ขอมอบบทความนี้แด่ท่านผู้ทำคุณประโยชน์แก่มวลราษฎร ผู้ต้องได้รับอาชญา ถูกใส่ร้ายป้ายสี มีท่านปรีดี พนมยงค์, ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, คุณเตียง ศิริขันธ์, คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น
ท้าวสักกะ หรือ พระอินทร์-จอมเทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทวดาที่พุทธบริษัทได้ยินพระนามของพระองค์บ่อยครั้งเพราะถูกกล่าวถึงหลายต่อหลายแห่งในพระไตรปิฎก และด้วยผลของกุศลกรรมที่ท่านได้ทำไว้ให้ผลจึงทำให้ท่านมาบังเกิดเป็นจอมเทพบนสวรรค์ชั้นที่ ๒ นี้ เรื่องราวการทำความดีของท่านมีความเป็นมาดังนี้
พระศาสดาเมื่อครั้งประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ครั้งนั้นเจ้าลิจฉวี พระองค์หนึ่งพระนามว่า มหาลิ ทรงสดับพระธรรมเทศนาเรื่อง สักกปัญหสูตร ของพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงดำริว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นสมบัติของท้าวสักกะ ทรงรู้จักท้าวสักกะด้วยพระองค์เองหรือไม่หนอ หรือเพียงแต่ได้ยินได้ฟังมาจากผู้อื่น
ทรงดำริฉะนี้แล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่า พระพุทธองค์ทรงรู้สมบัติของท้าวสักกะ ทรงรู้จักท้าวสักกะด้วยพระองค์เองหรืออย่างไร จึงตรัสเช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูก่อนมหาลิ,ตถาคตรู้จักทั้งตัวท้าวสักกะและธรรมอันทำบุคคลให้เป็นท้าวสักกะด้วย"
พระศาสดาทรงอธิบายพระนามของท้าวสักกะให้ท้าวมหาลิทรงทราบว่า ที่มีพระนามอย่างนั้นๆ เพราะเหตุใด เช่นว่าที่มีพระนามว่า มฆวา เพราะชาติที่เป็นมนุษย์ได้เป็นมานพชื่อ มฆะ ที่มีพระนามว่า บุรินททะ เพราะชาติก่อนชอบให้ทานก่อนผู้อื่นที่มีพระนามว่า สักกะ เพราะเคยให้ทานโดยเคารพ ที่มีพระนามว่า วาสวะ เพราะในชาติก่อนเคยให้ที่พักอาศัยแก่คนจรมา ที่มีพระนามว่า สหัสสักขะ เพราะสามารถดำริข้อความได้ตั้งพันเรื่องในกาลเพียงครู่เดียว ที่มีพระนามว่า สุชัมบดี เพราะทรงเป็นพระสามีของสุชาดา ที่มีพระนามว่า เทวานมินทะ เพราะทรงเป็นใหญ่กว่าทวยเทพทั้งปวงในชั้นดาวดึงส์
อนึ่ง ท้าวสักกะนั้นสมัยเมื่อเป็นมนุษย์ได้บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ อย่างบริบูรณ์ตลอดชีวิต คือ
๑. เลี้ยงมารดาบิดา
๒. อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๓. พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน
๔. ไม่ส่อเสียด
๕. กำจัดความตระหนี่ได้
๖. มีวาจาสัตย์
๗. ข่มความโกรธได้
ท้าวมหาลิ ทรงกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงตรัสเรื่องในอดีตชาติของท้าวสักกะ พระศาสดาจึงตรัสเล่าให้สดับดังนี้
ในอดีตกาล,มีมานพผู้หนึ่งนามว่ามฆะเป็นชาวเมืองอจลคามในแคว้นมคธ มฆมานพผู้นี้มีอุปนิสัยชอบปรับปรุง ซ่อมทางเดิน หักร้างที่รกร้างให้เป็นที่รื่นรมย์ เมื่อมีผู้ผ่านมาก็ได้เข้าใช้สถานที่นั้น เมื่อถึงฤดูหนาวเขาก็ได้หาฟืนมาก่อไฟให้คนผ่านทางได้ใช้สอยประโยชน์ เขาได้ขุดสระน้ำ ตัดกิ่งไม้ที่รานออก ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนทั้งหลายได้ใช้สอยประโยชน์ มฆมานพมีความสุขปีติจากกุศลกรรมที่ทำเขานั้น
ไม่นานเรื่องราวการบำเพ็ญกุศลเพื่อการสาธารณะของมฆมานพก็แผ่ไป จึงปรากฏว่ามีชายหนุ่มที่มีอุดมการณ์ที่จะสร้างสาธารณกุศลเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนทั้งหลายได้เข้ามาร่วมกับมฆมานพมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีจำนวนถึง ๓๒ คน แล้วชายหนุ่มเหล่านี้ก็ร่วมกันก่อสร้างสาธารณูปโภคทั้งหลายที่จะยังความผาสุกแก่ปวงประชาชนเป็นจำนวนมาก
คราวนั้น นายบ้านผู้ดูแลชุมชนเกิดจิตริษยาในกิตติศัพท์ที่เลื่องลือไปแล้วของมานพเหล่านี้ ด้วยจิตใจอันสกปรกต่ำช้านายบ้านได้ทักท้วงการบำเพ็ญสาธารณกุศลของมานพทั้ง ๓๓ คน แล้วกล่าวชักชวนให้พวกเขาไปจับปลา ล่าสัตว์ ต้มสุราดื่มเสียยังจะดีกว่ามาก่อสร้างสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
แน่นอน,มานพเหล่านี้ไม่ฟังคำกล่าวของอสัตบุรุษ พวกเขายังคงบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ปวงชนต่อไป ด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยปีติในกุศลกรรมของพวกเขา นายบ้านผู้ริษยาจึงคิดที่จะกำจัดชายหนุ่มทั้งหลายเหล่านี้ เขาได้เดินทางเข้าเมืองหลวง และเข้าเฝ้าพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแค้วนมคธ.
“ข้าแต่เทวะ” นายบ้านกราบทูล “ในชุมชนที่ข้าพระองค์ปกครองดูแลอยู่นั้น ได้ปรากฏคนกลุ่มหนึ่งจำนวน ๓๓ คน ทำการชักชวนปลุกระดมประชาชนด้วยการสร้างสาธารณประโยชน์เพื่อจูงใจให้ประชาชนหลงเชื่อพวกมัน ข้าพระองค์คิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้าย มันจะต้องคิดการณ์ร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นแน่,พระเจ้าข้า”
ด้วยความหูเบาไม่ไตร่ตรองพินิจพิจารณา พระราชาแห่งมคธ ทรงสั่งเหล่าราชบุรุษเดินทางไปควบคุมตัวมานพทั้ง ๓๓ คนเข้ามายังเมืองหลวงเพื่อลงอาชญา.
ประชาชนทั้งหลายทั่วสารทิศได้เดินทางหลั่งไหลมายังเมืองหลวงเพื่อเป็นประจักษ์พยานว่าบุคคลผู้กระทำคุณประโยชน์ให้แก่ปวงประชาชนจะต้องมาถูกลงอาชญาด้วยการใส่ร้ายป้ายสีจากบุคคลผู้ริษยา!
ทัณฑกรรมที่มานพทั้งหลายจะได้รับคือ ถูกพระยาคชสารเหยียบย่ำจนถึงแก่ความตาย!
ณ ลานกลางเมืองที่ถูกจัดให้เป็นลานประหาร มานพทั้ง ๓๓ คนถูกจับมัดให้นอนลงเพื่อรอรับโทษ พวกเขาไม่คิดฝันว่าสิ่งที่พวกเขาได้คิดดีและทำดีเพื่อประชาชนกลับจะต้องมาลงเอยเช่นนี้ มฆมานพผู้เป็นหัวหน้าจึงกล่าวแก่มานพทั้ง ๓๒ คน สหายร่วมอุดมการณ์ ว่า
“ท่านทั้งหลาย,ขอท่านจงฟังข้าพเจ้า ไม่ช้านี้ พวกเราก็จะถึงแก่ความตายแล้ว ก็แต่ว่าขอท่านทั้งหลายจงอย่าได้ประทุษร้ายใจตนเอง ด้วยความโกรธเลย ขอท่านจงเมตตาต่อพระราชาพระองค์นั้น ขอท่านจงเมตตาต่อนายบ้านผู้ใส่ร้ายป้ายสีพวกเรา และขอท่านจงเมตตาต่อพระยาคชสารนี้ ขอท่านจงอย่าโกรธแค้นเลย”
ด้วยคำกล่าวสัจจะนี้ มานพทั้งหมดได้มีจิตสงบ ความขุ่นแค้นขัดเคืองได้สงบระงับลง ก็บัณฑิตทั้งหลายล้วนมีมนสิการในใจโดยแยบคายอย่างนี้ว่า ชีวิตนั้นแลก็ประหนึ่งดังความฝันอันหาสาระใดๆมิได้ สิ่งใดที่ยึดถือว่าเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็หายั่งยืน เที่ยงแท้ไม่ เมื่อต้องจากภพนี้ไป สิ่งเหล่านี้จะยังประโยชน์อะไรในสัมปรายภพ เมื่อบุคคลต้องตื่นขึ้นจากฝัน จะหยิบคว้าสิ่งใดออกมาจากความฝันหาได้ไม่ จะฝันว่ามีชาติตระกูลสูงส่งเพียงใด ก็เป็นแต่ความฝัน เมื่อตื่นขึ้นก็ต้องจากสมมติทั้งปวงในฝันนั้น ชีวิตก็เช่นกัน เมื่อต้องตายจากภพนี้ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงภริยาและบุตรทั้งหลายก็ไม่อาจติดตามไปได้ คงไปได้แต่กุศลจิตและอกุศลจิตเท่านั้น
มานพทั้งหลายได้พิจารณาถึงสัจจะเหล่านี้แล้ว ก็ไม่มีจิตผูกโกรธ ไม่คิดก่อเวรตอบ เขาทั้งหลายสงบนิ่งรอเวลาที่จะมาถึง.
ครานั้น,พระยาคชสารผู้มีร่างอันมหาศาลถูกควาญช้างไสเข้าไปเพื่อจะเหยียบย่ำบุรุษเหล่านั้นให้แหลกเหลวไปกับพสุธา แต่พระยาคชสารใหญ่ตัวนั้นไม่อาจจะก้าวเข้าไปหาเหล่าบุรุษผู้มีจิตเมตตาและสงบนิ่งได้เลย ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาซึ่งเป็นกุศลจิตนั่นเอง.
ณ ที่ห่างออกไปพระราชาทรงประทับนั่งมองดูการประหาร เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็คิดว่า พระยาช้างคงจะกลัวที่ได้เห็นบุรุษจำนวนมากนอนที่พื้น จึงรับสั่งให้ราชบุรษเอาเสื่อผืนใหญ่มาคลุมตัวบุรุษทั้งหมดไม่ให้มองเห็นว่ามีคนอยู่ใต้เสื่อ.
แม้กระนั้น ไม่ว่านายควาญช้างจะสับขอ ผลักไสให้พระยาช้างเดินไปข้างหน้าอย่างไรๆ พระยาช้างก็ไม่อาจจะก้าวไปข้างหน้าได้ ยังคงระงับยับยั้งอยู่กับที่.
ลำดับนั้น พระราชาได้ฉุกพระทัย ระลึกถึงสิ่งบอกเหตุอันประหลาดพิกลนี้ จึงรับสั่งให้นำตัวบุรุษทั้ง ๓๓ คนเข้าเฝ้า ทรงไต่ถามเรื่องราวทั้งหมด
"ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นโจร แต่พวกข้าพระองค์ทำสาธารณประโยชน์เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงประชาชน นายบ้านผู้นี้ชักนำพวกข้าพระองค์ให้ทำอกุศล เมื่อพวกข้าพระองค์ไม่ยอมทำตาม เขาโกรธ จึงมากราบทูลพระองค์อย่างนั้น"มฆมานพผู้เป็นหัวหน้ากราบทูล
พระราชาทรงสดับแล้ว ทรงโสมนัส ตรัสว่า "สัตว์ดิรัจฉานยังรู้จักคุณของพวกเจ้า เราเป็นมนุษย์แต่กลับไม่รู้จัก ขอจงยกโทษแก่เราเถิด"
พระราชาได้พระราชทานนายบ้าน พร้อมทั้งบุตรภรรยาของนายบ้านให้เป็นทาสของมฆมานพ ช้างเชือกนั้นให้เป็นพาหนะสำหรับขี่ และหมู่บ้านนั้นทั้งหมดให้แก่มานพและสหายทั้ง ๓๒ คน พวกเขามีความปราโมชยินดีที่กุศลกรรมให้ผล ปกป้องพวกเขาไว้จากความตาย พวกเขาได้ปรึกษาหารือกันว่า พวกเราควรทำอะไรให้ยิ่งขึ้น ตกลงกันว่า จักสร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนให้ถาวรใน ๔ แยกหนทางใหญ่ จึงได้จัดหาช่างไม้มาสร้างศาลานั้น
ต่อมา มฆมานพได้มีภรรยา ๔ คน คือ นางสุนันทา นางสุจิตรา นางสุธรรมา และนางสุชาดา
นางสุธรรมาอยากจะร่วมกุศลในการสร้างศาลาบ้าง จึงให้ค่าจ้างช่างไม้ให้ทำช่อฟ้าให้ตน มีอักษรจารึกที่ช่อฟ้านั้นว่า "ศาลานี้ชื่อสุธรรมา" ศาลานั้นแบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับอิสรชน, ส่วนหนึ่งสำหรับคนเข็ญใจ และอีกส่วนหนึ่งสำหรับคนไข้
พวกเขาปูกระดาน ๓๓ แผ่นใหญ่ แล้วสั่งช้างไว้ว่า แขกมานั่งบนแผ่นกระดานของผู้ใด จงพาแขกไปบ้านของผู้นั้น วันนั้น ผู้นั้นจักเป็นผู้รับรองให้ความสะดวกสบายแก่แขกทุกประการ
นายมฆะ ปลูกต้นทองหลางไว้ต้นหนึ่ง ไม่ห่างศาลานัก แล้วทำเก้าอี้หินไว้โคนต้นไม้นั้นสำหรับคนจะได้นั่งเล่น คนที่มาพบเห็นศาลาก็ออกชื่อว่า "ศาลาสุธรรมา" แต่กลับไม่มีใครรู้ชื่อของสหาย ๓๓ คนเลย
ฝ่ายนางสุนันทาคิดว่า นางสุธรรมาได้ร่วมบุญในการสร้างศาลา เพราะความฉลาดของตน จึงคิดว่า "เราควรจะมีส่วนบ้าง อันธรรมดาคนมาพักย่อมต้องการน้ำดื่มน้ำอาบ เราควรให้ขุดสระมีบัว" ดังนี้แล้วให้ขุดสระโบกขรณี ชื่อสระสุนันทา ส่วนนางสุจิตราให้สร้างสวนดอกไม้อันสวยงาม คนทั้งหลายเรียกกันว่า สวนสุจิตรา
ส่วนนางสุชาดาคิดเสียว่า "เราเป็นทั้งหลานและเป็นทั้งภรรยาของมฆะ สิ่งใดที่มฆะทำก็ชื่อว่าเราได้ทำด้วย" ดังนี้จึงไม่ได้ทำอะไรส่วนตัวอันเป็นกุศล ให้เวลาล่วงไปด้วยการแต่งตัวอย่างเดียว
มฆมานพบำเพ็ญคุณงามความดีอื่นๆ และวัตตบท ๗ ประการ อยู่จนตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีพแล้วไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในภพดาวดึงส์ สหายของเขา ๓๒ คนก็เกิดในที่นั้นเหมือนกัน นายช่างเกิดเป็นวิศวกรรมเทพบุตร นางสุธรรมา สุนันทา และสุจิตราก็ไปเกิดเป็นเทพอัปสรที่นั่นเหมือนกัน มีแต่นางสุชาดาเท่านั้นไปเกิดเป็นนางนกยาง, ช้างเกิดเป็นเทพบุตรชื่อ เอราวัณ ภายหลังท้าวสักกะได้ช่วยเหลือให้นางสุชาดาไปเกิดเป็นเทพอัปสรเหมือนกันโดยวิธีให้รักษาศีล ทำจิตใจให้ประกอบด้วยเมตตากรุณา เป็นต้น
ทั้งหมดได้เสวยทิพยสมบัติ มีความสุขอยู่ในโลกทิพย์ เพราะหมั่นสั่งสมบุญกุศลด้วยความไม่ประมาท ดังพุทธภาษิตว่า
อปฺปมาเทน มฆวา เทวานํ สฏฐตํ คโต
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ปมาโท ครหิโต สทา
แปลความว่า
ท้าวมฆวะ ถึงความประเสริฐกว่าเทวาทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญความไม่ประมาท ส่วนความประมาท บัณฑิตติเตียนทุกเมื่อ.