Tuesday, February 26, 2008

บทความที่๓๔๙.การต้อนรับของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน (จบ)

การต้อนรับของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๓-
หลีเค่อหนุงและสหายจีนหลายคนได้พาเรามายังบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนซื้อมาจากเอกชน และจัดไว้สำหรับต้อนรับเรา (ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเคารพในกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่อยู่ในเมือง ในบทต่อๆไป)

สหายคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการให้ความสะดวกแก่เรา ส่วนอีก ๒ คนช่วยเราเกี่ยวกับงานบ้าน และมีทหารหน่วยหนึ่งคอยอารักขาคุ้มกันด้วย นอกจากนี้ก็มีล่ามไทย จีน(เป็นลูกจีนโพ้นทะเลที่เกิดในสยาม)พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดรถยนต์พร้อมคนขับมาบริการ เพื่อให้เราไปไหนมาไหนได้สะดวก

ในสมัยนั้นยังไม่มีองค์การทางด้านวิเทศสัมพันธ์ที่จะทำหน้าที่ต้อนรับแขกชาวต่างประเทศ ดังนั้นถ้าเป็นแขกชาวต่างประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะคอยต้อนรับ ส่วนเรา(ซึ่งไม่ใช่คอมมิวนิสต์)นั้น องค์การแนวร่วมจะเป็นฝ่ายให้การต้อนรับเรา และต่อมา เมื่อทางการจีนจัดตั้งองค์การวิเทศสัมพันธ์แล้ว จึงให้องค์การนี้ทำหน้าที่ดูแลและให้ความสะดวก

หลีเวยฮั่น (Li Wai-Han หรือ Li Wei-han) เป็นผู้รับผิดชอบองค์การแนวร่วม เคยร่วมมือกับประธานเหมาฯ ในการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ อนึ่ง ก่อนหน้านี้เขาเคยไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา ๔ ปี

-๔-
ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ เมื่อภรรยาข้าพเจ้าได้รับการปล่อยตัวจากการถูกควบคุมตัวโดยสันติบาลแล้ว ก็ได้ออกจากกรุงเทพฯ ไปยังกรุงปารีสพร้อมบุตร ๒ คนคือดุษฎีและวาณีเพื่อเตรียมเดินทางมายังประเทศจีนอย่างลับๆ ในการนี้ข้าพเจ้าจึงได้ขอให้นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลเพื่อมิให้ทิ้งร่อยรอยใดๆ ภรรยาและบุตรสาวข้าพเจ้าไปแวะที่สต็อคโฮล์มก่อน สถานเอกอัครราชทูตจีนคอยช่วยเหลือเกี่ยวกับการเดินทางต่อไปจากสต๊อคโฮล์ม

ทั้งสามเดินทางต่อไปยังเฮลซิงกิ มอสโคว จากมอสโควได้ใช้เส้นทางสายทรานส์ไซบีเรีย เข้ามายังประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีน ผ่านทางชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน (คือทางแมนจูเรีย)

รัฐบาลจีนได้จัดเตรียมบ้านอีกหลังหนึ่งให้ครอบครัวของเรา ต่อมาบุตรชายคนหนึ่งของข้าพเจ้าคือ ศุขปรีดี ได้มาอยู่ร่วมกัน

-๕-
ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ข้าพเจ้าขอย้ายไปอยู่กวางโจว โดยนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลได้ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ทางกวางโจวได้ต้อนรับอำนวยความสะดวก ส่วนสุดาบุตรสาวข้าพเจ้า ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาที่ปารีส ได้แวะมาเยี่ยมเรา ๒-๓ สัปดาห์ ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ แต่การณ์กลับผิดคาด สุดาไม่อาจออกจากประเทศจีนได้ เนื่องจากในระหว่างนั้น จอมพลสฤษดิ์ฯ ได้ออกหมายจับทุกคนที่เดินทางไปประเทศจีน ในจำนวนนั้น มีภรรยาและบุตรข้าพเจ้าอยู่ด้วย

ที่กวางโจว แรกทีเดียวทางการจีนจัดให้เราพักในบริเวณที่พักผู้เชี่ยวชาญโซเวียตและยุโรปตะวันออก ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มาจากประเทศจีนในฐานะที่ปรึกษาทางเทคนิค ทางวิชาการและทางอุตสาหกรรม ต่อมา เราได้ย้ายที่พักอีก ๒ ครั้ง

ช่วงที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในประเทศจีนนั้น รัฐบาลจีนอำนวยความสะดวกให้ข้าพเจ้าได้ฟังวิทยุจากทุกสถานีในโลก ได้อ่านหนังสือพิมพ์ และวารสารไทย อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ทำให้ข้าพเจ้าได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับประเทศต่างๆ และข่าวคราวจากเมืองไทยด้วย นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังอนุญาตให้ข้าพเจ้าเดินทางไปชมทั่วประเทศจีน ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนมณฑลต่างๆ ยกเว้นทิเบตและซินเกียง เนื่องจากโอกาสไม่อำนวย แต่ข้าพเจ้าได้ชมโรงงานและชนบทในแถบต่างๆ ก่อนที่จะมีการก่อตั้งสหกรณ์ ซึ่งต่อมาเป็นคอมมูนของประชาชน ซึ่งข้าพเจ้ายังได้ไปชมอีกบ่อยๆ

มีหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับประเทศจีน ที่หนังสือที่ผู้เขียนมักจะเล่าเรื่องราวที่ตนได้พบเห็นหรือได้ฟังมา สำหรับหนังสือของข้าพเจ้า ในส่วนที่ข้าพเจ้าจะได้เล่าถึงการพำนักอยู่ในประเทศจีนนั้น ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงแต่สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นเอง พร้อมข้อสังเกตส่วนตัวบางประการของข้าพเจ้า
จบบทความ "ชีวิตที่ผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน"

บทความที่๓๔๘.การต้อนรับของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน (๒)

การต้อนรับของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๒-
ข้าพเจ้าอยู่ในเมืองชิงเต่า ๓ วัน ต่อจากนั้นได้ขึ้นรถไฟไปยังเมืองจี้หนาน (เมืองหลวงของมณฑลชานตุง)พร้อมกับเจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ ๑ คน จากจี้หนาน เราได้ขึ้นรถไฟต่อไปกรุงปักกิ่ง


ตามปกติระยะทางจากชิงเต่าถึงจี้หนานโดยทางรถไฟนั้นใช้เวลาประมาณ ๕ ช.ม.เท่านั้น แต่ในยุคนั้นใช้เวลาถึง ๑๘ ช.ม. เพราะทางรถไฟและสะพานต่างๆ ถูกทำลายไปในระหว่างสงครามกลางเมือง จึงต้องซ่อมทางรถไฟและสะพานชั่วคราวขึ้นใหม่ ซึ่งทำให้การเดินทางใช้เวลานานไปอีก

ที่สถานีจี้หนาน สหายหลีกวนอี้ (Li Kuan-Yi) เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งมณฑลชานตุงได้มาต้อนรับเรา และพามาพักยังที่พัก ซึ่งได้จัดไว้สำหรับแขกทางราชการโดยเฉพาะ วันรุ่นขึ้น คั้งเซิ้ง (Kang Sheng) ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลชานตุงในขณะนั้น ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันเป็นเกียรติแก่เรา คั้งเซิ้งเป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดกับประธานเหมาฯคนหนึ่งในระหว่างสงครามสู้รบกับญี่ปุ่นและสงครามปลดปล่อย เขาเคยศึกษาอยู่ในสหภาพโซเวียต

ระหว่างการอภิวัฒน์วัฒนธรรมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ คั้งเซิ้งได้เลื่อนขึ้นอยู่ในอันดับ ๕ ในคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อจากเหมาเจ๋อตง หลินเปียว โจวเอินไหล และเฉินโป๋ต๋า (Chen Po-ta)

ในระหว่างที่เราสนทนากันนั้น เขาได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่ากว่าจะปลดปล่อยมณฑลชานตุง ได้มีการสู้รบครั้งสำคัญๆหลายครั้งทั่วทั้งมณฑล ยกเว้นที่ชิงเต่า ระหว่างกองทัพราษฎรจีนกับกองทัพจีนคณะชาติ กองทัพจีนคณะชาติได้อาวุธที่ทันสมัยจากสหรัฐอเมริกา แต่กองทัพราษฎรจีนสามารถยึดมาได้ทั้งหมด เมื่อได้ชัยชนะและได้เอาไว้ใช้ในการรณรงค์สู้รบครั้งต่อๆ ไป เขาได้อ้างคำกล่าวของประธานเหมาฯ ว่า “พรรคก๊กมิ่นตั๋ง (พรรคจีนคณะชาติ)เป็นผู้จัดหาอาวุธให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เยี่ยมที่สุด”

เราพักอยู่ที่จี้หนาน ๒ วัน แล้วขึ้นรถไฟต่อไปยังปักกิ่ง เมื่อเรามาถึงสถานีรถไฟ สหายชาวจีนหลายคนได้มาต้อนรับเช่น หลีเค่อหนุง (Li Ke-nung) ผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหลียวเฉิงจื้อ (Liao Cheng chi หรือ Liao Cheng-Zhi) เฉียวกวนหัว (Chiao Kuan-hua หรือ Qiao Guan-hua) หลีจี้ซิน (Li Chi-sin หรือ LI Ji-sin) เป็นต้น หลีเค่อหนุงได้รับการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสและเยอรมันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อตั้งรัฐบาลสาธารณราษฎรจีนแล้ว เขาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนเหลียวเฉิงจื้อเป็นบุตรชายคนเดียวของเหลียวจงไข่ (Liao Cheng-kai หรือ Liao Zhong-kai) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของซุนยัดเซ็น ผู้นำขบวนการอภิวัฒน์ชนชั้นเจ้าสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๕๔

เหลียวเฉิงจื้อเกิดในประเทศญี่ปุ่น เริ่มศึกษาที่ญี่ปุ่น และได้ไปศึกษาต่อในยุโรปตะวันตก(เยอรมัน ฝรั่งเศส)หลังการสถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีน เขาได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวกับกิจการต่างๆของชาวจีนโพ้นทะเล สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน องค์การสันติภาพ ฯลฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ส่วนเฉียวกวนหัวศึกษาที่ประเทศเยอรมัน ขณะนี้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เคยเป็นผู้แทนของจีนเข้าร่วมประชุมที่สหประชาชาติ ภายหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การโลกนี้แล้ว

และหลีจี้ซิน คอมมิวนิสต์จีนที่ได้ลี้ภัยมายังประเทศสยามก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้กลับประเทศจีน ๓ เดือนก่อนที่เราจะเดินทางไปถึงปักกิ่ง เขาได้ทำงานในองค์การแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

Monday, February 25, 2008

บทความที่๓๔๗.การต้อนรับของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน (๑)

การต้อนรับของรัฐบาลสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์

-๑-

สหายหม่า ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองชิงเต่า ได้เชิญข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ไปร่วมรับประทานอาหารเย็นที่ศาลาเทศบาล

มีผู้อธิบายให้เราฟังว่า เมืองนี้ได้รับการปลดปล่อยอย่างไร กล่าวคือ กองทหารนาวิกโยธินอเมริกัน ซึ่งอำนวยการป้องกันการขนส่งอาวุธจากอเมริกันมาให้จีนคณะชาติ ได้ถอนกำลังออกไปในทันทีที่กองทัพราษฎรจีนได้เคลื่อนทัพเข้ามาใกล้ตัวเมือง ทหารจีนคณะชาติที่รักษาการณ์อยู่ที่ท่าเรือและตัวเมืองชิงเต่า มิได้ต่อต้านกองทัพราษฎรจีนแต่อย่างใด กลับยอมแพ้อย่างง่ายดายและส่งมอบอาวุธต่างๆ ที่ได้รับจากกองทัพอเมริกันให้รับกองทัพราษฎรจีน

เราได้เยี่ยมชมโรงงาน วัดพุทธศาสนาหลายแห่ง และสถานีอุตุนิยมวิทยา สนามกีฬา ฯลฯ ซึ่งมิได้ถูกทำลาย ข้าพเจ้าสังเกตเห็นธงชาติอังกฤษโบกอยู่เหนืออาคารแห่งหนึ่ง และธงชาติอเมริกันอยู่เหนืออาคารอีกแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงได้ถามสหายคอมมิวนิสต์ที่เป็นมัคคุเทศน์ว่า ทำไมจึงชักธงของทั้ง ๒ ชาติไว้ที่นี่ มัคคุเทศน์ได้อธิบายว่า ในเมืองนี้ สถานกงสุลอังกฤษและอเมริกันยังคงตั้งอยู่ได้ ข้าพเจ้าจึงสรุปได้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นดำเนินนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศที่มีระบอบการปกครองและสังคมที่ต่างไปจากประเทศจีน เมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศใดที่เคยลังเลหรือลังเลใจอยู่ในเรื่องการรับรองของประเทศจีนนั้น น่าจะพยายามดำเนินนโยบายเดียวกันนี้

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๙ รัฐบาลจอมพลพิบูลฯ ได้ส่งผู้แทนมาประเทศจีนเป็นการลับ เพื่อริเริ่มความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐราษฎรจีน ข้าพเจ้าจึงทราบว่า สมมติฐานของข้าพเจ้านั้นตรงกับความเป็นจริง อันที่จริงแล้วนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลเคยบอกกับข้าพเจ้าว่า ท่านเพียงหวังให้ประเทศไทยอยู่ร่วมกับประเทศจีนอย่างสันติ โดยไม่ต้องตัดความสัมพันธ์กับอเมริกา นายกรัฐมนตรีกล่าวเสริมอีกด้วยว่า ประเทศจีนเองปรารถนาที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา แต่ฝ่ายสหรัฐเองกลับปฏิเสธ

บทความที่๓๔๖.การหลบหนีไปยังจีนหนที่๒ ตอนที่๔(จบ)

การผจญภัยระหว่างการหลบหนีออกจากสยามครั้งที่ ๒ ไปยังสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๔-

เมื่อเห็นว่า แผนการเดินทางครั้งนี้อาจล้มเหลว หากยังขนสินค้าต่างๆ ขึ้นเรืออยู่อีก ตัวแทนอีกคนหนึ่งจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งรับผิดชอบการเดินทางของเรา และผู้รักประชาธิปไตยชาวจีนทั้งหมดในเรือ จึงได้ขอให้กัปตันเรือถอนสมอออกจากท่าเรือฮ่องกงโดยเร็วที่สุด โดยทิ้งสินค้าที่เหลือไว้ลงเรืออีกลำหนึ่ง ซึ่งจะมาในวันรุ่งขึ้น ดังนี้ เรือของเราจึงออกจากท่าเรือฮ่องกงบ่ายวันเดียวกันโดยไม่คำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศ

กัปตันเรือได้กำชับเราว่า ในกรณีที่เรือรบจีนคณะชาติตรวจตรา เราจะต้องบอกว่า เดินทางไปเกาหลีใต้ มิใช่ไปดินแดนที่จีนอยู่ภายใต้การควบคุมของคอมมิวนิสต์

เมื่อเรือของเราแล่นออกไปนอกน่านน้ำฮ่องกง กัปตันก็ได้รับการติดต่อทางวิทยุแจ้งว่าจะมีพายุใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายดังกล่าว กัปตันจึงต้องนำเรือฝ่าออกไปทันทียังบริเวณระหว่างเกาะเล็กๆ กับชายฝั่งทะเลจีน ซึ่งยังคงถูกจีนคณะชาติยึดครองไว้ เราต้องอยู่ที่นั่นราว ๒๔ ชั่วโมง ก่อนเดินทางต่อไป

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่เดินทางมาเข้าเขตทะเลจีน ข้าพเจ้ามองเห็นจุดดำเป็นรูปเรือลำหนึ่งอยู่ทางขอบฟ้า และกำลังมุ่งหน้ามาทางเรือของเรา กัปตันได้แจ้งให้ผู้โดยสารทุกคนทราบว่า จะต้องเตรียมพร้อมที่จะถูกตรวจตราโดยเรือของฝ่ายจีนคณะชาติ ด้วยเหตุนี้คนที่เอกสารหรือหนังสือสำคัญที่ฝ่ายจีนคณะชาติอาจถือเป็นข้อสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จะต้องรีบทำลายหลักฐานเหล่านั้นทันที ไม่เช่นนั้นผู้ที่ถือเอกสารเหล่านั้นอาจถูกจับกุมและนำตัวไปยังไต้หวัน ผู้โดยสารหลายคนจึงเผาเอกสารของตนที่เตาเครื่องจักรไอน้ำในเรือ

แต่เราไม่ทำเช่นนั้นเพราะคิดว่า ในกรณีที่มีการตรวจสอบเราจะแสดงหนังสือเดินทางของสยามโดยชี้แจงว่า เราจะเดินทางไปอินซอล-เกาหลีใต้ ไม่ได้ไปดินแดนจีนภายใต้การยึดครองของคอมมิวนิสต์

เรือรบลำนั้นแล่นใกล้เรือของเราเข้ามาทุกที ขณะที่อยู่ห่าง ๔๐๐ เมตร เรามองเห็นธงอังกฤษที่ข้างเรือ เจ้าหน้าที่ในเรือลำนั้นประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า เขาตรวจตราแถบนี้อยู่เพื่อคุ้มกันเรือพาณิชย์ของอังกฤษ และถ้าเรือของเราถูกตรวจจับโดยเรือลาดตระเวนของฝ่ายจีนคณะชาติ เราจะแจ้งให้เขาทราบทันทีทางวิทยุ เพื่อว่าเขาจะได้มาช่วยเรา ทุกคนรู้สึกโล่งใจ แต่ศาสตราจารย์ชาวจีนฮ่องกงผู้หนึ่ง ได้แสดงความเสียดายกับข้าพเจ้าที่เขาได้รีบร้อนเผาเอกสารมีค่า ซึ่งในนั้นมีบันทึกประจำวันที่เขาเขียนไว้ตั้งแต่เด็กหลายเล่ม

เช้าวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๒ เรือของเราแล่นเทียบท่าเรือชิงเต่า เจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ประจำท่าเรือได้ลงมาในเรือให้การต้อนรับผู้เดินทางทุกคน หลังจากเสร็จสิ้นพิธีตรวจคนเข้าเมืองแล้ว เรือของเราก็ทอดสมออยู่ที่ท่าเรือนั้น ชาวจีนอื่นๆที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองของราษฎรจีน พากันรีบเดินทางต่อไปโดยทางรถไฟ เพื่อไปให้ถึงปักกิ่งทันการเปิดประชุมในวันที่ ๒๑ กันยายน

ส่วนพวกเราได้ไปเยือนตัวเมืองที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยตามคำเชิญของ “สหายหม่า” (นายกเทศมนตรีแห่งชิงเต่า)ซึ่งเขาจัดให้เราพักในโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองนั้น

Sunday, February 24, 2008

บทความที่๓๔๕.การหลบหนีไปยังจีนหนที่๒ ตอนที่๓

การผจญภัยระหว่างการหลบหนีออกจากสยามครั้งที่ ๒ ไปยังสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๓-

ที่ฮ่องกง ตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ส่งชาวจีนโพ้นทะเลชื่อ ซุน มาต้อนรับ เพื่อร่วมเดินทางกับเราไปจนถึงเมืองปักกิ่ง ซุน เป็นน้องชายของเหลียง อดีตนายทหารก๊กมินตั๋ง ซึ่งรัฐบาลจีนคณะชาติได้มอบหมายหน้าที่ให้รับรองคณะผู้แทนเสรีไทยที่ส่งไปจุงกิงระหว่างสงคราม อันที่จริง เหลียงเป็นเพียงผู้ฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเราได้กล่าวถึงแล้วในตอนที่ ๖ ของบทที่ ๔

เราพักอยู่ในอพาร์ตเมนท์ที่นายสงวน ตุลารักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตเช่าไว้ ณ ที่นี้ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยพำนักอยู่ภายหลังที่การก่อการเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ประสบความล้มเหลว

เช้าวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๒ เพื่อน ๔ คนและข้าพเจ้าลงเรือเดินทะเลที่มีระวางขับน้ำ ๓,๐๐๐ ตัน เรือลำนี้เป็นของพ่อค้าชาวจีน แต่จดทะเบียนเป็นเรืออังกฤษ เพื่อป้องกันมิให้เรือของจีนคณะชาติยึดเรือลำนี้ เจ้าหน้าที่อังกฤษจึงออกใบรับรองของท่าเรือให้ โดยระบุว่าเมืองท่าปลายทางของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่อินซอนในเกาหลีใต้

ผู้ร่วมเดินทางคนอื่นๆ ได้แก่ ผู้รักประชาธิปไตยชาวจีนจากฮ่องกง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเชิญให้เข้าร่วมประชุมที่สภาที่ปรึกษาการเมืองของราษฎรจีน ก็ทยอยลงเรือลำเดียวกันนี้

ผู้เดินทางบางคนก็รู้วิธีที่จะตกลงกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ส่วนเรานั้นได้ยอมให้ศุลการักษ์และกองตรวจคนเข้าเมืองของอังกฤษค้นกระเป๋าของเราที่ห้องพักผู้โดยสาร โดยคิดว่าศุลการักษ์ที่ฮ่องกงไม่กล้าฉวยโอกาสต่อหน้าผู้บังคับบัญชาชาวอังกฤษ ศุลการักษ์รื้อข้าวของของเรากระจุยกระจาย และเมื่อเขาออกจากห้องพักผู้โดยสาร เราก็พบว่า ยาที่หายากและมีราคาแพงมากในสมัยนั้น ซึ่งเราซื้อไว้เพื่อใช้ในระหว่างพำนักอยู่ในจีน ได้อันตธานไปเสียแล้ว

ศุลการักษ์ไม่เพียงขโมยยาที่มีค่าของเราไปเท่านั้น ซ้ำยังขู่จะฟ้องกองตรวจคนเข้าเมืองว่า สงสัยเราจะเป็นคอมมิวนิสต์ ยกเว้นเราจะจ่ายเงินให้พวกเขาคนละ ๕๐๐ เหรียญฮ่องกง ซุนจึงต้องติดต่อกับตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อจัดการให้เป็นที่พอใจแก่คนเหล่านั้น ชาวจีนฮ่องกงซึ่งโดยสารมาในเรือลำเดียวกันกับข้าพเจ้า ได้เล่าให้ฟัง มีกรณีมากมายเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการอังกฤษในอาณานิคมแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนกตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร เงินที่ต้องจ่ายให้ข้าราชการเหล่านี้เรียกกันว่า “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ต่อมาเมื่อรัฐบาลอังกฤษในฮ่องกงจัดให้มีการออกล็อตตารี่ขึ้นในอาณานิคมแห่งนี้ เพื่อนๆที่เคยอยู่ที่นั่นเล่าว่า เป็นที่รู้กันดีว่า ฮ่องกงนั้น ใครถูกล็อตตารี่รางวัลใหญ่ เขาอาจขายสลากล็อตตารี่ให้กับนายหน้าของข้าราชการที่ฉ้อฉลเหล่านี้ ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาในฉลาก ตัวอย่างเช่นถ้าเขาถูกรางวัลที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๑ ล้านเหรียญฮ่องกง เขาอาจขายฉลากของเขาได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ เหรียญฮ่องกง ข้าราชการเหล่านี้ จะซื้อสลากที่ถูกรางวัลเอาไว้ เพื่อแสดงว่าเขาได้รับเงินมาโดยชอบธรรม แล้วจะได้โอนเงินไปยังประเทศอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อว่า ทางการอังกฤษจะไม่ดำเนินคดีต่อเขา ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง

ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องการเดินทางต่อ ก่อนที่จะออกจากท่าเรือฮ่องกง หลังจากจ่ายค่า “น้ำร้อนน้ำชา” สักครู่หนึ่งมีชาวจีน ๒ คนเข้ามาในเรือ บังคับให้ซุนมอบตัวต่อกองตรวจคนเข้าเมือง และขู่ว่าจะไม่สามารถเดินทางได้อีกต่อไป นอกจากจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับพวกเขา ซุนจึงให้เงินทั้งหมดที่เหลืออยู่ในกระเป๋าไป แต่อันธพาล ๒ คนก็ยังไม่พอใจ ซุนจึงต้องให้พวกนั้นค้นเสื้อผ้าของเขา และขอร้องอย่าเอาเงินไปหมด โดยเหลือไว้สำหรับซื้อ “น้ำร้อนน้ำชา” คราวต่อไปในระหว่างเดินทาง

บทความที่๓๔๔.การหลบหนีไปยังจีนหนที่๒ ตอนที่๒

การผจญภัยระหว่างการหลบหนีออกจากสยามครั้งที่ ๒ ไปยังสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๒-
วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๒ เวลา ๑๘.๐๐ น. เราพากันลงเรือประมงเล็กๆนั้น เราเลือกเดินทางเวลานี้ ก็เพื่อให้มาถึงด่านศุลกากรด่านแรกตอนค่ำก่อนด่านปิดไม่กี่นาที ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ต้องเสี่ยงต่อการตรวจอย่างละเอียดลออ วิธีการนี้ได้ผลดี เราผ่านไปได้อย่างง่ายดาย เรือประมงลำเล็กแล่นออกไปถึงป้อมพระจุลฯ ซึ่งเรือตอร์ปิโดของรัฐบาลจอดอยู่ เพื่อตรวจตราบรรดาเรือต่างๆ กัปตันนำเรือประมงเข้าหาเรือตอร์ปิโดอย่างใจเย็น และนายทหารชั้นประทวน ๒ คนก็ลงมาตรวจเรือ เมื่อเขาไม่พบสิ่งใดผิดปกติเกี่ยวกับสินค้าหนีภาษี ผู้บังคับการจึงสั่งให้ปล่อยเรือของเราผ่านไปได้ เราจึงเดินทางแล่นเลียบชายฝั่ง มุ่งหน้าเดินทางต่อไปทางใต้

ตามกฎหมายของสยาม ไม่อนุญาตให้เรือหาปลาที่มีระวางขับน้ำน้อยกว่า ๕ ตันและจดทะเบียนในกรุงเทพฯ แล่นออกไปไกลเกินกว่า ๒๕๐ กม.จากชายฝั่งทะเลตอนใต้ แต่เราจำต้องละเมิดกฎหมาย เพื่อเดินทางออกไปไกลกว่า ๑,๕๐๐ กม. เพื่อการนี้เราจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงจากตรวจจับจากเรือลาดตระเวน

เช้าวันหนึ่งขณะที่เราเดินทางออกห่างกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐๐ กม.เบื้องหน้าเรา ข้าพเจ้าแลเห็นเรือรบหลวงลำหนึ่งจอดอยู่ปากแม่น้ำสายเล็กๆ ทางชายฝั่ง ในสถานการณ์เช่นนั้น เรารู้สึกลำบากใจมาก ถ้าเราเดินทางต่อไปจะต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลจับกุมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าเรากลับทางทิศเหนือ เรือรบลำนั้นก็อาจสงสัยและยิงใส่ได้ ใน ๒ กรณีนี้เราต้องเสี่ยงต่อการถูกเรือรบจับกุม แต่โชคดีราวปาฏิหาริย์ เรือหาปลาลำหนึ่งได้ออกจากฝั่งไปทางเสาที่ผูกติดกับโป๊ะ เพื่อดักปลา เสาเหล่านี้ตั้งอยู่ระหว่างเรือรบกับเรือประมงของเรา กัปตันจึงเบนหัวเรือไปทางเสาเหล่านั้น แล้วผูกเรือไว้รอชาวประมง

เมือเรือประมงมาถึง เราก็ซื้อปลาบ้าง เพื่อหันเหให้เรือรบลำนั้นคิดว่า เราเดินทางมาเพื่อเจรจากับชาวประมงที่นั่นโดยเฉพาะ หลังจากการอำพรางเช่นนี้แล้ว เราก็หันเรือกลับไปทางเหนือ เพื่อทำทีว่า เดินทางกลับไปกรุเทพฯ

อันที่จริง เมื่อเราแล่นเรือมาได้ไกลถึง ๑๐ กม.เราก็หยุดที่โค้งชายฝั่งแห่งหนึ่ง ซึ่งช่วยกำบังเราให้พ้นจากสายตาเรือรบ จนกระทั่งถึง ๒๓ น. เราจึงตัดสินใจเสี่ยงภัยออกไปทะเลลึกทางตะวันออกนอกน่านน้ำสยาม เดชะบุญคืนนั้นทะเลสงบมาก และเมื่อออกมาได้ไกลพอสมควร เราก็หันเรือไปทางใต้ วันรุ่งขึ้นก็เดินทางมาถึงเขตน่านน้ำทะเลลึกของสยาม เราหันเรือไปทางตะวันออกและเข้าสู่เขตน่านน้ำทะเลมลายูของอังกฤษ

เราแล่นเลียบไปตามชายฝั่งตะวันออกของมลายูและมาจอดที่เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งเพื่อหยุดพักและมุ่งหน้าต่อไปทางใต้ พอตกค่ำก็เกิดลมพายุ เราต้องจอดเรือประมงใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งชายฝั่งมลายูของอังกฤษ เจ้าหน้าที่ตำรวจมลายู ๒-๓ นายมาตรวจเรือและขู่ว่าจะจับกุม ภายหลังได้พูดคุยกับพวกเขา และได้ให้เงินจำนวนหนึ่งแก่พวกเขาแล้ว เขาก็สัญญาว่าจะให้เราพักอยู่ที่นั่นในช่วงที่มีพายุ เราคิดว่าเขาคงจะแจ้งจับเราแน่ แต่เราก็คงจะไม่ถูกจับระหว่างเกิดพายุ ดังนั้น ก่อนที่พายุจะสงบราบเรียบ เราก็ออกเดินทางจากชายฝั่งนั้น เพื่อแล่นออกไปยังทะเลลึกนอกเขตน่านน้ำมลายูของอังกฤษ

จากนั้น เราก็เดินทางต่อไปทางใต้ ย่างเข้าวันที่ ๒ เราก็มาถึงเขตน่านน้ำสิงคโปร์ เนื่องจากการเดินทางใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ วัน และเพื่อนชาวจีนก็ยังมาไม่ถึงที่นัดพบ เราจึงเดินทางต่อไปยังเกาะบาไลของอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของฮอลแลนด์ เกาะนี้เป็นศูนย์กลางสินค้าหนีภาษี เป็นที่ที่รัฐบาลฮอลแลนด์อำนวยความสะดวกแก่เรือไม่ว่าสัญชาติใด เราพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา ๒-๓ วัน จนกระทั่งครบกำหนดนัด

จากเกาะนี้เราเดินทางไปยังสิงคโปร์เพื่อพบเพื่อนที่นั่น ขณะที่เข้าใกล้ท่าเรือสิงคโปร์ เราก็ถูกเรือลาดตระเวน ๒ ลำซึ่งบัญชาการโดยชาวมลายูตรวจตรา แต่พวกเขาไม่พบอะไรที่ผิดปกติ ด้วยความใจเย็นตามเคย กัปตันได้จอดเรือประมง ณ ท่าจอดเรือในสิงคโปร์ เพื่อนชาวจีนซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ได้มาพบเราที่นั่น เพื่อปรึกษาแผนการเดินทางไปยังฮ่องกง ระหว่างที่รอคอยอยู่นั้น เราได้เข้าพักในบ้านเพื่อน ซึ่งอยู่ใกล้กองบัญชาการตำรวจโดยที่ตำรวจไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย

ต่อมาไม่กี่วันเราก็แอบลงเรือเดินทะเลไปยังฮ่องกงด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนชาวจีน(ไม่ใช่คอมมิวนิสต์)

Saturday, February 23, 2008

บทความที่๓๔๓.การหลบหนีไปยังจีนหนที่๒ ตอนที่๑

การผจญภัยระหว่างการหลบหนีออกจากสยามครั้งที่ ๒ ไปยังสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๑-

ข้าพเจ้าได้หลบซ่อนอยู่ในบ้านผู้รักความเป็นธรรมคนหนึ่ง ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงในตอนที่ ๓ ของบทก่อน ในช่วง ๕ เดือนนี้ ข้าพเจ้าไม่มีทางก่อการฯ ได้อีกครั้ง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากสยามไปยังเมืองปักกิ่ง ซึ่งเพิ่งได้รับการปลดปล่อย โดยกองทัพปลดแอกราษฎรจีน ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ข้าพเจ้าได้มอบหมายให้ภรรยารับภารกิจที่ยากลำบากในการจัดหาลู่ทางหลบหนีของข้าพเจ้า และเพื่อนอีก ๒ คน ด้วยการขอความช่วยเหลือจากมิตรผู้ซื่อสัตย์ชาวไทยและชาวจีน

รัฐบาลได้เฝ้าระวังชายแดนทางบกอย่างเข้มงวด เราจึงเลือกหลบหนีไปทางทะเล แม้ว่าเส้นทางนี้จะต้องเสี่ยงภัยอย่างมากมายก็ตาม เนื่องจากเราจะต้องผ่านด่านตรวจหลายแห่งตามปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเราต้องแล่นเรือผ่าน เพื่อออกไปสู่ทะเล อีกอย่างหนึ่ง ในน่านน้ำเขตสยามก็มีกองลาดตระเวนทหารเรือของฝ่ายรัฐบาลตรวจตราอยู่ นอกจากนี้ก็ยังด่านควบคุมตามชายฝั่งมลายูของอังกฤษ และหมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฮอลแลนด์ เราจะต้องเสี่ยงภัยอีกครั้งหนึ่ง ก่อนลอบลงเรือเดินทะเลไปยังฮ่องกง จากฮ่องกงเราก็ลงเรืออีกลำไปชิงเต่า ซึ่งขณะนั้นกองกำลังของฝ่ายราษฎรจีนยึดไว้ได้แล้ว

เพื่อนคนหนึ่งได้จัดหาเรือประมงติดเครื่องยนต์ที่มีระวางขับน้ำ ๕ ตันให้ และนายเรือโทนอกราชการผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้รักชาติ ซื่อสัตย์ต่อราษฎร เต็มใจขอลางานชั่วคราวจากบริษัทเดินเรือที่เขาทำงาน เพื่อช่วยเหลือด้านการบังคับเรือประมงเล็กๆ ลำนี้ด้วยตนเอง

ภรรยาข้าพเจ้าได้ขอให้เพื่อนชาวจีนผู้หนึ่ง (ซึ่งไม่ใช่ชาวคอมมิวนิสต์)ช่วยเหลือเรา โดยจัดให้ลงเรือเดินทะเลที่สิงคโปร์ เพื่อเดินทางอย่างลับๆ ไปฮ่องกง (เมื่อหลังสงคราม เราเคยให้ความคุ้มครองเพื่อนคนนี้จากการขู่เอาชีวิตของพวกจีนชาตินิยม)

ที่ฮ่องกง ตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องช่วยเปลี่ยนเรือให้เรามุ่งหน้าไปยังท่าเรือชิงเต่า โดยที่เรือลำนั้นต้องแล่นไปตามเส้นทางที่สามารถหลบหลีกกองเรือลาดตระเวนของจีนคณะชาติที่ควบคุมทางใต้ของจีน และแล่นไปมาในทะเลจีนอยู่ในขณะนั้น

ภรรยาของข้าพเจ้าได้นัดกับเพื่อนชาวจีนโพ้นทะเลคนนั้นว่า ถ้า ๑๐ ภายหลังข้าพเจ้าเดินทางออกจากกรุงเทพฯแล้ว เขายังไม่ได้ข่าวคราวการถูกจับของเรา ก็หมายความว่า เราได้เดินทางผ่านเขตน่านน้ำของสยามไปแล้ว หลังจากนั้นเพื่อนชาวจีนจะต้องบอกเลขานุการที่ไว้ใจได้ให้ขึ้นเครื่องบินไปสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ที่เรานัดพบกัน เพื่อว่าเจ้าหน้าที่ของอังกฤษจะได้ไม่รู้ว่าเราอยู่ที่สิงคโปร์

Tuesday, February 19, 2008

บทความที่๓๔๒.ความพ่ายแพ้ของขบวนการ ๒๖ ก.พ.๒๔๙๒(๔)

ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒
ปรีดี พนมยงค์
-๕-
ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้สอดคล้องกับบันทึกคำให้การของตำรวจ และบันทึกคำให้การของพยานในการพิจารณาคดีผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อการกบฏที่ศาลอาญา

๑๘ ปีหลังจากความล้มเหลวของกบฏแมนฮัตตัน หรือ ๒๐ ปีเต็มการกบฏวังหลวง คือ ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ชาวอเมริกันผู้หนึ่งชื่อวิลเลี่ยม วอร์เรน (William WARREN) เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติจิม ทอมป์สัน (Jim THOMPSON) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามราชาไหมไทย ในตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการตายของ ๔ อดีตรัฐมนตรีดังกล่าว นายวอร์เรนได้กล่าวหาข้าพเจ้าว่าได้กระโดดลงน้ำ เพื่อหนีเอาตัวรอด โดยทอดทิ้งเพื่อนขณะที่กองกำลังทหารของจอมพลพิบูลฯ กำลังโจมตีกองบัญชาการของข้าพเจ้า

อาจารย์ผู้นี้เอ่ยถึงข้าพเจ้า เพราะคิดว่าจิม ทอมป์สันซึ่งรู้จักข้าพเจ้านั้น รู้ประวัติสยามดี อย่างไรก็ตามจิม ทอมป์สันได้เดินทางมาถึงสยามหลายเดือนหลังจากญี่ปุ่นยอมจำนน ไม่ใช่เข้ามาช่วงสงครามตามที่นายวอร์เรนกล่าวอ้าง อีกประการหนึ่งเขาสับสนระหว่างตัวข้าพเจ้ากับจอมพลพิบูลฯ ที่กระโดดลงน้ำหนีในระหว่างเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เป็นที่น่าเสียดายสำหรับนักศึกษาไทย ที่อาจารย์ผู้นี้ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ เพราะว่าเขาเป็นผู้ให้คำแนะนำนักศึกษาในการเตรียมทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งต้องใช้การค้นคว้าข้อเท็จจริง และข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งเอกสารทางกฎหมายที่เปิดเผยต่อสาธารณชน แต่อาจารย์ผู้นี้กลับพอใจแต่เพียงข่าวลือตามที่ได้ยินมาจากฝ่ายที่มีทัศนคติเดียวกัน จึงน่าสงสัยในความรู้ที่เขาเล่าเรียนมา