูทรเป็นทหารราบช่วยทำการรบ แต่ยามศึกสงบรัฐบาลอังกฤษเพื่อเอาใจพวกพราหมณ์ที่มีอิทธิพลทางจิตใจเหนือพวกเจ้าชาวอินเดียจึงออกประกาศห้าม(อธิศูทรเข้าเป็นทหาร)อย่างไร้เหตุผล เอกสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่พิมจะได้ดำเนินการต่อไปในโอกาสเขามาถึง จึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า พลังกายและพลังความคิดในการทำงานเพื่อสังคม พิมได้รับอิทธิพลมาจากบิดาผู้แข็งแกร่งของเขา

นอกจากการปลูกฝังศรัทธาปสาทะในศาสนาให้แก่ลูกๆแล้ว รามจิยังตระหนักและเอาใจใส่ในการศึกษาของลูกๆอีกด้วย เขารู้ดีว่าเขาเป็นคนหาเช้ากินค่ำ บางทีหาไม่พอกิน ไม่มีทางเลยที่จะหาทรัพย์สินเงินทองให้เป็นมรดกแก่ลูกๆ เขามีสิ่งเดียวที่ทำได้คือ “ให้ปัญญา” เขาคิดอยู่เสมอว่าการศึกษานั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของลูก รามจิเคยเป็นรับหน้าที่เป็นครูสอนเด็กๆผู้เป็นบุตร-ธิดาของทหารมานานถึง ๑๔ ปี ในสมัยที่ยังรับราชการทหาร เขาเป็นคนมีความรู้เกี่ยวกับหลักภาษาและวรรณคดีภาษามาระธีค่อนข้างดีคนหนึ่ง และยังมีความรู้ภาษาอังกฤษพอสมควรอีกด้วย เมื่อมีเวลาว่างเขาจึงสอนลูกๆให้ใช้ภาษามาระธีและภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง พิมจึงได้รับการปูพื้นฐานการศึกษาอย่างดีจากบิดาของเขาเอง

บทความที่ ๖๔. ธรรมชาติสายธารย่อมหลั่งไหลไปเบื้องหน้า

จากภาวะวิกฤตการณ์ทางสังคมเช่นในปัจุจบันนี้ประชาชนหลายคนได้ตื่นขึ้นมาจากความสับสน มึนงง พวกเขาได้เริ่มกลับไปศึกษาค้นหา ณ จุดเริ่มต้นของการถือกำเนิดประชาธิปไตย ที่คณะราษฎรได้เสี่ยงชีวิต เปลี่ยนแปลงการปกครองนำอำนาจประชาธิปไตยมาสู่ปวงชน

แต่บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงหลักมูลการปกครองของแผ่นดินย่อมไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา คณะราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านปรีดี พนมยงค์ จึงกลายเป็นเป้าหมายถูกตอบโต้ โจมตี จากกลุ่มบุคคลที่ต้องการนำเอาระบบการปกครองของคนกลุ่มน้อยมาปกครองคนส่วนใหญ่ของส่วนชาติ ซึ่งเป็นการปฏิวัติ กล่าวคือเป็นการย้อยกลับไปสู่ความเสื่อมเพราะวัฒนาการของประเทศไทยและของโลกได้ก้าวไปสู่ความเท่าเทียมกันของชาติพันธุ์แล้ว

หากจะเปรียบไปก็ดังเช่นสายธารที่ไหลทะยานไปเบื้องหน้า เมื่อปะทะเข้ากับที่งอกริ่มฝั่ง สายน้ำจึงหมุนวน ไหลกลับอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็เหมือนกับสังคมไทยในขณะนี้ที่ปะทะเข้ากับกรอบความคิดของกลุ่มบุคคลที่ถือครองอาวุธเป็นผู้ที่ใช้อำนาจเป็นธรรม(มิได้ใช้ธรรมเป็นอำนาจ) สังคมไทยก็ประหนึ่งจะสะท้อนไหลกลับหมุนเป็นวังวน แต่ก็จะเป็นอยู่เพียงพักหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อมวลสายน้ำได้บ่าหลั่งไหลแรงขึ้น ก็ย่อมจะเข้าทะลักผลักดันทำลายที่งอกริมตลิ่งที่ขวางการไหลไปข้างหน้าของมวลสายน้ำให้พังทลายลงในที่สุด...

บทความที่ ๖๓.สิทธิทางการเมืองคือสมบัติอันล้ำค่าของคนทั้งประเทศ

สิทธิทางการเมืองคือสมบัติอันล้ำค่าของคนทั้งประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.มนู อมาตยกุล*


“ปัจจุบันทุกคนอ้างว่ารับประชาธิปไตย แต่มีใครสักกี่คนที่พูดถึงผู้เสี่ยงชีวิตนำประชาธิปไตยมาให้ประชาชน”


ข้าพเจ้ามีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญจากคุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ สาราณียกร คณะกรรมการชมรม ต.ม.ธ.ก. สัมพันธ์ ให้เขียนเรื่องอันเกี่ยวกับเกียรติประวัติชีวิตและการทำงานของ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บางตอนที่ข้าพเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย มาลงพิมพ์ในหนังสือวัน “ปรีดี พนมยงค์” พ.ศ. ๒๕๓๕

ข้าพเจ้ารู้จักท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เป็นครั้งแรก เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาเป็น Dr. En Dorit ฝ่ายนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) จากมหาวิทยาลัยเมือง Caen มาใหม่ๆ และมาปาฐกถาที่สามัคยาจารย์สมาคมโรงเรียนสวนกุหลาบเกี่ยวกับเรื่องอาชญากร ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้ไปเข้าฟังการบรรยายของท่านในวันนั้น และเมื่อเสร็จการบรรยายแล้วเพื่อนๆ ของท่านและผู้เข้าฟังเป็นจำนวนมากก็ได้จับท่านขี่คอเดินเป็นขบวนโห่ร้อง แสดงความพอใจชื่นชมยินดีในตัวท่าน ทำให้ข้าพเจ้าซึ่งขณะนั้นยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาอยู่ พลอยตื่นเต้นและชื่นชมยินดีไปด้วย

ข้าพเจ้ามาได้รู้จักท่านใกล้ชิดตอนที่ท่านเป็นอาจารย์สอนกฎหมายปกครองที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมและข้าพเจ้าเข้าเป็นนักเรียนกฎหมายที่นั่น ในขณะเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าก็เข้าทำงานเป็นรองเวรอยู่ที่กองบัญชาการกระทรวงการคลังด้วย ทำให้ข้าพเจ้าไม่มีเวลาได้เข้าฟังเล็กเชอร์ที่โรงเรียนเท่าใดนัก ฉะนั้นเมื่อท่านอาจารย์ปรีดี ประกาศให้นักเรียนที่สนใจไปรับการสอนพิเศษวิชากฎหมายปกครองที่บ้านท่าน ณ บ้านป้อมเพชรตอนค่ำ ข้าพเจ้าจึงได้ร่วมกับเพื่อนนักเรียนกฎหมายรุ่นเดียวกันไปรับการอบรมด้วย มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๑๐ กว่าคน

ข้าพเจ้ามีความนิยมชมชอบในตัวท่านตั้งแต่ไปฟังการบรรยายดังกล่าวมาข้างต้นอยู่ก่อนแล้ว จึงสนใจเป็นพิเศษในวิชาที่ท่านสอนนี้ทำให้ท่านพอใจ และได้สนทนาซักถามเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยกับท่านลึกซึ้งขึ้น

ในสมัยนั้นมีน้อยคนหนักหนาที่จะรู้ว่า “ประชาธิปไตย” คืออะไร กฎหมายปกครองก็นำมาสอนเป็นครั้งแรกในโรงเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้ายังจำได้ว่าวันหนึ่งท่านได้สอนพวกเราซึ่งมีทั้งหญิงและชายทั้งคนจนคนมี ว่า ความเป็นอยู่เป็นสิ่งกำหนดจิตสำนึกของมนุษย์และเป็นมาตั้งแต่โบราณกาล ทำให้มีกำเนิดแห่งทรรศนะทางสังคม เริ่มจากระบบปฐมสหการมาเป็นระบบทาส จากระบบทาสมาเป็นระบบศักดินา และมาเป็นระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งเรียกว่าสมัยการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม(Industrial revolution) ฉะนั้นพวกนายทุนสมัยใหม่จึงต้องเปลี่ยนระบบศักดินาเพื่อให้ราษฎรมีเสรีภาพและสิทธิประชาธิปไตยมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างระบบศักดินากับทรรศนะใหม่และความคิดอันเกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและได้แพร่ขยายมายังประเทศด้อยพัฒนา รวมทั้งประเทศสยามด้วย ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากผู้ที่เคยศึกษาในยุโรปและอเมริกา ซึ่งเป็นพวกหัวสมัยใหม่ ให้เลิกระบบศักดินาเสีย

วันหนึ่งข้าพเจ้าไปรับการอบรมถึงบ้านท่านเร็วหน่อยจึงได้มีโอกาสกราบเรียนซักถามท่านโดยลำพังว่า การเรียกร้องให้เลิกระบบศักดินานั้นทำได้อย่างไร ในเมื่อประเทศเรามีระบบศักดินาโดยพระบรมราชโองการทรงแต่งตั้งข้าราชการให้มียศบรรดาศักดิ์ และกำหนดศักดินาเท่านั้นเท่านี้ไร่ไว้สำหรับข้าราชการแต่ละชั้นลดหลั่นกันไป และพระบรมราชโองการก็ถือเป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์ นอกจากนั้นพวกที่ไปได้รับการศึกษาอบรมในยุโรปอเมริกาก็เป็นลูกหลานว่านเครือศักดินากันโดยมาก

ท่านมองหน้าข้าพเจ้าแล้วยิ้มตอบว่า “คุณเกิดแล้วหรือยังเมื่อ รศ. ๑๓๐ ในรัชกาลที่ ๖ ก็ได้มีการเรียกร้องจากพวกก้าวหน้า แต่ไม่สำเร็จจึงต้องรับโทษไป บุคคลในวรรณะเก่าไม่ใช่จะต่อสู้ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่เสมอไป บางคนเป็นผู้มีความคิดก้าวหน้า มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเหนือกว่าประโยชน์ของวรรณะ”

ข้าพเจ้าพอใจและยอมรับความจริงที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาให้อรรถาธิบายให้เห็นความเป็นไปได้ของกำเนิดประชาธิปไตยในประเทศเรา และการพยายามโดยเสี่ยงต่อการถูกลงโทษอย่างมหันต์เพื่อถ่ายอำนาจปกครองบ้านเมืองจากพวกศักดินาให้มาอยู่กับประชาชนนั้น ก็ได้เคยเกิดมาแล้วตั้งแต่ข้าพเจ้าเพิ่งเกิด ข้าพเจ้ามีความประทับใจมากที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า “บุคคลในวรรณะเก่าที่มีความคิดก้าวหน้า เห็นประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเหนือประโยชน์ของวรรณะก็มี” เพราะว่าข้าพเจ้าก็อยู่ในพวกวรรณะเก่า บิดาของข้าพเจ้ามีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ได้ทุนระพีไปเรียนที่อังกฤษ กลับมาเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม และมารดาของข้าพเจ้าก็เป็นข้าหลวงรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๕

ฉะนั้นการอยู่ในกำเนิดของวรรณะเก่าก็คงไม่ปิดทางที่ข้าพเจ้าจะมีโอกาสเข้าอยู่ในพวกก้าวหน้าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเหนือประโยชน์ของวรรณะกับเขาบ้าง

ข้าพเจ้านึกเฉลียวใจอยู่ไม่น้อยในการที่ได้พูดคุยกับท่านอาจารย์ว่าท่านอาจารย์คงจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะนำประเทศชาติไปสู่การถ่ายโอนอำนาจจากพวกศักดินาวรรณะเก่าไปสู่ประชาชน หรือนัยหนึ่ง คือ การนำระบบประชาธิปไตยมาสู่ประเทศสยาม แต่ก็ไม่กล้าถามท่านและคิดว่าถึงถามท่านก็คงจะไม่บอกเด็กอย่างข้าพเจ้า แต่ก็แสดงให้ท่านเห็นว่าข้าพเจ้านิยมต้วท่านที่ยึดถือคติธรรมที่จะนำประเทศชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางการเมืองให้เท่าเทียมประเทศอื่น และสนใจในคำสอนกฎหมายของท่านมาก

ข้าพเจ้าขอย้อนกล่าวไปถึงสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์นิดหน่อย เพื่อให้ทราบว่าข้าพเจ้ารู้เบาะแสของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากใครอย่างไร คือในสมัยเป็นนักเรียนสามัญข้าพเจ้าได้ริเป็นนักการพนันแทงม้า ข้าพเจ้าเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดกับนายเปสตันยี (Pestonji) เจ้ามือรับแทงม้า (Book maker) ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักและนับถือของนักการพนันทั่วไป ท่านเป็นเพื่อนเล่นเทนนิส บิลเลียดสโมสรสีลมกับบิดาของข้าพเจ้า และท่านก็รักเอ็นดูข้าพเจ้าในฐานะเป็นเด็กลูกของเพื่อน ทุกครั้งที่มีแข่งม้าไม่ว่าที่สนามสปอร์ตคลับหรือสนามราชตฤณมัย ท่านจะต้องเอาข้าพเจ้าติดไปด้วยเสมอและสอนให้ข้าพเจ้าแทงม้าและเขย่าขลุกขลิกลูกเต๋าเป็นเจ้ามือแทนท่าน บางครั้งท่านเคยใช้ความเป็นเด็กของข้าพเจ้าล่อพระยานนทิเสนเจ้ามือลอตเตอรี่คนแรกในประเทศไทยแทงขลุกขลิกที่ข้าพเจ้าเขย่ากินพระยานนทิเสนหลายหมื่นบาทซึ่งมากทีเดียวในสมัยนั้น

วันพุธวันเสาร์ข้าพเจ้าก็ต้องลาโรงเรียนครึ่งวันบ่อยๆ เวลาข้าพเจ้าลาครึ่งวันข้าพเจ้าก็ต้องเข้าไปลาเจ้าคุณจรัลชวนะเพท อาจารย์ใหญ่ผู้ปกครอง และท่านก็ให้อนุญาตข้าพเจ้าทุกที เพราะข้าพเจ้าเป็นเด็กดี สอบซ้อมสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ เสมอ ท่านก็ไม่คิดว่าข้าพเจ้าจะเหลวไหลหัดไปเล่นการพนันและความจริงก็เป็นเช่นท่านเชื่อ ข้าพเจ้าสนใจเพียงไปหาความกว้างขวางรอบรู้ คบค้าสมาคมกับผู้ใหญ่ที่เขาจะให้ความเฉลียวฉลาดแก่เราได้ และข้าพเจ้าก็ไม่ได้ติดการพนัน พอโตหน่อยก็เลิกและไม่ไปสนใจสนามม้าอีกเลยจนบัดนี้

ข้าพเจ้ารู้จักผู้ใหญ่หลายคนในสนามม้าคนหนึ่งในจำนวนนี้ก็มี พล.ต.ชัย ประทีปเสน ตอนนั้นท่านเพิ่งจบ ร.ร.นายร้อยทหารบก ท่านต้องมาถามข้าพเจ้าเสมอว่าจะแทงม้าตัวไหนดี เพราะท่านรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นเด็กคนสนิทของนายเปสตันยี ซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า “ป๋าเปท” (PaPet) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีม้าสั่งมาจากเมืองนอกตัวใหม่ๆ เข้าแข่งด้วยเพราะ “ป๋าเปท” ของข้าพเจ้ามีประวัติม้าทุกตัวและข้าพเจ้าก็ถามเขาได้

ข้าพเจ้าสนิทสนมกับ พล.ต.ชัย ประทีปเสน มาตั้งแต่เป็นนายร้อยจนเป็นนายพัน นายพลและไปมาหาสู่กับท่านที่กรมทหารม้าและยานเกราะบางซื่อบ่อยๆ ท่านเป็นลูกน้องคนสนิทของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และในการพูดคุยกับก็ได้เบาะแสจากท่านนี้แหละว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประมาณเมื่อใดอีกทางหนึ่ง

ในตอนเช้ามืดราวตี ๕ ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ข้าพเจ้าได้ปลุกอาว์ของข้าพเจ้า (นายอุดม อมาตยกุล) ซึ่งอยู่บ้านเดียวกัน ชวนให้ขับรถ Clyno เลขที่ ช.ม. ๒๒ ของบิดาข้าพเจ้า ไปรับทานเลือดหมูเซี่ยงจี๊ที่ตลาดเก่ากัน พอออกรถไปได้หน่อย ข้าพเจ้าก็บอกว่ายังเช้ามากไป ขอให้ขับรถไปกินอากาศแถวพระบรมรูปทรงม้าก่อนเถอะ อาว์ข้าพเจ้าก็ว่าดีเหมือนกันไปก็ไป แล้วก็ขับรถไปยังพระบรมรูปทรงม้า ข้าพเจ้าเห็นทหารตั้งแถวอยู่ประตูหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมก็แน่ใจว่ามีการยึดอำนาจการปกครองจริง ข้าพเจ้าบอกกับอาว์ของข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้าจะขอเข้าไปพบเพื่อนข้างในพระที่นั่งคงจะนานหน่อย ขอให้อาว์ของข้าพเจ้ากลับไปก่อนโดยไม่ได้บอกอะไรอีกเลย และไม่ได้ขอให้กราบเรียนคุณพ่อคุณแม่ของข้าพเจ้าว่าอย่างไรด้วย อาว์ของข้าพเจ้าก็ยอมขับรถกลับบ้าน

ข้าพเจ้าขออนุญาตทหารยามแล้วก็เข้าไปพบกันท่านอาจารย์ปรีดี รายงานตัวต่อท่านว่าข้าพเจ้ามาขอร่วมรับใช้ชาติในการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้กับอาจารย์ด้วยคนหนึ่ง ท่านมองหน้าข้าพเจ้าด้วยความแปลกใจว่าข้าพเจ้าทราบได้อย่างไร เพราะในบรรดาพวกที่ไปรับการอบรมที่บ้านท่านก็ไม่มีใครสักคนเดียวที่เข้ามาร่วมการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ แต่แล้วท่านก็บอกว่าท่านจะพาไปรายงานตัวต่อ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฏิวัติ ข้าพเจ้าก็เดินตามท่านไปรายงานตัวต่อ พ.อ.พระยาพหลฯ แล้วท่านอาจารย์ปรีดีก็พาข้าพเจ้าไปมอบตัวกับนายยล สมานนท์ ให้ทำงานฝ่ายธุรการของกองกลางซึ่งนายยล สมานนท์เป็นหัวหน้าอยู่ ข้าพเจ้าต้องฝากเจ้าหน้าที่ในพระที่นั่งที่ออกไปข้างนอก แวะซื้อสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ให้ข้าพเจ้า เพราะจะต้องค้างอยู่ที่นั่นจนกว่าการยึดอำนาจจะสำเร็จลง

ที่นั่นข้าพเจ้าพบคนรู้จักเพียง ๒ คนเท่านั้นคือ คุณจรูญ สืบแสง คุณดิเรก ชัยนาม คุณสงวน ทองประเสริฐ ต่อมาจึงได้รู้จักคนอื่นๆอีก และอีก ๓ วันต่อมาในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือจึงได้เป็นผู้รับเชิญรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยให้พวกที่ร่วมก่อการด้วยกันรวมทั้งตัวข้าพเจ้าด้วยก็ได้มาดื่มแชมเปญฉลองกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น ภายหลังจึงได้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ปีนั้น และได้ถือเอาวันนั้นเป็นวันรัฐธรรมนูญตลอดมา

ต่อมาเมื่อกองบัญชาการคณะอภิวัฒน์ย้ายเข้าไปอยู่ในวังปารุสกวัน ภาระหน้าที่ผ่ายธุรการพร้อมกับการยึดอำนาจการปกครองได้ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยแล้วข้าพเจ้าจึงได้ไปลาท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เพื่อออกไปศึกษากฎหมายต่อไปให้สำเร็จ ในปีต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๖ โรงเรียนกฎหมายก็ย้ายไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักเรียนกฎหมายรุ่นเดียวที่ต้องเรียน ๓ ภาค ข้าพเจ้าสอบไล่จบภาค ๓ และได้เป็นเนติบัณฑติรุ่น ๒๔๗๖ นั้น หลังจากนั้นท่านอาจารย์ปรีจึงจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ข้าพเจ้าได้รับทุนเล่าเรียนไปศึกษาวิชาต่อในยุโรป ท่านอาจารย์ปรีดีกำลังจะเดินทางไปยุโรปเพื่อเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ของรัฐบาลและทาบทามนานาประเทศขอแก้ไขสนธิสัญญาทางไมตรีที่ยังไม่มีความเสมอภาคให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ท่านอาจารย์ปรีดีจึงเอาตัวข้าพเจ้าทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัวของท่าน เราออกเดินทางโดยรถไฟจากสถานีหัวลำโพงเพื่อไปลงเรือเดินสมุทรอิตาเลี่ยนชื่อ “คองท์แวร์เค” ที่สิงคโปร์ ครั้งนั้นยังไม่มีการเดินทางโดยสายการบินเหมือนสมัยนี้ เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าจะได้เดินทางไปต่างประเทศ รู้สึกตื่นเต้น มีคนไปส่งมากมายล้นหลามสถานีหัวลำโพง ข้าราชการและมิตรสหายของท่านอาจารย์เยอะแยะไปหมด และญาติสนิทมิตรสหายของข้าพเจ้าก็ไปส่งและนำพวงมาลัยไปสรวมให้ล้นคอ พอไปถึงสิงคโปร์ หลวงวุฒิสารเนติณัติ กงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์ พร้อมด้วยภรรยาซึ่งเป็นญาติชั้นพี่สาวของข้าพเจ้าในสกุลเดียวกันก็มารับท่านอาจารย์และข้าพเจ้าไปพักสถานกงสุล

วันต่อมาเราจึงออกเดินทางโดยเรือที่กล่าวชื่อมาแล้วออกจากสิงคโปร์บ่ายหน้าไปเมืองเวนิส (Venice) ที่อิตาลี มีคนไทยร่วมโดยสารไปด้วย ๒ คนคือ พระเรี่ยมวิรัชพากย์ซึ่งจะไปรับหน้าที่อัครราชทูตไทย ณ กรุงปรารีส และนายถวิล คูตระกูล ซึ่งจะไปเรียนต่อที่สวิตเซอร์แลนด์โดยทุนส่วนตัว การเดินทางกินเวลาถึงเดือนครึ่ง เมืองแรกที่เรือเข้าเทียบท่าในประเทศอิตาลีคือเมืองบรินดิซิ (Brindisi) ท่านอาจารย์ก็ได้ทราบข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ทำให้ท่านตกใจมากคือข่าวปลงพระชนม์ของเสด็จในกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานผู้สำเร็จราชการ แต่ตามโปรแกรมของท่าน ท่านก็จะต้องแวะที่ Venice และเดินทางต่อไปยังเมือง Treeste เพื่อเยี่ยมอู่ต่อเรือรบของประเทศไทย และมีนายทหารเรือคอยต้อนรับพาดูการต่อเรืออยู่ที่นี่นั่นแล้ว เมื่อถึงอิตาลีแล้ว นายถวิลก็แยกทางไปสวิตเซอร์แลนด์ คงเหลือแต่เรา ๓ คน ถึง Trieste ท่านก็ขอเลื่อนเวลาที่จะเข้าพบมุสโสลินี ประมุขของประเทศอิตาลี ออกไป แล้วก็รีบเดินทางโดยรถไฟไปยังโลซานน์เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานัทมหิดลตลอดจนสมเด็จพระอนุชา และสมเด็จพระบรมราชนนี ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทั้ง ๓ พระองค์ด้วยเป็นครั้งแรก ตอนนั้นพระองค์ท่าน (รัชกาลที่ ๘ และที่ ๙ )ยังทรงพระเยาว์มากทั้ง ๒ พระองค์ หลวงสิริราชไมตรี เลขานุการในพระองค์ได้เอาโทรเลขเรื่องประธานผู้สำเร็จราชการถูกปลงพระชนม์ชีพมาให้อาจารย์ดู แต่ก็ไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก ต่อมาเมื่อเสร็จธุระจากการเข้าเฝ้าทั้งสามพระองค์แล้ว ท่านอาจารย์จึงเดินทางมากรุงปารีสและได้ทราบรายละเอียดจากสถานทูต ณ กรุงปารีสว่าเสด็จในกรมหมื่นอนุวัตรฯ ปลงพระชนม์เองโดยใช้ปืนพกสั้นยิ่งเข้าไปในพระโอษฐ์และเรื่องอยู่ระหว่างสอบสวนของกรมตำรวจ

ต่อมาในวันที่ ๒๐ เดือนเดียวกันคณะรับมนตรีจึงเสนอแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการใหม่ประกอบด้วย
พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา เป็นประธาน
เจ้าพระยายมราช เป็นผู้สำเร็จราชการ
เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน เป็นผู้สำเร็จราชการ

งานในหน้าที่เลขานุการส่วนตัวของท่านอาจารย์ปรีดีที่ข้าพเจ้าทำอยู่ก็ไม่มีอะไรมากนอกจากดูแลจัดกระเป๋าเดินทาง จัดเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ท่านต้องใช้ตามทางประจำวัน เขียนจดหมายถึงผู้แทนราษฎรและมิตรสหายของท่านในระหว่างเดินทางซึ่งต้องใช้มือเขียนเพราะเราไม่มีเครื่องพิมพ์ดีดติดตัวไปใช้ ถ้าเป็นเรื่องเขียนโปสการ์ดส่งความระลึกถึงธรรมดา ท่านก็ให้ข้าพเจ้าเขียนให้ท่านลงนาม ถ้ามีเรื่องพิเศษท่านก็จะบอกเรื่องให้ข้าพเจ้าเขียน ข้าพเจ้าก็รักษาความลับอย่างดีที่สุด ท่านพักอยู่ปารีสนานหน่อย ทางสถานทูตจัดให้ตัวท่านอาจารย์นั้นอยู่ห้องใหญ่ชั้นล่าง ข้าพเจ้าอยู่ห้องชั้น ๒ ข้าพเจ้าเคยรู้จักแต่ชีวิตเมืองไทย ฉะนั้นรัปทานครัวซอง (Croissant) กับการแฟแล้วก็ลงมานั่งเฝ้าหน้าห้องท่าน เพื่อคอยดูแลจัดเสื้อผ้าให้ท่านและรับใช้ท่าน ส่วนเรื่องจดหมายตอนนี้ท่านก็ใช้สถานทูตพิมพ์เฉพาะที่ไม่เป็นความลับ ที่เป็นความลับท่านก็ยังใช้ข้าพเจ้าทำอยู่ กว่าท่านจะตื่นก็ราว ๑๑ โมงเช้า หลายวันติดๆกัน จึงรู้ว่าในยุโรปเขานอนดึกตื่นสายกันโดยมาก

มีอยู่ตอนหนึ่งระหว่างอยู่ที่ปารีสมีเรื่องข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีเข้าสู่ระเบียบวาระของสันนิบาตชาติ ครั้งนั้นยังไม่มีองค์การสหประชาชาติ สันนิบาตชาติ (Loague of Nations) ยังทำหน้าที่รักษาสันติภาพของโลกอยู่ ท่านอาจารย์ก็เข้าไปประชุมสันนิบาตชาติในคณะผู้แทนไทยด้วย ฝ่ายยุโรปและอเมริกันก็รวมหัวกันประณามญี่ปุ่นว่าเข้าไปรังแกครอบงำเกาหลี และชักชวนให้ประเทศสมาชิกอื่นร่วมประณามด้วย แต่ท่านอาจารย์ปรีดีเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นชาติเอเชียด้วยกันจึงไม่ร่วมมือด้วย และได้งดเว้นออกเสียง (abstention) ทำให้ญี่ปุ่นขอบอกขอบใจและซาบซึ้งในมิตรภาพที่ตั้งอยู่บนรากฐานของการเป็นประเทศในทวีปเอเชียด้วยกันเป็นอันมาก

เมื่อใกล้จะถึงเวลาเปิดเทอม ข้าพเจ้าก็ได้กราบลาท่านอาจารย์เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันนี ตอนจากกันท่านอาจารย์และข้าพเจ้าได้ร่ำลากันตามธรรมเนียมสากลซึ่งเป็นการแสดงความรักใคร่สนิทสนมกัน ข้าพเจ้าเรียนรัฐศาสตร์และการหนังสือพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมันนี จบก็พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก่อนประกาศสงคราม นายบุญยรักษ์ เจริญชัยซึ่งเป็นนักเรียนอยู่ฝรั่งเศสได้มาพักอยู่ที่แฟลตของข้าพเจ้าที่ Charlotenburg อังกาบ กนิษฐเสน ซึ่งเป็นหลานของท่านปรีดี และเป็นเพื่อนสนิทของข้าพเจ้า มีเพื่อนๆหลายคนมาร่วมงานรวมทั้งนายบุณยรักษ์ และ ดร.ถวิล คูตระกูล ซึ่งเดินทางมายุโรปโดยเรือคองต์แวร์เดด้วยกัน ดังข้าพเจ้าได้กล่าวถึงในตอนต้นมาแล้วครั้งหนึ่ง

เรารู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดสงครามจึงฉลองกันจนเช้ามืด แล้วข้าพเจ้ากับนายบุณยรักษ์และ ดร.ถวิล ก็ชวนกันจับรถไฟเดินทางจากกรุงเบอร์ลินไปเมืองโลซานน์ (Lausanne) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รถไฟขบวนนั้นแน่นเอี๊ยด เราต้องยืนไปตลอดทาง พอถึงสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้ยินประกาศสงครามทางวิทยุกระจายเสียง จากนั้นเราก็แยกกันไปคนละทิศละทาง ข้าพเจ้าไปเข้าเรียนทางเศรษฐศาสตร์และการคลังต่อที่มหาวิทยาลัยกรุง Bern

สงครามยืดเยื้อและร้ายแรง กระจายกว้างออกไปทุกที ถึงตอนที่เยอรมันนีประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียต ทางที่นักเรียนจะกลับประเทศได้เหลือทางเดียวคือทางผ่านสหภาพโซเวียตไปญี่ปุ่น ข้าพเจ้าสอบได้ Lic. rer. Pol. อยู่ก่อนแล้วจึงรีบทำวิทยานิพนธ์และสอบ Dr.rer. Pol. ได้ก่อนที่รัฐบาลไทยจะได้โทรเลขเรียกให้ข้าพเจ้ากลับทันที รัฐบาลได้จัดให้ข้าพเจ้าพร้อมด้วยนายชอบ คงคากุล นายเผดิม บุนนาค และน้องชายรวม ๔ คน เดินทางกลับโดยรถไฟสายไซบีเรียซึ่งเป็นรถไฟสายที่ยาวที่สุดในโลก เดินทางอยู่ในรถไฟถึง ๑๖ วันแล้วถ่ายรถไฟลงเรือข้ามมาติดอยู่ที่ญี่ปุ่นอีกหลายเดือนเพราะหาเรือเดินทางกลับประเทศไทยังไม่ได้ ญี่ปุ่นก็กำลังจะเข้าทำสงครามโลก ในที่สุดรัฐบาลสามารถจัดให้นักเรียนไทยจำนวนกว่าลสิบคนลงเรือญี่ปุ่น นอนกันกับพื้นเรือทั้งหญิงและชายโดยไม่มีห้องหับ ข้าพเจ้าบังเอิญเป็นไส้ติ่งอักเสบ แต่ไม่มีหมอจะผ่าตัด เลยต้องรอจนถึงกรุงเทพฯ แต่ก็เคราะห์ดีที่การอักเสบนั้นยังไม่รุนแรงถึงกับเป็นหนองไส้แตก


พอถึงบ้านก็รีบไปรับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช ก่อนวันผ่าตัดญี่ปุ่นก็เข้าทำสงครามร่วมกับฝ่ายอักษะและยกพลขึ้นบกตอนกลางคืนของวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ ถึงตอนเช้ามืดของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ตามจุดต่างๆ รวม ๗ จุดคือ บางปู ประจวบคีรีขันธ์ ขุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี สมุทรปราการ และฝ่ายไทยก็กำลังยิงต่อสู้ ข้าพเจ้าก็ได้ทราบข่าวนี้ด้วย และเป็นข่าวที่กระทบใจข้าพเจ้าอย่างรุนแรงทำให้ครุ่นคิดว่ารัฐบาลจะต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการต่อต้าน และข้าพเจ้าจะต้องขอร่วมอุทิศชีวิตเป็นชาติพลีด้วยแน่นอน

แต่ตอนนั้นข้าพเจ้าก็ยังป่วยและกำลังจะรับการผ่าตัดอยู่แล้วจึงยังทำอะไรไม่ได้ หลังจากฟื้นจากการวางยาสลบแล้ว พล.อ.ท นายแพทย์ตระกูล ถาวรเวช แพทย์ผู้ผ่าตัด และนายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน เพื่อสนิทเรียนหนังสือชั้นเดียวกันมาตั้งแต่โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นธุระดูแลข้าพเจ้าอยู่ด้วยได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าเมื่อยังอยู่ในภวังค์ของฤทธิ์ยาสลบแต่เริ่มรู้สึกตัวบ้าง ข้าพเจ้าร้องให้ขอไปรบกับทหารญี่ปุ่น

พอข้าพเจ้าหายแล้วก็ได้ไปรายงานตัวต่อท่านอาจารย์ปรีดี ซึ่งขณะนั้นยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่ แต่กำลังจะต้องออกจากคณะรัฐมนตรีไปรับตำแหน่งใหม่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในตำแหน่งของเจ้าพระยายมราชซึ่งได้ถึงแก่อสัญกรรม ข้าพเจ้าของดเว้นไม่กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องย้ายจากรัฐมนตรีคลังมารับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ข้าพเจ้าจะขอกล่าวแต่เพียงว่าท่านอาจารย์ปรีดีเต็มใจรับตำแหน่งนี้ เนื่องจากต้องการให้พ้นจากการอยู่ในคณะรัฐบาลที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์ในใจที่จะตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ต่อต้านญี่ปุ่นเป็นการลับในกาลต่อไป ซึ่งท่านอาจารย์ปรีดีก็ได้ให้ความไว้วางใจแก่ข้าพเจ้าให้เข้าร่วมงานเสรีไทยนี้ด้วยในสายงานของท่านรัฐมนตรีทวี ตะเวทิกุลโดยให้ข้าพเจ้ามีหน้าที่สร้างกุญแจรหัสถอดและเข้ารหัสความลับติดต่อผ่านหลวงอรรถกิติกำจร อัคราชทูตประจำสวีเดน ซึ่งเป็นน้องชายของท่านปรีดี เพื่อยื่นให้มาดามโคลันโตอัครราชทูตสหภาพโซเวียตประจำสวีเดน ซึ่วจะส่งตรงไปให้รัฐบาลสหภาพโซเวียต และบางเรื่องก็ผ่านหลวงอรรถกิติกำจรติดต่อไปยังรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้าได้ร่วมทำงานเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นจนถึงวันสุดท้ายที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม โดยภายหลังมีนายกำจาย ทิณพงษ์ มาช่วยพิมพ์และเผาเอกสารทุกค่ำที่กระทรวงการต่างประเทศ สมปรารถนาที่ข้าพเจ้าได้เพ้อออกมาเมื่อคลายจากฤทธิ์ยาสลบที่ศิริราชพยาบาลตอนรับการผ่าตัดไส้ติ่ง ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ข้าพเจ้าขอย้อนกลับมากล่าวต่อจากการที่ข้าพเจ้าได้เข้าไปรายงานตัวต่อท่านอาจารย์ปรีดีก่อนที่ท่านจะพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า ท่านได้ส่งข้าพเจ้าไปรับตำแหน่งหัวหน้าแผนกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรมสรรพากร ข้าพเจ้าไม่ใคร่ชอบงานนี้เพราะเป็นงานที่หมิ่นเหม่ต่อการทุจริตกินสินบน ไม่ใช่ข้าพเจ้าไม่ไว้ใจตนเอง แต่ข้าพเจ้ากลัวความมัวหมองจากผู้ร่วมงานที่ทุจริต ข้าพเจ้าจะขอไปอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ท่านอาจารย์ปรีดีก็ยืนยันให้ไปอยู่กรมสรรพากรเพื่อช่วยแก้ไขปัรบปรุงเรื่องภาษีเงินได้ซึ่งเป็นภาษีค่อนข้างใหม่ในตอนนั้น ข้าพเจ้าก็ต้องยอมรับ

ม.จ. วิมวาทิตย์ทรงเป็นอธิบดีกรมสรรพากรในตอนนั้น ท่านเป็นเจ้านายที่น่ารักน่าเคารพมากที่สุดพระองค์หนึ่งเป็นหัวสมัยใหม่ ข้าพเจ้าได้รับการบรรจุตำแห่งให้เป็นข้าราชการพลเรือนชั้นโทและตรี ราคาโดย .พ. ให้ได้รับเงินเดือน ๆ ละ ๒๖๐ บาท ซึ่งเป้นขั้นสูงสำหรับคนเข้าใหม่ เพราะข้าพเจ้าได้รับปริญญาจากมหาหวิทยาลัยเยอรมันและสวิสส์ชั้นดุษฎีบัณฑิต ๒ ปริญญาและเนติบัณฑิตไทยอีกด้วย แต่ข้าพเจ้าไม่ได้รับเงินเดือนอยู่เป็นเวลาถึง ๙ เดือน โดยท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสั่งระงับ เนื่องจากข้าพเจ้าขัดรัฐนิยม โดยข้าพเจ้ามีชื่อ “ขวัญใจ” เป็นชื่อผู้หญิงจะต้องให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนชื่อก่อน ข้าพเจ้าไม่ยอมเปลี่ยนเพราะเป็นชื่อที่สมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้และได้รับพระราชทานเหรียญห้อยคอทองคำลงยาเป็นตัวอักษร ส.ผ. (เสาวภาผ่องศรี) การเปลี่ยนย่อมเป็นการหมิ่นต่อพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ม.จ. วิมวาทิตย์ได้ทรงพระกรุณาวิ่งเต้นเจรจากับท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เอง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ข้าพเจ้าจึงได้ไปเรียนปรึกษาท่านอาจารย์ปรีดี ท่านก็แนะนำให้เปลี่ยนเพราะเป็นการขัดกับ “รัฐนิยม” ซึ่งเป็นเสมือนกฎหมาย และท่านได้เอาส่วนหนึ่งของราชทินนามของท่านตั้งชื่อให้แทนว่า “มนู” ข้าพจ้าจึงได้รับเงินเดือนในเดือนเกือบจะสุดท้ายของปี

ตอนต่อๆมาข้าพเจ้าได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนกฎหมายการคลัง ในคณะบัญชีพาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย จึงพอมีเงินใช้บ้างนิดหน่อยและข้าพเจ้าก็กินอยู่กับบิดามารดา พอสิ้นปีข้าพเจ้าก็ย้ายมาอยู่กระทรวงการต่างประเทศโดย พล.ต. ชัย ประทีปเสน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการขณะนั้นได้เป็นผู้ขอย้ายข้าพเจ้ามาสังกัดกระทรวงนี้ เสด็จในกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ขอให้ข้าพเจ้าทำงานเป็นเลขานุการของพระองค์ท่าน แทน ม.จ.วงศานุวัตร เทวกุล อันเป็นตำแหน่งแรกที่ข้าพเจ้าได้รับในกระทรวงนี้

ในระหว่างที่ข้าพเจ้ารับราชการในกรมสรรพากร ๑ ปี ข้าพเจ้าได้ยึดมั่นอยู่ในความประสงค์ของท่านอาจารย์ปรีดีที่เคารพรักของข้าพเจ้าให้ช่วยแก้ไขปรับปรุงภาษีเงินได้เพราะยังใหม่และมีความบกพร่องอยู่มาก ข้าพเจ้าตรวจสอบพบว่าใบประเมินภาษีที่เรียกว่า ภ.ง.ด. ๙ นั้น ข้าราชการผู้น้อยรับจากผู้ยื่นเสียภาษีลวกๆ ตามชอบใจ นำออกไปนอกกรมติดต่อกับผู้ยื่นเสียภาษีและขู่เรียกค่าปรับจากการยื่นรายการไม่ตรงกับความจริง บางรายก็แนะนำพ่อค้าผู้ยื่นเสียภาษีให้มีบัญชี ๒ เล่ม เล่มจริงเล่มหนึ่งและบัญชีสำหรับให้เจ้าหน้าที่ภาษีตรวจอีกเล่มหนึ่ง ลงรายการไม่ตรงกันและผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง ข้าพเจ้าจึงทูลขอห้องเก็บ ภ.ง.ด. ๙ ต่อท่านอธิบดี ๑ ห้อง มีกุญแจที่จะต้องไข ๒ ดอกพร้อมกัน ข้าพเจ้าเก็บไว้ ๑ ดอก และเจ้าหน้าที่รักษา ภ.ง.ด. ๙ เก็บไว้ ๑ ดอก...

ในสมัยนั้นพวกที่มีอาชีพอิสระ เช่น หมอ ทนายความ ฯลฯ นั้นเขาไม่ยื่น ภ.ง.ด. ๙ แสดงภาษีเงินได้เลยเพราะเขาทราบว่าทางกรมสรรพากรไม่มีทางที่จะเอาหลักฐานมายืนยันได้ว่าเขามีรายได้จากผู้ใดเท่าใด ข้าพเจ้าจึงได้หาทางแก้โดยยกร่างพระราชกฤษฎีกาวางรูปบัญชีให้พวกอาชีพอิสระเช่น หมอและทนายความ ฯลฯ ต้องแสดงบัญชีว่าในระยะปีภาษีที่แล้วมามีรายได้จากบริการที่ทำให้ใครที่ไหน เป็นจำนวนเงินเท่าใด ท่านอธิบดี ม.จ. วิมวาทิตย์ได้ทรงเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีประกาศบังคับใช้ได้ผลเป็นที่พอพระทัยมาก และผู้มีอาชีพอิสระก็ต้องยื่นประเมินเสียภาษีเงินได้ตั้งแต่นั้นมา

ข้าพเจ้าได้กราบเรียนให้ท่านอาจารย์ปรีดีทราบเมื่อข้าพเจ้าพ้นจากหน้าที่ทางกรมสรรพากรว่าข้าพเจ้าได้รับการขอตัวให้ไปทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ในหน้าที่เป็นเลขานุการเสด็จในกรมหมื่นนราธิปฯ ท่านอาจารย์ฯก็ไม่ว่ากระไร ต่อมาไม่นานข้าพเจ้าก็ถูกขอตัวโดยไม่ได้ถามความสมัครใจจากกองบัญชาการทหารสูงสุดให้ไปทำงานในหน้าที่ทางเศรษฐกิจอยู่กรมประสานงานพันธมิตรซึ่งตั้งขึ้นเพื่อประสานงานกับกองทัพญี่ปุ่น กรมนี้มี พล.ต. ชัย ประทีปเสน เป็นเจ้ากรม พ.อ.ม.จ.พิสิษฏ์ดิสพงษ์ ดิสกุล เป็นรองเจ้ากรม ข้าพเจ้านึกว่าท่านจะไม่พอใจแต่ท่านกลับบอกว่า เออดีแล้วจะได้เป็นประโยชน์แก่งานเสรีไทยของเรา แต่ข้าพเจ้าจะให้ใครทราบไม่ได้ว่าทำงานลับของเสรีไทยอยู่ด้วย ทำให้ข้าพเจ้าหนักใจเป็นที่สุด เพราะถ้าความลับรั่วไหลออกไปถึงญี่ปุ่นข้าพเจ้าก็ไม่รอดชีวิตแน่ ในการปฏิบัติหน้าที่ข้าพเจ้าเคยขัดขวางไม่ให้ญี่ปุ่นเรียกเกณฑ์เอาข้าวไปเลี้ยงทหารญี่ปุ่น และจะยังเอาวัวควายไปฆ่าเอาเนื้อเลี้ยงกองทัพอีก โดยแสดงให้ญี่ปุ่นเห็นว่าเราต้องใช้วัวควายไถ่นาเพื่อส่งข้าวให้กองทัพญี่ปุ่น ถ้าญี่ปุ่นจะฆ่าวัวควายเราก็จะไม่มีทั้งข้าวและวัวควายส่งให้ นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังขัดขวางไม่ให้ญี่ปุ่นเอาไม้ไปต่อเรือลำเลียงตามใจชอบ โดยเสนอให้โรงเลื่อยรวมกันเป็นสมาคมและรัฐบาลควบคุมสมาคมโรงเลื่อยอีกชั้นหนึ่ง ให้กรมป่าไม้กักไม้ไว้ที่ปากน้ำโพอีกด้วย ท่าน พล.ต. ชัย ประทีปเสน เป็นผู้ให้การสนับสนุนและชี้แจงแก่ พล.อ.หลวงพรหมโยธีเพื่อให้กองทัพไทยร่วมขัดขวางมิให้กองทัพญี่ปุ่นผลาญทรัพยากรของชาติได้โดยสะดวก

ข้าพเจ้าเห็นว่าทั้งสองฝ่ายคือทั้งรัฐบาลและเสรีไทยก็รับใช้เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งฝ่ายเสรีไทยและฝ่ายรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งทำด้วยผลปัจจุบันและอีกฝ่ายหนึ่งทำเพื่อผลในอนาคต และทั้งสองฝ่ายก็ได้ผลสมมุ่งหมายคือฝ่ายรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามช่วยให้ชาติพ้นจากความพินาศย่อยยับแต่ฝ่ายเสรีไทยช่วยให้ชาติพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม อนึ่งศาลสถิตยุติธรรมของไทยก็ช่วยปกป้องทำให้หัวหน้ารัฐบาลผู้เสี่ยงภัยเพื่อชาติได้รอดพ้นจากการถูกลงโทษเป็นอาชญากรสงครามโดยตัดสินว่า พ.ร.บ. อาชญากรสงครามเป็นโมฆะ ใช้ลงโทษท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามและคนอื่นอีก ๑๐ กว่าคนไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายย้อนหลัง (retroactive)

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ประเทศไทยก็สามารถเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติได้ในสมัยแรกภาค ๒ ด้วยคุณูปการของเสรีไทย ดังปรากฏข้อความตอนหนึ่งในบันทึกลงวันที่ ๑๓ มกราคมม ค.ศ. ๑๙๔๕ ของกรมกิจการแปซิฟิกตะวันออกเฉียงใต้ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาว่า

“ภายในประเทศไทยระบบการปกครองซึ่งแต่แรกได้ยอมจำนนต่อญี่ปุ่นและเป็นผู้ร่วมมืออย่างฉาวโฉ่ ได้ถูกเปลี่ยนโดยระบบการปกครองซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของประดิษฐ์ ผู้ซึ่งได้รับการนับถือสูงสุดในหมู่ผู้นำไทยและปฏิปักษ์ของญี่ปุ่นมาตั้งแต่แรก อเมริกันได้สถาปนาการติดต่อกับประดิษฐ์ผู้ซึ่งช่วยสัมพันธมิตรในงานข่าวอย่างจริงจัง และเป็นผู้ที่ได้แสดงความปรารถนาที่จะให้ประเทศไทยเข้าสู่สงครามต่อต้านญี่ปุ่นและให้กองทัพไทยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพันธมิตร”

นอกจากนี้ยังมีความในบันทึกของกรมกิจการแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้แห่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาลงวันที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เพื่อเตรียมให้ประธานาธิบดี Roosevelt ใช้ในการพบปะสนทนากับ มร. เชอร์ชิลล์ และจอมพลสตาลิน ที่นครยัลต้าของสหภาพโซเวียต ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ เกี่ยวกับสถานภาพภายหน้าของประเทศไทย มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ในทางตรงกันข้าม (กับนโยบายบริติชต่อประเทศไทย) เราไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู หากแต่ถือว่าเป็นประเทศที่ถูกยึดครองโดยศัตรู เรารับรองอัครราชทูตไทยในวอชิงตัน เป็นอัครราชทูตของประเทศไทย มีสถานภาพเช่นเดียวกับอัครราชทูตเดนมาร์ก เราใคร่ให้มีประเทศไทยที่เป็นเอกราช อิสระพร้อมด้วยอธิปไตยที่ไม่ถูกบั่นทอนและปกครองโดยรัฐบาลที่เลือกขึ้นมาเอง ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่ยังคงเป็นเอกราชอยู่ก่อนสงคราม เราเชื่อว่าจะเป็นการทำให้ผลประโยชน์อเมริกันต้องกระทบกระเทือนไปทั่วทั้งเอเชียอาคเนย์ ถ้าหากว่าผลลัพธ์ของสงครามซึ่งเราได้มีบทบาทส่วนใหญ่ในการปราบปรามการรุกรานของญีปุ่นให้พ่ายแพ้ไป จะปรากฏออกมาว่า ประเทศไทยควรจะต้องสูญเสียดินแดนก่อนสงครามส่วนใดส่วนหนึ่งหรือควรจะต้องถูกบั่นทอนสถานภาพที่เป็นเอกราช”

หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว กรมประสานงานพันธมิตรก็เลิกล้มไปพร้อมๆกับเอกสารต่างๆ ในกรมถูกเผาไฟหมด ข้าพเจ้าก็ถูกเรียกกลับกระทรวงในเวลาใกล้ๆกันนั้น รัฐบาลก็ทูลเชิญเสด็จในกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์กลับเข้ามาอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศใหม่อีก โดยให้ทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยพระองค์แรกของประเทศไทยประจำสหรัฐอเมริกา เสด็จในกรมฯ ก็ได้ทรงขอตัวข้าพเจ้าไปทำงานกับท่านที่วอชิงตัน และพอประเทศไทยเข้าเป็นสมาขิกองค์การสหประชาชาติได้แล้ว พระองค์ท่านก็ทรงดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยถาวรประจำสหประชาชาติอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย พระองค์ก็ไม่อาจทิ้งงานทางสถานทูตไปอยู่นิวยอร์กได้ จึงทรงมอบให้ข้าพเจ้าไปก่อตั้งสำนักงานผู้แทนไทยที่กรุงนิวยอร์ก และเป็นแทนสำรองอยู่ที่นั่น พระองค์ท่านจะเสด็จมากรุงนิวยอร์กเป็นครั้งคราวเฉพาะเมื่อมีประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีหรือมีการประชุมที่สำคัญจริงๆ ในระหว่างที่ไม่ใช่สมัยประชุมสมัชชาใหญ่ นับแต่นั้นมาข้าพเจ้าขาดการติดต่อการงานกับท่านอาจารย์ปรีดีมาตลอดจนถึงสมัยที่ท่านและครอบครัวของท่านลี้ภัยการเมืองออกไปอยู่ประเทศจีน

เมื่อท่านออกจากประเทศจีนกลับไปพำนักอยู๋ในชานกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านได้ยื่นเรื่องราวต่อสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีสซึ่งขณะนั้นนายไพโรจน์ ชัยนาม ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอยู่ ขอให้ออกหนังสือเดินทาง (Passport) และหนังสือแสดงการมีชีวิตเพื่อรับบำนาญตามกฎหมาย ท่านเอกอัครราชทูตไพโรจน์ ชัยนาม ไม่กล้าออกให้ จึงเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการฯ ถนัด คอมันตร์ ซึ่งก็ไม่กล้าสั่งการ แต่ได้ตัดสินใจนำเสนอเรื่องเข้าชี้แจงในคณะรัฐมนตรีด้วยตนเอง โดยไม่ได้ผ่านการพิจารณาของข้าพเจ้าซึ่งเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และต้องทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายตามระเบียบก่อน คณะรัฐมนตรีได้มีมติไม่ยอมออกหนังสือเดินทางและหนังสือแสดงการมีชีวิตเพื่อรับบำนาญทั้งสองอย่างให้และยืนยันมติมายังกระทรวงเจ้าของเรื่องโดยหนังสือเลขที่ สร.๐๔๐๒/๗๙๖๐ ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๓ รัฐมนตรีถนัด คอมันตร์ ได้ให้ ม.ล. พีระพงศ์ เกษมศรี เลขานุการนำหนังสือยืนยันมติ ค.ร.ม. นั้นมาให้ข้าพเจ้าพิจารณา

รัฐมนตรีถนัด คอมันตร์ จะนึกผูกมัดข้าพเจ้าให้ต้องยอมรับความถูกต้องของมติด้วยอีกผู้หนึ่ง เพราะได้ข้ามขั้นตอนตามระเบียบไป หรือไม่แน่ใจในข้อกฎหมายที่ตนได้เข้าไปชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างใด ข้าพเจ้าไม่สามารถหยั่งรู้ได้

แม้จะเป็นของแปลกไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนในการที่ให้ข้าราชการชั้นอธิบดีพิจารณามติของคณะรัฐมนตรีอันเป็นหน่วยอำนาจบริหารสูงสุด แต่ข้าพเจ้าก็ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ทั้งเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และเพื่อความเป็นระเบียบของการปฏิบัติราชการอีกทั้งไม่ใช่เป็นความลับอะไรทางราชการ ข้าพเจ้าจึงมีคำสั่งให้ลงทะเบียนรับและพิจารณาเสนอมาตามลำดับขั้น กองกฎหมายก็พิจารณาเสนอความเห็นสนับสนุนมติ ค.ร.ม. ว่าเป็นการชอบแล้วโดยนำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๑/๒๕๐๖ มาเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงว่า ในการขออาชญาบัตรผูกขาดการสำรวจแร่ที่มิใช่แร่เหล็กนั้น แม้ผู้ขอจะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ทุกประการแล้ว เจ้ากระทรวงผู้รักษาพระราชบัญญัติแร่ก็มีอำนาจที่จะออกหรือไม่ออกอาชญาบัตรให้ได้ คำพิพากษาฎีกานี้ย่อมนำมาปรับกับกรณีที่ ค.ร.ม. ไม่อนุญาติให้ออกหนังสือเดินทางและหนังสือแสดงการมีชีวิตทั้ง ๒ อย่างนี้แก่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ได้

ข้าพเจ้าได้ทำบันทึกปะหน้าเรื่องออกความเห็นคัดค้านว่า ความเห็นของกองกฎหมายที่อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานมาปรับกับกรณีของหนังสือสำคัญ ๒ อย่างของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดีนั้น เป็นเรื่องของการขอสิทธิ แต่การปฏิเสธไม่ออกหนังสือสำคัญ ๒ อย่างที่กล่าวให้แก่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์นั้นเป็นเรื่องของการ รอนสิทธิ นัยหนึ่งเป็นการตัดสิทธิที่จะพึงได้รับโดยเท่าเทียมกับคนไทยคนอื่นๆ ย่อมผิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๕ ที่ว่าบุคคลทุกคนย่อมมีความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย และผิด พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญ ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. นี้ต้องออกหนังสือแสดงการมีชีวิตให้แก่ผู้มีสิทธิรับบำนาญที่ต้องมาแสดงตัวทุกปี ส่วนการไม่ยอมออกหนังสือเดินทาง (Passport) ให้แก่รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ก็เป็นการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศเป็นภาคอยู่ด้วย ในข้อ ๑๒(๒) ซึ่งระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะออกจากประเทศใดๆ ไป รวมทั้งประเทศของตนเอง” คำคัดค้านของข้าพเจ้าทำให้คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรต้องยอมจำนน และตกอยู่ในบังคับให้ต้องกลับมติของตนเอง อนุมัตให้ออกหนังสือแสดงการมีชีวิตเพื่อรับบำนาญและหนังสือเดินทาง (Passport) ให้แก่ท่านรัฐบุรษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ดังปรากฏในหนังสือตอบของ ค.ร.ม. ที่ สร. ๐๔๐๒/๘๙๗๒ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๓

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้แปลเป็นไทยเองในเวลาที่ใกล้ๆกันกับที่ข้าพเจ้าได้แปลกฎบัตรสหประชาชาติเพราะทั้ง ๒ เรื่องเป็นกฎหลักมูล (fundamental rules) ของสหประชาชาติ และจำเป็นที่จะต้องให้องค์การต่างๆ ในประเทศไทยและคนไทยที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปน อันเป็นภาษาทำงาน (Working languages) ของสหประชาชาติ ได้ใช้คำแปลภาษาไทยนี้ ทั้งนี้โดยไม่มีใครเรียกร้องหรือใช้ให้ทำและโดยมิได้ขายหรือรับผลประโยชน์ตอบแทนใดๆเลย นอกจากท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี ได้ชมเชยและสั่งให้พิมพ์แจกหน่วยงานราชการและประชาชนเป็นจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม อันเป็นการรับรองคำแปลเป็นทางราชการโดยปริยาย

ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอันมากที่สามารถสนองพระคุณท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้เคยประสิทธิ์ประสาทวิชากฎหมายและการเมืองให้ข้าพเจ้า รับข้าพเจ้าเข้าร่วมการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตั้งแต่เช้ามืดวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ให้ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยเพื่อสนองพระคุณชาติให้พ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงคราม ให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้แสดงภูมิปัญญาและความเด็ดเดี่ยว กล้าคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีอย่างกลับหน้ามือเป็นหลังมืออันไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนเลย ข้าพเจ้าคาดหวังอยู่ล่วงหน้าว่าการคัดค้านอย่างอุกอาจนี้จะกระทบใจคณะรัฐมนตรีอย่างแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้ากระทรวงของข้าพเจ้าเองก็ต้องเสียหน้าอย่างมาก แต่ข้าเจ้าก็ไม่รู้ว่าจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไรในเมื่อเขาเองเป็นผู้เสนอเรื่องโดยข้ามขั้นตอนตามระเบียบและเขาเองเป็นผู้นำเรื่องนั้นกลับมาสู่การพิจารณาของข้าพเจ้าอีกเอง ข้าพเจ้ายอมรับการถูกบั่นทอนอนาคตแต่ไม่ยอมแลกกับการกระทำที่ไม่ถูกต้องและทรยศต่ออาจารย์ปรีดีที่เคารพรักของข้าพเจ้า




อองโตนี ประเทศฝรั่งเศส

วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๔

คุณมนู อมาตยกุล ที่รัก

ได้รับจดหมายของคุณ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ศกนี้ แจ้งว่าได้รับการมาจนครบเกษียณอายุตามกฎหมายในสิ้นปีงบประมาณนี้ ผมมีความยินดีที่ตลอดเวลารับราชการคุณได้อุทิศตนรับใช้ชาติในตำแหน่งหน้าที่หลายประการโดยเรียบร้อยและทำให้บังเกิดคุณประโยชน์หลายประการแก่ชาติและราษฎรไทยอันเป็นที่รักเคารพยิ่งของเรา จึงจขอถือโอกาสนี้อวยพรให้คุณประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลและบำเพ็ญตนรับใช้ชาติต่อไปตามกำลังความสามารถตราบเท่าที่คุณคงมีอายุต่อไปอีกยืนนาน

ผมยังคงจำได้ว่าคุณเป็นศิษย์ที่ดีคนหนึ่งของผมมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ในสมัยที่ผมเป็นผู้สอนที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม นอกจากที่คุณได้ฟังคำสอนที่โรงเรียนแล้วในตอนค่ำคุณก็ได้ร่วมกับเพื่อนนักเรียนกฎหมายอีกหลายคนมารับการอบรมจากผมที่บ้าน ผมได้สังเกตเห็นว่าคุณเป็นผู้หนึ่งที่สนใจในระบบการปกครองของแผ่นดินที่จะให้มีระบบประชาธิปไตยขึ้น ดังนั้นใจตอนเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เมื่อคุณได้รู้ข่าวว่าคณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจรัฐซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะสำเร็จได้แน่นอน คุณก็ได้เสียสละเสี่ยงชีวิตเข้ามาพบผม ณ ห้องชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชกาการชั่วคราวของคณะราษฎรของอาสาร่วมรับใช้ชาติ ผมจึงนำคุณไปรายงานตัวต่อท่านเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนาแล้วก็มอบหมายหน้าที่อยู่ในกองธุรการ คุณได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอยู่ตลอดเวลาที่กองบัญชาการคณะราษฎรตั้งอยู่ในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม ครั้นต่อมาเมื่อกองบัญชาการจะย้ายเข้าไปอยู่ในวังปารุสกวัน คุณได้มาลาผมเพื่อที่จะออกไปศึกษาวิชากฎหมายต่อไปให้สำเร็จ แม้ในทางการคุณจะมิได้ทำงานอย่างใกล้ชิดแต่ในทางส่วนตัวคุณก็ได้ไปมาหาสู่ผมและปวารณาตนที่จะรับใช้เมื่อถึงโอกาส ดังนั้นเมื่อคุณสอบกฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิตและสอบชิงทุนเล่าเรียนในต่างประเทศได้ ผมจึงเลือกเอาคุณทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัว ออกเดินทางไปยุโรปพร้อมกันใน พ.ศ. ๒๔๗๘ คุณก็ได้ช่วยเหลือในกิจธุระส่วนตัวของผมเป็นอย่างดีจนกระทั่งได้ไปถึงยุโรปแล้วได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ และองค์ปัจจุบันซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิศรยศเป็นพระอนุชาธิราช และสมเด็จพระราชชนนี ครั้นแล้วคุณก็ได้เดินทางติดตามผมมาจนถึงประเทศฝรั่งเศสแล้วจึงได้แยกย้ายไปศึกษาในประเทศเยอรมัน

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองภายหลังที่ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองประเทศไทย ขบวนการเสรีไทยซึ่งทำการต่อต้านญีปุ่นได้มีภารกิจหลายอย่าง มีภารกิจอย่างหนี่งซึ่งต้องติดตามเป็นการลับกับทูตบางคนในต่างประเทศ ผมจึงได้มอบหมายให้คุณทำงานภายใต้คุณทวี ตะเวทิกุล ซึ่งได้มอบหมายให้คุณมีหน้าที่โดยเฉพาะเข้ารหัสและออกรหัสลับติดต่อกับหลวงอรรถกิติกำจร (กลึง พนมยงค์)อัครราชทูตไทยประจำกรุงสต้อคโฮล์ม ซึ่งมีหน้าที่ติดต่อกับเอกอัครราชทูตโซเวียต ณ ที่นั้น กลับสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ฯลฯ

โอกาสนี้ ขอขอบใจคุณอีกครั้งหนึ่งในการที่คุณได้ช่วยเหลืองานส่วนรวมของประเทศชาติและธุรกิจส่วนตัวดังได้กล่าวมาแล้ว

ผมจำได้ว่าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศรัฐนิยมให้ผู้มีชื่อที่รัฐนิยมเห็นว่าอ่อนโยนเป็นผู้หญิงเปลี่ยนมาใช้ชื่อที่รัฐนิยมนั้นเห็นว่าเข้าลักษณะผู้ชาย คุณจึงได้มาหาผมขอให้ตั้งชื่อให้ใหม่แทนชื่อเดิม “ขวัญใจ” ผมจึงได้ตั้งชื่อใหม่ของคุณว่า “มนู” โดยชี้แจงแก่คุณด้วยว่าผมเอาส่วนหนึ่งแห่งบรรดาศักดิ์เดิมของผม “ประดิษฐ์มนูธรรม” มาตั้งให้

ด้วยความรักจากอาจารย์
ปรีดี พนมยงค์


*เกี่ยวกับผู้เขียน

ศาสตราจารย์ ดร.มนู อมาตยกุล

เนติบัณฑิตไทย ปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์และการหนังสือพิมพ์จากมหาวิทยาลัยกรุงเบอร์ลิน และ ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์และการคลังจากมหาวิทยาลัยกรุงเบอร์น

ท่านเกษียรณอายุในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ในตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงริโอ เด จานิโร ประเทศบราซิล ก่อนหน้านั้นท่านเคยเป็นเอกอัครราชทูต ผู้แทนประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก อธิบดีกรมสหประชาชาติ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เอกอัครราชทุต ณ กรุงมาดริด อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และเป็นผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศ สหภาพรัฐสภาและสันนิบาตสมาคมประชาชาติแห่งโลก ที่ศาลาสันติธรรม เป็นครั้งแรก

ท่านเป็นน้องชายของ ศาสตราจารย์ ดร.นวลนาฏ อมาตยกุล