Sunday, February 22, 2009

บทความที่๔๓๘.บทสัมภาษณ์หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์(จบ)

บทสัมภาษณ์พิเศษ หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์-ผู้พิพากษาผู้ทำความเห็นแย้งในชั้นศาลอุทธรณ์คดี ๓ มหาดเล็กประทุษร้าย ร.๘
โดย นเรศ นโรปกรณ์ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๗
(คัดลอกจากหนังสือคำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ จากชุดหนังสืองาน ๑๐๐ ปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์)

นเรศ-ที่ว่านี้ก็แสดงว่าท่านก็ยอมรับว่าได้มีและได้ทราบข่าวลือหลายแง่หลายมุมอยู่เหมือนกันในระหว่างนั้นใช่ไหมครับ?
หลวงปริพนธ์-ลือกันมาก! ไหนๆคุณก็ถามถึงอย่างนี้แล้ว ผมขอเรียนว่า ผมอ่านเอกสารทุกชิ้นโดยมิเห็นแก่เหน็ดเหนื่อยก็เพื่อจะมิให้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านไปเฉยๆ ผมคำนึงในฐานะผู้พิพากษาว่า แง่มุมใดๆ ที่ชวนให้เขวไปตามข่าวลือแล้ว ผมจะไม่ยอมให้ผ่านไปเด็ดขาด

นเรศ-การเสกสรรปั้นแต่งที่แนบเนียนก็ย่อมจะมีขึ้นได้ ผมได้ยินเขาพูดกันอยู่
หลวงปริพนธ์-การเสี้ยมสอนพยานในบางคดี ก็เคยเห็นเคยได้ยิน แต่ที่เกี่ยวกับข่าวลือในกรณีสวรรคตนี้ นอกจากการลือถึงนายปรีดี ผมพูดได้ว่า ถ้าเป็นจริงอย่างที่ลือก็คงจะมีแง่มุมให้เห็นบ้าง

นเรศ-นี่ไม่เห็นเลยหรือครับ?
หลวงปริพนธ์-ไม่เห็นอะไรสักนิด ขณะนี้ผมก็อายุ ๗๖-๗๗ ก็ใกล้ตายเต็มทีแล้ว ผมขอพูดเสียเลยว่า ถ้ากรณีสวรรคตเป็นไปตามข่าวลือต่างๆ ที่ยังลือมาจนกระทั่งบัดนี้ ผมเชื่อว่าผมคงจะต้องพบอะไร “แหลม” ออกมาบ้าง แต่ผมก็ไม่พบอะไรจริงๆ

นเรศ-หมายความว่าที่ลือว่า นายปรีดีฆ่าในหลวงก็ไม่มีเค้า?
หลวงปริพนธ์-ไม่พบเค้าเลย

นเรศ-ที่ลือว่าอุบัติเหตุด้วยน้ำมือคนอื่นก็ไม่จริง?
หลวงปริพนธ์-ไม่พบเค้าเลย

นเรศ-ที่ลือว่าทรงยิงพระองค์เองก็ไม่เป็นความจริง?
หลวงปริพนธ์-ไม่พบเค้าอีกเช่นกัน

นเรศ-ถ้ากระนั้นก็เหลือทางเดียว
หลวงปริพนธ์-ทางเดียว

นเรศ-อุบัติเหตุใช่ไหมครับ?
หลวงปริพนธ์-ครับ ตามความเห็นแย้งที่ผมยังยืนยันไว้นั่นแหละ

นเรศ-ผมเห็นจะต้องกราบรบกวนท่านต่อไป
หลวงปริพนธ์-เชิญครับ

นเรศ-ท่านรู้จักท่านปรีดี พนมยงค์ มากน้อยเพียงใด?
หลวงปริพนธ์-รู้จักธรรมดาๆ ตั้งแต่อยู่เมืองนอก แล้วก็รับราชการด้วยกัน ผมเคยอยู่คณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อผมย้ายแล้วเขาก็ไปแทนผม

นเรศ-กลับจากเมืองนอกแล้ว นายปรีดีเคยชวนท่านเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้างไหมครับ?
หลวงปริพนธ์-ไม่เคย เรื่องการบ้านการเมืองไม่เคยเกี่ยวข้องกัน

นเรศ-ความสนิทสนมกันล่ะครับ ?
หลวงปริพนธ์-ถ้าไม่เรียกว่ารู้จักกันธรรมดาก็รู้จักโดยหน้าที่ราชการความสนิทสนมกันไม่มี

นเรศ-การมีความเห็นแย้งของท่าน เป็นที่พูดกันอย่าไรบ้างหรือไม่ในบรรดาสามจำเลย รวมทั้งนายปรีดีหรือเรือเอกวัชรชัย?
หลวงปริพนธ์-ผมไม่ทราบ ผมไม่เคยทราบอะไรเลย

นเรศ-ได้ข่าวว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและตำรวจในระยะนั้น “ข้องใจ” ท่านมาก
หลวงปริพนธ์-ตำรวจเขาส่งคนมาสอบถามสามสี่ข้อด้วยกัน คือ
๑.ฐานะดั้งเดิม
๒.ความคิดเห็นทางการเมืองและสมัครพรรคพวกทางการเมือง
๓.การเงิน ในช่วงระยะเวลาเหล่านั้น
๔.เหมือนที่คุณนเรศซักผมเมื่อตะกี้ว่าเกี่ยวข้องกับนายปรีดีลึกตื้นอย่างไรเพียงไร?

นเรศ-ท่านตอบเขาอย่างไร?
หลวงปริพนธ์-ผมก็ตอบเขาตามที่เป็นจริง คือ
๑.ฐานะดั้งเดิมก็ลูกชาวนาอยู่บางเหี้ย สะพานคลองด่าน สมุทรปราการนี้เอง
๒.ความเห็นทางการเมืองก็ประชาธิปไตย แต่ไม่ได้เล่น เพราะรับราชการจึงไม่มีสมัครพรรคพวก
๓.การเงิน ก็เงินเดือนผู้พิพากษาและเลี้ยงหมาไทย(หมาหลังอาน)ขายบ้าง
๔.การเกี่ยวข้องกับนายปรีดีก็อย่างที่ตอบคุณนเรศไปแล้ว

นเรศ-การขู่เข็ญอย่างอื่นมีอะไรบ้างไหมครับ?
หลวงปริพนธ์-มีคนมาบอกตลอดเวลาว่าเขาจะเล่นงานผมเหมือนกันได้เฝ้าติดตามอยู่ถึงสองปี เมื่อเห็นว่า ผมอยู่กับหมาไทยแน่ๆ แล้ว ก็มีคนมาบอกผมอีกว่าเขาเลิกสนใจ และตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่ต้องคอยระวังตัวอีก

นเรศ-ทางด้านศาลอุทธรณ์ เมื่อท่านมีความเห็นแย้งครั้งแรก มีปฏิกิริยาอะไรบ้างหรือเปล่าครับ?
หลวงปริพนธ์- แหม! ก็ไม่น่าจะพูด แต่ก็ขอเรียนว่ามีคนไม่พอใจ ถูกกระแหนะกระแหนว่านั่นว่านี่บ้าง จะไม่อ่านความเห็นแย้งให้บ้าง

นเรศ-ท่านตอบโต้อย่างไร?
หลวงปริพนธ์-ก็ไม่ตอบโต้อะไร ความเห็นแย้งนี่มันเป็นสิทธิของผม เขาก็นำเรื่องไปถึงกระทรวง เสนออธิบดีศาลอุทธรณ์ คุณหลวงจำรูญเนติศาสตร์ท่านถามผม ผมก็ตอบไปว่า ผมเห็นอย่างนั้นๆ ท่านก็นิ่ง

นเรศ-ในที่สุดก็อ่านความเห็นแย้งของท่านต่อท้ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หลวงปริพนธ์-ครับ อ่านต่อท้าย

นเรศ-ท่านคิดว่า ความเห็นแย้งของท่านเมื่อเทียบกับคำพิพากษาของทั้งสามศาลแล้วเป็นอย่างไร?
หลวงปริพนธ์-โดยที่ผมยังยืนยันความเห็นแย้งของผมมาจนบัดนี้ ก็เท่ากับผมได้แย้งความเห็นของคนอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ทุกความเห็น ไม่จำเพาะแต่คำพิพากษาเท่านั้น

นเรศ-ท่านคิดว่าประชาชนจะพูดถึงความเห็นแย้งของท่านอย่างไร โดยเฉพาะในอนาคต?
หลวงปริพนธ์-ข้อนั้นผมรู้ไม่ได้

นเรศ-ตามที่นายปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นายวีระ โอสถานนท์ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “มหาราษฎร์” ว่า จอมพล ป. กับ พล.ต.อ.เผ่า ได้หลักฐานใหม่ ท่านคิดว่าในทางปฏิบัติ หากว่าเป็นความจริงอย่างนั้นจะทำอย่างไร?
หลวงปริพนธ์-ก็คงจะเป็นเรื่องของรัฐบาลจะออกกฎหมายอะไรทำนองนั้น เรื่องอย่างนี้เมืองไทยไม่เคยมีเหมือนเมืองนอกเขา สำหรับในกระบวนการยุติธรรมนั้น มันเป็นเรื่องของเดดแอนด์ดัน(dead and done) คือ เรื่องสำเร็จเด็ดขาดลงไปแล้ว เห็นจะทำอะไรอีกไม่ได้

นเรศ-ท่านคิดบ้างไหมว่า วันเวลาสำหรับการนำหลักฐานในแต่ละคดีมาสู่ศาลนั้น อาจจะเป็นอุปสรรคหรือจำกัดข้อเท็จจริง หรือทำให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด?
หลวงปริพนธ์-ก็อาจเป็นบ้าง

นเรศ-คำพิพากษาของศาลย่อมถูกจำกัดด้วยคำฟ้องของโจทก์หรือข้อต่อสู้ของจำเลยในแต่ละคดี นั่นหมายความว่า ข้อเท็จจริงแท้ๆ อาจย่อหย่อนได้ไม่มากก็น้อย ท่านคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างนี้บ้างหรือไม่?
หลวงปริพนธ์-ก็อาจเป็นบ้าง แต่ทำไมจะต้องเป็นอย่างนั้น? สมมติฐานของคุณนเรศ ถ้ายกตัวอย่างกรณีสวรรคต ผมก็ไม่เชื่อว่าจำเลยจะหลงลืมข้อเท็จจริงหรือปรารถนาให้ข้อเท็จจริงย่อหย่อนอย่างแน่นอน ผมอยากจะสมมติให้คุณนเรศฟังบ้างว่า ผัวเมียซึ่งรักกันปานจะกลืน แม้หากเมื่อจำเป็นต้องหนีภัยก็คงจะกระเจิดกระเจิงจนพลัดกันได้ไม่ตอนใดก็ตอนหนึ่งนี่ก็อย่างที่ผมว่าไว้แล้วแต่ต้นว่า ถ้ามีอะไรซ่อนเร้นอยู่ก็จะต้องพบเห็นแห่งมุมนั้นๆบ้าง แต่ผมไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นเลย จึงไม่คิดว่าฝ่ายจำเลยจะย่อหย่อนข้อเท็จจริงอะไรไว้

นเรศ-ผมขอบพระคุณท่านสำหรับความกรุณาให้ผมได้สัมภาษณ์ตลอดมา ซึ่งผมคิดว่า สัมภาษณ์ครั้งนี้แล้วก็คงจะไม่ต้องสัมภาษณ์ท่านอีกแน่ๆ
หลวงปริพนธ์-ถ้าผมยังไม่ตายเสียก่อน คุณนเรศอยากจะมาคุยอะไรก็เชิญ

นเรศ-ขอบพระคุณท่านครับ

No comments: