Saturday, December 27, 2008

บทความที่ ๔๓๑.อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์

อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยของท่านปรีดี พนมยงค์

อุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยของ นายปรีดี พนมยงค์ ประกอบด้วยหลักการ ๓ ประการ คือ ปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคม สหกรณ์สังคมนิยม และ ประชาธิปไตยสมบูรณ์

นายปรีดี เป็นผู้ที่ยึดมั่นในปรัชญาสสารธรรมทางสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์สังคม ซึ่งมีทัศนะว่า สภาวะทางสังคมเกิดขึ้นและมีการเคลื่อนไหวตามกฎธรรมชาติของมวลราษฎร ในข้อเขียนชื่อ “อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด” (พ.ศ.๒๕๑๖) นายปรีดียืนยันว่า “ระบบเพื่อประโยชน์ของชนจำนวนน้อยจะคงอยู่ชั่วกัลปาวสานไม่ได้ คือ อนาคตจะต้องเป็นของราษฎรซึ่งเป็นพลเมืองส่วนข้างมาก” ได้แก่ “ผู้ไร้สมบัติ ชาวนายากจน ผู้มีทุนน้อย รวมทั้งนายทุนที่รักชาติ ซึ่งมิได้คิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนของวรรณะพวกตัวเป็นที่ตั้ง แล้วก็ต้องการระบบสังคมใหม่ที่จะช่วยความเป็นอยู่ของพลเมืองส่วนข้างมากให้ดีขึ้น คือ มีระบบการเมืองที่สอดคล้อง สมานกับพลังการผลิตทางเศรษฐกิจของสังคม เพื่อให้การเบียดเบียนหมดไปหรือน้อยลงไปมากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

ในด้านการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจนั้น นายปรีดีเห็นว่า ควรจัดให้มีสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์แก่มวลสมาชิก แนวความคิดดังกล่าวนี้ได้ปรากฏเป็นรูปธรรมอยู่ในหมวดที่ ๘ แห่งร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติที่นายปรีดีได้เป็นผู้จัดทำขึ้น แต่เกิดอุปสรรคขัดขวางจึงไม่ได้นำมาใช้ แต่ออกมาเป็น พ.ร.บ.สหกรณ์

ในด้านประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น นายปรีดีมีความเชื่อมั่นอยู่ว่า “สังคมจะดำรงอยู่ได้ก็โดยมวลราษฎร ดังนั้นระบบของสังคมที่ทำให้มวลราษฎรมีพลังผลักดันให้สังคมก้าวหน้าก็คือระบบประชาธิปไตย” นายปรีดีให้อรรถกถาธิบายด้วยว่า “รูปของสังคมใดๆ นั้นย่อมประกอบด้วย ระบบเศรษฐกิจการเมือง ทัศนะสังคม ดังนั้นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จึงต้องประกอบด้วย ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมือง ทัศนะสังคมที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นหลักนำทางจิตใจ” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ เป็นตัวอย่างอันดีถึงความเพียรพยายามของนายปรีดี ในการสถาปนาระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นในสังคมไทย เพราะมีบทบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกพฤตสภา เป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างสมบูรณ์ ดังปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๓ ๑๔ และ ๑๕ ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

สรุปแล้ว สังคมไทยในอุดมทัศนะของนายปรีดี เป็นสังคมประชาธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวคือ เป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของเขาด้วยตัวของเขาเอง มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง โดยการจัดให้มีสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลสมาชิก มีเทศบาลที่ได้รับเลือกจากราษฎรในท้องถิ่นเพื่อปกครองตนเอง สังคมเช่นนี้ย่อมเป็นสังคมที่ทุกคนมีงานทำ ปราศจากความอดอยาก มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และเป็นสังคมที่บุคคลสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

Thursday, December 18, 2008

บทความที่ ๔๓๐. หวนอาลัย

หวนอาลัยจากใจท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึงท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490

หวนอาลัยหัวใจคร่ำครวญ 
ทุกวันเหงาใจให้หวนคร่ำครวญจำคะนึง
กรรมเอ๋ยกรรมต้องจำคิดรำพึง
ครวญถึงคนหนึ่งโศกซึ้งไม่คลายคลา

บางเวลาน้ำตาไหลหลั่ง
โถกรรมชักนำจากไปเศร้าใจเต็มประดา
คอยทุกวันตื้นตันทุกวันมา
ยังหลงคอยท่าอย่าร้างอย่าราไป

หมองใจตรมระทมไร้ร่มโพธิ์ทอง
สุดปองหมองหม่นไหม้
ยามพร้อมบุญยังอุ่นใจ
ครั้นบุญมาขาดไปดั่งใจขาดคลา

ยามแรมไกลเหงาใจเยือกเย็น
ฉันปองทุกข์ครองยากเข็ญเยือกเย็นในอุรา
ไกลแสนไกลเมื่อไหร่ถึงจะมา
ยังหลงคอยท่าอย่าร้างอย่าราเลย