Monday, November 3, 2008

บทความที่๔๒๘.รบทำไมและรบเพื่อใคร?ตอนที่๖

รบทำไม?และรบเพื่อใคร?

บทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล

ตอนที่ ๖.

ภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งเบิกโรงด้วยการใช้เครื่องจักรไอน้ำในงามอุตสาหกรรมและเครื่องจักรไฟฟ้าในเวลาต่อมา โรงงานอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโรงแล้วโรงเล่า พร้อมกันนั้นก็ได้กวาดต้อนเอาพวกไพร่เข้ามาสู่โรงงาน และกลายเป็นชนชั้นใหม่ขึ้นมาเรียกว่า ชนชั้นกรรมาชีพ การเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมได้ทำมากขึ้นๆ ซึ่งนั่นก็หมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของบรรดาเหล่านายทุนทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกัน ความยากจนค่นแค้นก็ยังแผ่ปกคลุมไปทั่วชนชั้นกรรมาชีพที่ได้พัฒนามาจากไพร่โดยทั่วไป เช่นเดียวกับความยากจนค่นแค้นแสนสาหัส ที่บรรพบุรุษพวกเขาเคยได้พบมาในยุคศักดินาและยุคทาสนั้นเอง

 

นั่นก็คือในสังคมทุนนิยม ก็เช่นเดียวกับสังคมศักดินาและสังคมครองทาส ที่ได้แบ่งคนในสังคมเดียวกันออกเป็นสองชนชั้น คือชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีดกับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีด


ในสังคมครองทาส เป็นการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้นนายทาสกับชนชั้นทาส ในสังคมศักดินา เป็นการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้นเจ้าศักดินากับชนชั้นไพร่

 

ในสังคมทุนนิยม เป็นการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั่วไป โดยเฉพาะกับชนชั้นกรรมาชีพนอกโรงงาน กสิกร และผู้ขายแรงงานทางสมอง เช่น ข้าราชการ นักวิชาการ และเสมียนพนักงาน เป็นต้น

 

ถึงแม้ว่ารูปแบบในการกดขี่ขูดรีด จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบของระบบสังคม แต่เนื้อหาของมันก็อย่างเดียวกัน คือ การกดขี่ร่างกายจิตใจและขูดรีดแรงงาน ในสังคมครองทาสและศักดินา การกดขี่ร่างกายจิตใจและขูดรีดแรงงานเป็นไปอย่างซึ่งหน้าตรงไปตรงมาเห็นได้ง่าย แต่การกดขี่และขูดรีดในยุคทุนนิยมเป็นไปอย่างสลับซับซ้อนและมีเงื่อนงำเห็นได้ยาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะซ่อนเร้นปิดบังได้ตลอดไป โดยเฉพาะไม่สามารถซ่อนเร้นปิดบังชนชั้นกรรมาชีพได้อย่างแน่นอน เพราะชนชั้นกรรมาชีพเป็นผู้รับผลกระทบกระเทือนจากการขูดรีดของระบบทุนนิยมโดยตรง กล่าวคือ พวกเขาต้องทำงานมากชั่วโมงเกินไปกว่าความจำเป็นที่เขาจะต้องทำเพื่อการดำรงชีพ แล้วนายจ้างก็ฮุบเอาค่าที่เขาได้ใช้เวลาทำงานเกินไปจากส่วนอันจำเป็นแก่การดำรงชีพ ซึ่งเรียกว่า มูลค่าส่วนเกิน ไปเป็นของนายจ้างเสียเอง มูลค่าส่วนเกิน ก็คือแรงงานของคนงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งผู้ขายแรงงานตามโรงงานทั้งหลายได้ประจักษ์กับตัวเขาเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

นายทุนได้ใช้ส่วนหนึ่งของมูลค่าส่วนเกินที่คนงานทั้งหมดผลิตได้ เป็นค่าครองชีพอันฟุ่มเฟือยสุขสำราญของเขา และใช้ส่วนที่เหลือเป็นทุนก้อนใหม่ผนวกเข้ากับเงินทุนเดิม กล่าวคือ เขาได้ผลักส่วนที่เหลือนี้สมทบเข้ากับกองทุนเดิม ผลจากการเพิ่มทุนนี้จะปรากฏออกมาในรูปที่ว่า นายทุนสามารถจะขยายงานและจ้างคนงานมาทำงานได้มากขึ้น และคนงานจำนวนมากขึ้นจะผลิต มูลค่าส่วนเกิน ให้แก่นายทุนมากขึ้น ซึ่งนายทุนก็จะนำไปเพิ่มพูนกองทุนของเขาให้ทับทวียิ่งขึ้นเป็นลำดับ

1 comment:

rita said...

จาริกบุญ จารึกธรรม ไฟล์ PDF หนังสือที่พระพรหมคุณาภรณ์บันทึกเสียงและถอดความออกเป็นหนังสือ เมื่อคราวที่เดินทางไปอินเดียในปี 2538 เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์พุทธศาสนา น่าอ่านเป็นความรู้ครับ http://www.watnyanaves.net/books/pdf/jarikboon.pdf


ขอบคุณนะคะ