Monday, November 3, 2008

บทความที่๔๒๙.รบทำไมและรบเพื่อใคร?ตอนที่๗

รบทำไม?และรบเพื่อใคร?

บทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล

ตอนที่ ๗.

ในขณะที่การเศรษฐกิจได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการกดขี่ขูดรีดที่ทารุณโหดร้ายนั้น นายทุนทั้งหลายก็ต้องประสบกับปัญหาวัตถุดิบที่จะมาป้อนโรงงาน และปัญหาตลาดในการระบายสินค้าที่ผลิตขึ้น เพราะวัตถุดิบภายในประเทศมีไม่เพียงพอเสียแล้ว และผลิตผลก็เกินความต้องการของตลาดภายในประเทศ นายทุนจึงเสาะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบจากภายนอกประเทศ และพร้อมกับหาตลาดระบายสินค้า ซึ่งนับเป็นบาทก้าวของลัทธิล่าอาณานิคมของระบบทุนนิยมที่สืบต่อจากระบบศักดินา บริษัทตัวแทนของกลุ่มนายทุน ได้เดินทางออไปแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ และตลาดระบายสินค้าในประเทศที่ล้าหลังทั้งหลาย ทั้งในเอเซีย อาฟริกา และลาตินอเมริกา และโดยบริษัทนายทุนเหล่านั้นพยายามที่จะกดราคาวัตถุดิบให้ต่ำที่สุด และโก่งราคาสินค้าของตนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และประกอบกับเล่ห์โกงต่างๆ ของพวกเขา จึงทำให้เกิดความบาดหมางกันขึ้นระหว่างบริษัทตัวแทนกลุ่มนายทุนกับพ่อค้าหรือรัฐบาลท้องถิ่นที่ล้าหลังเหล่านั้น จนในที่สุดรัฐบาลของบริษัทนายทุนได้ส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองประเทศล้าหลัง และทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายเป็นประเทศเมืองขึ้นหรืออาณานิคม ประเทศในอาฟริกาทั้งทวีป เอเซียค่อนทวีป และลาตินอเมริกาเกือบทั้งหมดจึงกลายเป็นอาณานิคมของประเทศนายทุนตะวันตกและอเมริกา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเทศอาณานิคมทั้งหลายจึงกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูกๆ แหล่งแรงงานราคาถูกๆ และแหล่งระบายสินค้าหรือตลาดสินค้าราคาแพงของเหล่าประเทศนายทุน ประเทศอาณานิคมทั้งหลายจึงกลายเป็นแหล่งของการกดขี่ขูดรีดของประเทศทุนนิยมโดยตรง ประเทศทุนนิยมเหล่านั้น จึงนอกจากจะกดขี่ขูดรีดชนชั้นคนงานภายในประเทศของตนแล้ว ก็ยังแผ่การกดขี่ขูดรีดครอบคลุมไปทั่วทุกมุมโลก

 

แต่เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบและตลาดระบายสินค้าโดยทั่วไปมีอยู่จำกัด ไม่พอที่จะสนองความต้องการทะยานอยากอย่างไม่มีขอบเขตของนานาประเทศทุนนิยมได้ ประเทศทุนนิยมเหล่านั้นจึงขัดแย้งกันเองในการแสวงหาผลประโยชน์ แต่ก็ได้พยายามประนีประนอม เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ อย่างเช่นการประนีประนอมระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ในการเข้าครอบครองเอเซียอาคเนย์ โดยอังกฤษเข้าครอบครองทางตะวันตกและทางใต้ของประเทศไทย คือ พม่าและมลายูส่วนฝรั่งเศสเข้าครอบครองทางตะวันออก คือ อินโดจีน(ญวน,ลาว,เขมร) โดยเอาประเทศไทยเป็นประเทศกันชนของประเทศทุนนิยมทั้งสอง ประเทศไทยจึงรอดจากการเป็นเมืองขึ้นโดยตรงของประเทศเหล่านั้น แต่ได้กลายเป็นเมืองขึ้นทางอ้อมของประเทศนายทุนทั้งหลาย โดยการถูกบีบบังคับจำกัดสิทธิ์ทั้งในทางการเมือง การเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยพึ่งจะมาสลัดแอกของประเทศทุนนิยมออกไปได้ เมื่อภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นี้เอง

บทความที่๔๒๘.รบทำไมและรบเพื่อใคร?ตอนที่๖

รบทำไม?และรบเพื่อใคร?

บทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล

ตอนที่ ๖.

ภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งเบิกโรงด้วยการใช้เครื่องจักรไอน้ำในงามอุตสาหกรรมและเครื่องจักรไฟฟ้าในเวลาต่อมา โรงงานอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโรงแล้วโรงเล่า พร้อมกันนั้นก็ได้กวาดต้อนเอาพวกไพร่เข้ามาสู่โรงงาน และกลายเป็นชนชั้นใหม่ขึ้นมาเรียกว่า ชนชั้นกรรมาชีพ การเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรมได้ทำมากขึ้นๆ ซึ่งนั่นก็หมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของบรรดาเหล่านายทุนทั้งหลาย แต่ในขณะเดียวกัน ความยากจนค่นแค้นก็ยังแผ่ปกคลุมไปทั่วชนชั้นกรรมาชีพที่ได้พัฒนามาจากไพร่โดยทั่วไป เช่นเดียวกับความยากจนค่นแค้นแสนสาหัส ที่บรรพบุรุษพวกเขาเคยได้พบมาในยุคศักดินาและยุคทาสนั้นเอง

 

นั่นก็คือในสังคมทุนนิยม ก็เช่นเดียวกับสังคมศักดินาและสังคมครองทาส ที่ได้แบ่งคนในสังคมเดียวกันออกเป็นสองชนชั้น คือชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีดกับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีด


ในสังคมครองทาส เป็นการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้นนายทาสกับชนชั้นทาส ในสังคมศักดินา เป็นการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้นเจ้าศักดินากับชนชั้นไพร่

 

ในสังคมทุนนิยม เป็นการกดขี่ขูดรีดระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั่วไป โดยเฉพาะกับชนชั้นกรรมาชีพนอกโรงงาน กสิกร และผู้ขายแรงงานทางสมอง เช่น ข้าราชการ นักวิชาการ และเสมียนพนักงาน เป็นต้น

 

ถึงแม้ว่ารูปแบบในการกดขี่ขูดรีด จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบของระบบสังคม แต่เนื้อหาของมันก็อย่างเดียวกัน คือ การกดขี่ร่างกายจิตใจและขูดรีดแรงงาน ในสังคมครองทาสและศักดินา การกดขี่ร่างกายจิตใจและขูดรีดแรงงานเป็นไปอย่างซึ่งหน้าตรงไปตรงมาเห็นได้ง่าย แต่การกดขี่และขูดรีดในยุคทุนนิยมเป็นไปอย่างสลับซับซ้อนและมีเงื่อนงำเห็นได้ยาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะซ่อนเร้นปิดบังได้ตลอดไป โดยเฉพาะไม่สามารถซ่อนเร้นปิดบังชนชั้นกรรมาชีพได้อย่างแน่นอน เพราะชนชั้นกรรมาชีพเป็นผู้รับผลกระทบกระเทือนจากการขูดรีดของระบบทุนนิยมโดยตรง กล่าวคือ พวกเขาต้องทำงานมากชั่วโมงเกินไปกว่าความจำเป็นที่เขาจะต้องทำเพื่อการดำรงชีพ แล้วนายจ้างก็ฮุบเอาค่าที่เขาได้ใช้เวลาทำงานเกินไปจากส่วนอันจำเป็นแก่การดำรงชีพ ซึ่งเรียกว่า มูลค่าส่วนเกิน ไปเป็นของนายจ้างเสียเอง มูลค่าส่วนเกิน ก็คือแรงงานของคนงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งผู้ขายแรงงานตามโรงงานทั้งหลายได้ประจักษ์กับตัวเขาเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

นายทุนได้ใช้ส่วนหนึ่งของมูลค่าส่วนเกินที่คนงานทั้งหมดผลิตได้ เป็นค่าครองชีพอันฟุ่มเฟือยสุขสำราญของเขา และใช้ส่วนที่เหลือเป็นทุนก้อนใหม่ผนวกเข้ากับเงินทุนเดิม กล่าวคือ เขาได้ผลักส่วนที่เหลือนี้สมทบเข้ากับกองทุนเดิม ผลจากการเพิ่มทุนนี้จะปรากฏออกมาในรูปที่ว่า นายทุนสามารถจะขยายงานและจ้างคนงานมาทำงานได้มากขึ้น และคนงานจำนวนมากขึ้นจะผลิต มูลค่าส่วนเกิน ให้แก่นายทุนมากขึ้น ซึ่งนายทุนก็จะนำไปเพิ่มพูนกองทุนของเขาให้ทับทวียิ่งขึ้นเป็นลำดับ

บทความที่๔๒๗.รบทำไมและรบเพื่อใคร?ตอนที่๕

รบทำไม?และรบเพื่อใคร? 

บทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล

ตอนที่ ๕.

และในที่สุด การต่อสู้ของนายทุนสมัยใหม่แห่งจักรวรรดิ์ศักดินาอังกฤษ อันเริ่มต้นจากการต่อสู้ของรัฐอาณานิคมในทวีปอเมริกา ๑๓ อาณานิคมที่เป็นของอังกฤษ ก็ได้ประสบชัยชนะ โดยประกาศเอกราชไม่ยอมอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ แล้วสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ค.ศ.๑๗๗๖ (พ.ศ.๒๓๑๙)อันเป็นเหตุให้อาณานิคมอื่นๆ ของอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปญ ต้องล้มตามๆกันไป และเข้าร่วมอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เกิดใหม่นั้น

 

การล้มเลิกระบบศักดินาแห่งลัทธิอาณานิคมในทวีปอเมริกาครั้งนั้น ได้ส่งผลสะเทือนมาถึงยุโรป โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรก และได้ก่อให้เกิดการอภิวัฒน์ใหญ่ในประเทศนั้นในปี ค.ศ.๑๗๘๙ หลังจากการประกาศอิสภาพของสหรัฐอเมริกา ๑๓ ปี

 

การอภิวัฒน์ใหญ่ในฝรั่งเศส ได้ก่อผลสะเทือนให้ศักดินาในยุโรปทั้งทวีปถึงสั่นคลอน เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งระบบศักดินาให้คงอยู่ตลอดไปชั่วกัลปาวสานต์ พระจักรพรรดิ์และพระราชาธิบดีของหลายประเทศในยุโรป มีออสเตรีย ปรัสเซีย อังกฤษ สเปญ โปรตุเกส ฮอลแลนด์ ชาดิเนีย เนเปิล และประเทศใน สันตะจักรวรรดิ์ ได้ร่วมกันยกกองทัพไปประชิดฝรั่งเศสและแทรกแซงกิจการภายในของประเทศนั้น เพื่อขัดขวางการอภิวัฒน์ของระบบทุนนิยม แต่ก็หาประสบผลสำเร็จไม่ ระบบศักดินาของยุโรปก็ค่อยๆ ล้มลงไปตามลำดับจนหมดสิ้น และครั้นแล้วระบบศักดินาก็ได้ทิ้งยุโรปเอาไว้เบื้องหลังเช่นเดียวกับระบบอื่นๆ ทีผ่านพ้นแล้ว อันเป็นไปตามกฏวิวัฒนาการของสังคม ซึ่งไม่มีอำนาจใดสามารถยับยั้งเอาไว้ได้

บทความที่๔๒๖.รบทำไมและรบเพื่อใคร? ตอนที่๔

ตอนที่ ๔

จากพระราชนิพนธ์ที่ยกมานี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าสงครามในยุคศักดินานั้น ล้วนแต่เป็นสงครามเพื่อสนองตัณหาหรือความทะยานอยากของกษัตริย์และเจ้าศักดินาทั้งหลาย การตีชิงปล้นสดมภ์และเอาประเทศที่อ่อนแอกว่าเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิ์ศักดินานั้น ก็เป็นผลประโยชน์เฉพาะตัวของเจ้าศักดินาใหญ่และสมุนบริวารที่เป็นชนชั้นกดขี่ขูดรีดด้วยกันเท่านั้น ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม ที่เรียกว่า พวกไพร่ อันเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ขูดรีด ที่ถูกเกณฑ์บังคับให้ไปทำศึกสงครามตีบ้านเมืองต่างๆนั้น หาได้รับผลประโยชน์อะไรจากสงครามอันหฤโหดครั้งนั้นไม่ นอกจากความตายหรือทุพพลภาพ เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วหรือเมื่อได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทหารแล้ว พวกเขาก็ต้องกลับไปรับใช้เจ้าขุนมูลนายในงานกสิกรรมหรือหัตถกรรม ให้เจ้าขุนมูลนายกดขี่ขูดรีดเช่นเดิม ก็เช่นเดียวกับพวกทาสในยุคครองทาสนั้นแหละ

 

แต่จากการคลี่คลายขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้ก่อให้เกิดนายทุนสมัยใหม่(กฎุมพี)ขึ้นจำนวนหนึ่ง และวิถีทางเศรษฐกิจของนายทุนสมัยใหม่นี้ เป็นปฏิปักษ์กับวิถีทางเศรษฐกิจระบบศักดินา ทั้งนี้เนื่องด้วยข้อจำกัดสิทธิต่างๆ ของระบบศักดินาได้เหนี่ยวรั้งขัดขวางการขยายตัวของการผลิตแบบนายทุนสมัยใหม่ โดยเฉพาะนายทุนสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในอาณานิคมของอังกฤษในทวีปอเมริกา เป็นครั้งแรก

 

พวกเขาได้ทำคำร้องทุกข์ถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดินโดยแสดงไว้ในคำร้องทุกข์ว่า พวกเขาปฏิเสธการเสียภาษีและปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับอื่นๆ อีก ที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่วิธีการร้องทุกข์ดังกล่าวนั้น หาอำนวยความสำเร็จที่เป็นแก่นสารอันใดไม่

 

ดังนั้น พวกนายทุนสมัยใหม่จึงจำต้องหันเข้าหาวิธีการใช้กำลังเผชิญกำลัง และจำต้องปลุกเร้าประชาชนให้ขัดแข็งกับระบบศักดินา ขัดแข็งต่อการเก็บภาษีโดยพลการและการจำกัดสิทธิ์ในการค้าขาย ขัดแข็งต่อการจับกุมและลงโทษซึ่งตุลาการของระบบนั้นเป็นผู้ลงโทษ

 

พวกนายทุนสมัยใหม่ได้ใช้ความพยายามทุกอย่าง ในอันที่จะทำลายเครื่องกีดขวางต่างๆของสังคมศักดินา พวกเขาจำต้องดำเนินการรวบรวมกำลังเพื่อทำการอภิวัฒน์โดยใช้กำลังอาวุธ จำต้องนำประชาชนให้จับอาวุธขึ้นขัดแข็งกับกษัตริย์และระบบการกดขี่ที่มีอยู่ในเวลานั้น จำต้องทำให้เหล่าผู้ปกครองศักดินาต้องปราชัยโดยวิธีการทหาร ต่อเมื่อได้จัดการให้ชนชั้นสูงที่ถืออำนาจปกครองอยู่ในเวลานั้นปราชัยลงได้แล้ว จึงจะเป็นการอยู่ในวิสัยที่ชนชั้นนายทุนสมัยใหม่จะได้เปลี่ยนฐานะเป็นชนชั้นปกครอง และจึงจะสามารถทำลายเครื่องกีดขวางต่างๆที่ระบบศักดินาได้ตั้งตรึงไว้ อันเป็นการกีดกั้นมิให้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้คลี่คลายขยายตัว