ลัทธิสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ล้าสมัยและล่มสลาย?
(จากหนังสือของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ปี 2541)
จากการยกระดับการผลิต ซึ่งมีผลเป็นการยกระดับที่มีแผนการ ในสังคมทุนนิยม การสร้างโรงงานใหม่ๆ และการเพิ่มการผลิตสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมานั้น จะกระทำกันก็ต่อเมื่อเห็นว่าจะได้กำไรสูงขึ้นจากการเพิ่มปริมาณในสิ่งเหล่านั้น และก็ไม่มีเหตุผลแต่อย่างใดว่า กำไรที่ได้มากขึ้นจากสินค้าอย่างหนึ่งนั้น จะหมายความว่าสินค้าที่กล่าวนั้นเป็นสินค้าที่ประชาชนส่วนมากต้องการ ความต้องการของสินค้าเช่นว่า อาจมาจากบุคคลกลุ่มน้อยที่มั่งคั่งเท่านั้น หรือมิฉะนั้น การขึ้นสูงของราคาสินค้านั้น ก็อาจเกิดจากการบัดดาลของพฤติการณ์พิเศษอันใดอันหนึ่ง
ในสังคมที่ถือเอากำไรเป็นมูลเหตุในอันจะเพิ่มปริมาณการผลิตหรือปริมาณสินค้า ก็จะต้องเผชิญกับความสับสนอลหม่านในการผลิตอยู่ร่ำไป และผลจากการนั้น ก็คือจะเกิดความล้นเหลือในสินค้าประเภทหนึ่ง และจะเกิดความขาดแคลนในสินค้าอีกประเภทหนึ่ง ผลเช่นนี้จะมีอยู่ไม่ขาดสายในสังคมทุนนิยม
ในระบบสังคมนิยม มิได้ถือเอา “กำไร” เป็นเป้าหมายในการผลิตหากถือเอา “การใช้” เป็นเป้าหมาย เหตุฉะนั้น ในระบบสังคมนิยมการวางแผนการผลิตจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยจะทำได้ และก็อาจจะทำได้โดยไม่ต้องรอให้สังคมได้เข้าครอบครองกิจการอุตสาหกรรมไว้ทั้งหมด
ในทันทีที่วิสาหกิจใหญ่ๆ ได้เปลี่ยนมาอยูในครอบครองของสังคมแล้ว และวิสาหกิจขนาดย่อมอื่นๆ อยู่ในขั้นจัดวางระเบียบ การวางแผนการผลิตก็อาจเริ่มขึ้นได้ แผนการผลิตดังว่านั้นจะอำนวยผลได้ถูกต้องตามแผนยิ่งขึ้นทุกๆปีที่ผ่านไป และทั้งๆที่ความจริงมีอยู่ว่า ในระบบสังคมนิยมนั้นอุปกรณ์การผลิตย่อมจะเพิ่มพูนทับทวีขึ้นทุกที ซึ่งเป็นเหตุให้ผลิตผลเพิ่มทวีตามขึ้นไปด้วย แต่เหตุไฉนจึงไม่เกิดความล้นเหลือของผลผลิตหรือสินค้าจนถึงกับต้องทำลายทิ้งอย่างเช่น ในระบบทุนนิยม ซึ่งเราจะได้ทำความเข้าใจกันต่อไป
แผนการผลิตแห่งชาตินั้นประกอบด้วยแผนการสองแผน คือแผนการเพื่อการเพิ่มพูนอุปกรณ์การผลิต อันได้แก่อาคารสถานที่ เครื่องจักร วัตถุดิบ เป็นอาทิ และอีกแผนการหนึ่ง ได้แก่แผนการผลิตสิ่งของเพื่อการอุปโภค บริโภค และสิ่งของเพื่อการอุปโภคบริโภคนั้นมิได้หมายถึงแต่เพียงสิ่งของจำพวกอาหารและเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น
แต่หมายถึงรวมสิ่งของเพื่อการศึกษา เพื่อบริการสุขภาพอนามัย เพื่อความบันเทิงเริงรมย์ เพื่อการกีฬาและอื่นๆ และโดยที่กำลังเพื่อใช้ในการป้องกันระบบสังคมนิยมที่ยังจะต้องมีอยู่ และตราบเท่าที่จะต้องมีอยู่ในขณะนที่ระบบสังคมนิยมยังไม่ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก กำลังประเภทนี้จึงต้องกำหนดไว้ในแผนการด้วย
เหตุที่จะไม่มีวันจะได้กับการผลิตสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างล้นเหลือ หรือล้นตลาดในระบบสังคมนิยมนั้น ก็เพราะว่าสิ่งของทั้งหมดที่ผลิตขึ้นมาจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนไปสู่ประชาชน ซึ่งหมายถึงว่าค่าจ้างทั้งหมดและเงินได้ทุกประเภทของประชาชน จะได้รับการกำหนดลงไว้ให้เท่าเทียมกับราคาทั้งสิ้นของสิ่งของที่ประชาชนจะใช้บริโภค
จริงอยู่ อาจมีการวางแผนที่ไม่ดีพอ คืออาจกำหนดให้ผลิตสิ่งของอย่างหนึ่งเกินกว่าจำนวนที่ประชาชนต้องการ และกำหนดให้ผลิตสิ่งของอีกอย่างหนึ่งน้อยกว่าที่ประชาชนต้องการ แต่ข้อบกพร่องผิดพลาดเช่นนี้แก้ไขได้ง่าย โดยการปรับปรุงแผนการแผนต่อไปให้เหมาะสม เพื่อที่จะได้ดุลยภาพอันถูกต้อง
ปัญหาที่จะเกิดขึ้น จะมีอยู่ก็แต่ในเรื่องการปรับปรุงการผลิตระหว่างสิ่งของต่างๆ ให้สมดุลกันเท่านั้น แต่จะไม่มีปัญหาเรื่องการลดปริมาณการผลิตสิ่งของทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะว่าการบริโภคหรือการใช้สิ่งของรวมทั้งสิ้นนั้น จะไม่น้อยไปกว่าจำนวนทั้งสิ้นของสิ่งของที่ผลิตขึ้นใช้และเพื่อการบริโภคเลย และเช่นเดียวกับที่ต้องมีการผลิตที่มีแผนการ ก็ต้องจัดให้มีการแบ่งปันสิ่งของหรือการวิภาคที่มีแผนการเช่นเดียวกัน
วิภาคกรรมหรือการแบ่งปันสิ่งของที่มีแผนการนั้น หาได้หมายถึงการนำสิ่งของมาแบ่งปันกันโดยตรงแก่ประชาชนผู้บริโภคไม่ กลไกที่นำมาใช้ในการแบ่งปันสิ่งของให้ถึงมือประชาชนนั้น ได้แก่การจ่ายเงินให้แก่ประชาชนในรูปของการจ่ายเงินค่าจ้างหรือเงินสงเคราะห์
โดยที่ราคาสินค้าที่ใช้บริโภคถูกำหนดไว้ว่า จะต้องมีราคาเท่านั้น เท่านี้ เงินค่าจ้างและเงินสงเคราะห์ทั้งหมดที่จ่ายออกไป จึงอาจคำนวณให้เสมอกันกับราคาทั้งหมดของสินค้าที่ใช้ในการบริโภค
โดยเหตุฉะนั้นจึงย่อมจะไม่มีการเหลื่อมล้ำกันในระหว่างผลิตกรรมกับบริโภคกรรม กล่าวคือประชาชนย่อมจะได้ทุกๆสิ่งที่พึงซื้อหาเอาได้ในท้องตลาด ผลิตกรรมที่เพิ่มขึ้นจึงหมายถึงการเพิ่มจำนวนสินค้าที่ประชาชนอาจซื้อหาเอาได้ และนั่นคือประชาชนได้บริโภคสินค้าในจำนวนที่มากขึ้น
มักจะมีการเข้าใจบทบาทของ “ราคาสินค้า” ในระบบสังคมนิยมผิดไปจากความเป็นจริง ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น ความขึ้นลงของราคาสินค้าแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสนอง(Supply)กับการเสนอ (Demand)หรือระหว่างการสนองขายและการเสนอซื้อ
ถ้าราคาสูงขึ้นก็หมายความว่าการสนองขายมีจำนวนน้อยเกินไป (คือสินค้าน้อยเกินไป)แต่การเสนอซื้อมีมาก(คือคนซื้อมีมาก) ก็ต้องแย่งกันซื้อ ถ้าราคาต่ำลงก็หมายถึงว่าการสนองขายมีจำนวนมากเกินไป (คือสินค้ามากเกินไป)แต่การเสนอซื้อมีน้อย (คือคนซื้อมีน้อย) จึงจำต้องลดการสนองขายหรือลดจำนวนสินค้าลงมาเพื่อยับยั้งการตกต่ำของราคา จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ราคาสินค้าทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดการผลิต
แต่ในระบบสังคมนิยม ราคาสินค้าไม่ได้ทำหน้าที่เช่นนั้น หากทำหน้าที่เป็นเครื่องกำหนดการบริโภค กล่าวคือ
การผลิตสินค้าเครื่องใช้ต่างๆ ในระบบสังคมนิยมนั้นย่อมดำเนินไปตามแผนการ และราคาสินค้าก็จะถูกกำหนดลงในแผนการด้วยความรอบคอบ เพื่อให้สำเร็จผลในประการที่ว่าสิ่งที่ผลิตขึ้นมา ประชาชนจะต้องได้บริโภค จะไม่ถูกทำลายไปเพราะประชาชนไม่มีเงินจะซื้อหามาบริโภคหรือว่าเพราะต้องการจะยับยั้งความตกต่ำของราคาสินค้า อย่างที่เกิดขึ้นเป็นประจำในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
สินค้าที่ใช้บริโภคที่ผลิตขึ้นมานั้นได้แบ่งปันไปในหมู่ประชาชนโดยอาการอย่างไร? หากจะมีผู้ใดคิดว่าผลิตผลทั้งหมดนั้นควรจะแบ่งปันให้หมู่ประชาชนโดยส่วนเท่าๆกันแล้ว ก็เป็นการเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ก็เพราะว่าสังคมนิยมไม่ได้ก่อสร้างขึ้นมาในรูปที่ใหม่ถอดด้าม หากได้ก่อตั้งขึ้นมาบนรากฐานที่ได้รับมรดกจากระบบทุนนิยมดังกล่าวแล้ว
ดังนั้นในฐานะที่ยังเยาว์วัยอยู่ ระบบสังคมนิยมจึงไม่สามารถที่จะอำนวยให้ประชาชนทุกคนได้รับการแบ่งปันเครื่องอุปโภค-บริโภค โดยเท่าเทียมกันได้ และถ้าหากขืนแบ่งปันให้เท่ากัน ก็เท่ากับว่า เป็นการลงโทษประชาชน โดยไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนเพียงพอนั้นเอง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ขอให้ติดตามศึกษาต่อไป อย่างฟังแต่เพียงเขาเล่าว่า
การพิจารณาแบ่งปันผลิตผลของสังคมให้แก่ทุกคนโดยส่วนเท่าๆกันนั้น ก็จะเท่ากับเป็นการลงโทษบุคคลที่มีฝีมือและรากฐานการครองชีพสูงกว่าระดับทั่วไป คนจำพวกผู้มีฝีมือ ผู้ทำงานในการเพิ่มผลิตผลนั้น ตามความเป็นจริง งานของเขาย่อมมีความสำคัญแก่สังคมยิ่งกว่างานของกรรมกรผู้ไม่มีฝีมือ
ดังนั้น ถ้าแบ่งปันสิ่งของเครื่องบริโภค-อุปโภค ให้แก่คนงานที่มีฝีมือเท่ากับคนงานไร้ฝีมือแล้ว ก็จะเป็นการลงโทษคนงานที่มีฝีมือทีเดียว
ความเสมอภาคที่ปรับขึ้นมาจากภาวะความเป็นอยู่อันไม่เสมอกัน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากเศรษฐกิจทุนนิยมนั้น จะเรียกว่าเป็นความเสมอภาคที่เป็นธรรมหาได้ไม่ หากจะกลายเป็นความเสมอภาคที่ไม่เป็นธรรม และจะนำพาไปสู่ความล้มเหลวของการสถาปนาสังคมใหม่ ดังที่ สหภาพโซเวียตได้ประสบมาแล้ว นับแต่การขึ้นครองอำนาจของนิกิต้าครุสซอฟในปี ๑๙๕๔ ท่านนักวิทยาศาสตร์สังคมได้กล่าวไว้ว่า
“สิทธิ์ต่างๆนั้น แทนที่จะเป็นสิทธิ์เท่ากัน จะต้องเป็นสิทธิ์ที่ไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมนั้นไม่อาจตั้งตนไว้เหนือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของสังคมและความคลี่คลายทางวัฒนธรรมก็จะต้องอนุโลมตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ”
ประชาชนที่เพิ่งโผล่ออกจากสังคมทุนนิยมนั้น ตามความเป็นจริงย่อมมีฐานะไม่เท่ากันและก็จะต้องได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันอยู่เอง(ในช่วงระยะหนึ่งที่เรียกว่าระยะผ่าน)
หากว่าสังคมประสงค์จะให้ความเป็นธรรมแก่เขาเหล่านั้น ด้วยการแบ่งผลิตผลให้เขาเหล่านั้นเท่าๆกันแล้ว ก็เท่ากับว่าสังคมไม่ให้ความเป็นธรรมแก่เขาเหล่านั้นนั่นเอง
โดยนัยดังกล่าวแล้ว สังคมในชั้นนี้เป็นแต่เพีงการขจัดการกดขี่ขูดรีด เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เท่าที่ความสามารถของเขาแต่ละคนผลิตได้ และโดยนัยนี้ ผู้ใดที่ทำงานเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมในระดับสูง ก็สมควรจะได้จัดให้เขาได้มีมาตรฐานการครองชีพสูงตามขึ้นไปด้วย
No comments:
Post a Comment