รบทำไมและรบเพื่อใคร?
จากบทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
สงครามในยุคของศักดินา เป็นการรบเพื่อชาติ (คือประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม)หรือรบเพื่อเจ้าศักดินาและบริวาร? พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง พระราชพิธี ๑๒ เดือน (ตอนว่าด้วยพระราชพิธีสัจจปานกาล คือ ถือน้ำพิพัฒสัจจา)ได้ให้คำตอบไว้อย่างแจ่มชัดดังนี้
“เมื่อจะคิดหาต้นเหตุการถือน้ำให้ได้ความว่า เหตุใดเมื่อให้คนอ่านคำสาบานทำสัตย์แล้ว จึงต้องให้ดื่มน้ำชำระพระแสงอีกด้วยเล่า ก็เห็นว่าลัทธิที่ใช้น้ำล้างอาวุธเป็นน้ำสาบานนี้ ต้นแรกที่จะเกิดขึ้นด้วยการทหารเป็นวิธีขัตติยฤากระษัตริย์ ที่นับว่าเป็นชาติทหารในจำพวกที่หนึ่งของชาติ ซึ่งแบ่งกันอยู่ในประเทศอินเดียคล้ายกันกับไนต์ของอังกฤษ ฤาสุมุไรของญี่ปุ่นชาติขัตติยเป็นชาติที่ไม่ได้หากินด้วยการค้าขาย ไถ หว่าน ปลูกเพาะ ฤารับไทยทานผู้หนึ่งผู้ใดให้ ย่อมหาเลี้ยงชีวิตด้วยคมอาวุธ แต่มิใช่ผู้ร้ายเที่ยวลอบลักทำโจรกรรม ใช้ปราบปรามโดยตรงซึ่งหน้า ให้ตกอยู่ในอำนาจแล้วแลได้ทรัพย์สมบัติโดยผู้ซึ่งกลัวเกรงอำนาจยกยอให้ แต่การที่ประพฤติเช่นนี้เมื่อว่าโดยอย่างยิ่งแล้วก็อยูในเป็นผู้ร้ายนั่นเอง แต่เป็นผู้ร้ายที่มีความสัตย์ แลคิดแบ่งการที่ตัวประพฤติ (ถึงแม้ว่าไม่เป็นธรรมแท้ของโลกย์) ออกเป็น ๒ ภาค ภาคหนึ่งถือว่าการซึ่งตนจะกระทำเช่นนั้นไม่เป็นการผิดธรรม ภาคหนึ่งถ้าตนจะกระทำเช่นนั้นเป็นการผิดธรรม คำว่าธรรมในที่นี้เป็นธรรมของขัตติย มิใช่ธรรมของโลกย์ เมื่อว่าเท่านี้ยังจะเข้าใจยาก จะต้องยกตัวอย่างให้เห็นหน่อยหนึ่ง
ว่าตามลัทธิความประพฤติของชาติขัตติยโบราณ คือเหมือนหนึ่งว่าผู้มีอำนาจเป็นชาติขัตติยได้ปกครองแผ่นดิน ทราบว่าลูกสาวของขัตติยเมืองอื่นมีอยู่สมควรแก่ตนๆ ตนยังมีคู่ซึ่งจะได้อภิเศก เมื่อไปสู่ขอ บิดามารดาของหญิงนั้นไม่ยอมให้ ขัตติยผู้ที่ไปสู่ขอถือว่าการที่ตัวคิดนั้นเป็นการชอบธรรม ด้วยใช่ว่าจะเอามาทำอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด ประสงค์มายกย่องให้เป็นใหญ่เป็นโต บิดามารดาของหญิงที่ไม่ยอมให้นั้นหมิ่นประมาทผู้ซึ่งไปขอ เป็นการประพฤติผิดธรรมประเพณี เพราะไม่รักษากิริยาอันดีต่อกัน ผู้ซึ่งไปสู่ขอสามารถที่จะประกาศแก่ทหารของตัว ว่าการซึ่งตัวประพฤตินั้นเป็นการชอบธรรม แต่บิดามารดาของหญิงประพฤติไม่ชอบธรรม จะต้องยกไปรบชิงเอานางให้จงได้ แล้วก็ยกกองทัพไปทำลายบ้านเมืองนั้นเสียได้ โดยมิได้ถือเป็นการผิดธรรม
ฤาเมื่ออยู่ดีๆ เชื่อว่าตัวมีวิชาความรู้กำลังวังชาแข็งแรง ยกไปชวนพระราชาที่เป็นชาติขัตติยอื่นซี่งเสมอๆกัน ให้มาลองฝีมือ เมื่อผู้ใดแพ้บ้านเมืองก็เป็นสินพนัน ก็ถือว่าการซึ่งขัตติยผู้ไปชวนนั้นไม่ได้ประพฤติผิดธรรมเหมือนกัน
ถ้าขัตติยนั้นไปพบลูกสาวชาวบ้าน ซึ่งมีชาติต่ำกำลังน้อยไม่สามารถจะต่อสู้ ฉุดชิงมาด้วยกำลังพวกมากฤาเห็นคนยากไร้เดินอยู่ตามถนน เอาศาสตราวุธประหารให้ถึงแก่ความตาย ฤาป่วยลำบาก ขัตติยผู้ซึ่งประพฤติการทั้งสองอย่างนี้ เป็นประพฤติผิดธรรม การยุติธรรมและไม่ยุติธรรมฤาต้องด้วยธรรมและไม่ต้องด้วยของพวกขัตติยนั้นเป็นดังนี้ จึงกล่าวว่ามิใช่ยุติธรรมของโลกีย์”