Sunday, February 22, 2009

บทความที่๔๓๗.บทสัมภาษณ์หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์(๑)

บทสัมภาษณ์พิเศษ หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์-ผู้พิพากษาผู้ทำความเห็นแย้งในชั้นศาลอุทธรณ์คดี ๓ มหาดเล็กประทุษร้าย ร.๘
โดย นเรศ นโรปกรณ์ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๗
(คัดลอกจากหนังสือคำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘ จากชุดหนังสืองาน ๑๐๐ ปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์)


นเรศ- สวัสดีครับท่าน
หลวงปริพนธ์-สวัสดีครับคุณนเรศ

นเรศ-ผมมารบกวนท่านอีกแล้วครับ
หลวงปริพนธ์-เอาเลย มีอะไรหรือ?

นเรศ –ทุกครั้งที่กรณีสวรรคตเป็นข่าวเกรียวกราว ผมก็มาสัมภาษณ์ท่านในฐานะผู้พิพากษาอุทธรณ์ที่มีความเห็นแย้งผู้พิพากษาอื่นอีกสี่ท่านหรือถ้าจะนับกันทั้งสามศาล ท่านก็แย้งผู้พิพากษาถึง ๑๔ ท่านด้วยกัน นี่คงจะรบกวนท่านเรื่องเดิม
หลวงปริพนธ์-คราวก่อนคุณนเรศอยู่หนังสือพิมพ์อะไร?

นเรศ-ไทรายวัน พิมพ์ไทย กรุงเทพฯ เสรีไทย ฯลฯ แต่ฉบับไหนก่อนหรือหลังก็ลืมๆ แล้วครับ
หลวงปริพนธ์-คราวนี้อยู่สยามรัฐหรือ?

นเรศ-ครับ สยามรัฐ แต่ผมมาสัมภาษณ์ท่านเป็นการส่วนตัว ในฐานะผู้รวบรวมเรื่องกรณีสวรรคตเป็นรายหลังสุด
หลวงปริพนธ์-ได้ข่าวว่าพิมพ์กันหลายเล่ม

นเรศ- ครับ รายแรกก็หมอสรรใจ แสงวิเชียร กับคุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย,รายที่๒ คุณสุพจน์ ด่านตระกูล,รายที่ ๓ คุณชาลี เอี่ยมกระสินธุ์,รายที่๔ คุณประพัฒน์ ตรีณรงค์, รายที่๕ ที่ ๖ ก็มีครับ แล้วยังมีคำพิพากษาครบทั้งสามศาลเสียอีก โดยเฉพาะคำพิพากษานี้เองที่ผมอยู่เฉยไม่ได้ ทั้งที่ไม่คิดจะรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้มาก่อนเลย
หลวงปริพนธ์-เป็นยังไง? คำพิพากษาเป็นยังไงหรือ ?

นเรศ-ผมเคยอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ก็ต่อท้ายด้วยความเห็นแย้งของท่านใช่ไหมล่ะครับ?
หลวงปริพนธ์-ครับ

นเรศ-แต่ในคำพิพากษาที่เขาจัดพิมพ์ใหม่นี้ ไม่มีความเห็นแย้งของท่าน ผมก็เลยคิดว่าในแง่ประวัติศาสตร์คงไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร นี่แหละครับจึงต้องมากราบเรียนสัมภาษณ์ท่านเพิ่มเติม
หลวงปริพนธ์-ครับ แต่ผมยังได้ยินข่าวว่าฝรั่งก็พิมพ์กันด้วยไม่ใช่หรือ?

นเรศ-ตามข่าวก็ว่าหนังสือพิมพ์ฮ่องกงสแตนดาร์ดตีพิมพ์เป็นตอนๆ มีคำให้สัมภาษณ์ของเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช และในเมืองไทยนี้เองก็ทราบว่ามีการแปลหนังสือที่ฝรั่งเขียนเกี่ยวกับกรณีสวรรคตพิมพ์ขายเสียอีก แต่ขายกันลับๆ ผมก็อยากจะอ่านอยู่เหมือนกันแต่ไม่ปะช่องเสียที มันจะใช่ฝรั่งเจ้าเก่านั่นหรือเจ้าไหนก็ไม่ทราบ นี่ผมก็ว่าไปตามไปตามๆที่เขาว่ากันนะครับ แต่เมื่อดูตามจำนวนคืนซื้อ เล่มแรกๆ ร่วมแสนแล้ว ก็แสดงว่าประชนสนใจเรื่องนี้จริงๆ
หลวงปริพนธ์- นั่นซี ความอยากรู้ของคนเราก็อย่างนี้เอง คุณนเรศจะมาเอาอะไรจากผมอีก ผมก็พูดได้ตามความเห็นแย้งเท่านั้น

นเรศ-ผมอยากจะทราบอะไรๆ จากท่านหลายอย่าง ประการแรก ที่ผมเคยมาเรียนสัมภาษณ์ท่านหลายครั้งแล้วนั้น อายุความของคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด ประการหลัง วันเวลาที่เนิ่นนานมาอย่างนี้ ท่านอยากจะพูดอะไรเพิ่มเติมอีกบ้างก็สุดแต่ท่านจะพอใจ กรุณาตอบตามสบายเลยครับ
หลวงปริพนธ์-ผมก็คงตอบอย่างที่เคยตอบคุณนเรศมาแล้วว่า ความเห็นเกี่ยวกับกรณีสวรรคตย่อมจะแตกต่างกันได้ไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งถ้าเกี่ยวกับการเมืองหรือนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างนายปรีดี พนมยงค์ หรือคุณหลวงประดิษฐ์ฯ อย่างนี้ คนก็ต่างว่ากันไปต่างๆ นานา คนนั้นว่างี้ คนนี้ว่างั้น แต่ไม่ว่าใครจะว่ายังไง ผมก็เห็นว่าจำเลยทั้ง ๓ คนคือนายชิต นายบุศย์ นายเฉลียว ไม่ควรจะ..ควรจะปล่อยตัวนั่นแหละ แม้จนเดี๋ยวนี้ผมก็ยังเห็นอยู่อย่างนั้น

นเรศ-เป็นความเชื่อของท่านหรือครับ?
หลวงปริพนธ์-เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง จากหลักฐานทุกอย่างทุกประการเท่าที่มีมากมายเหลือเกิน และผมได้จับต้องลูบคลำมาแล้วทุกอย่างทุกชิ้นไม่ปล่อยให้ผ่านสายตาสักชิ้นเดียว มันจึงเกิดความเห็นแย้งขึ้นมาอย่างนั้น

นเรศ-ผมขอกราบเรียนเกี่ยวกับความเห็นแย้งเสียก่อนนะครับ เราจะเรียกว่าเป็นคำพิพากษาแย้งได้ไหม?
หลวงปริพนธ์-ไม่ใช่คำพิพากษา แต่เป็นความเห็นของผู้พิพากษาข้างน้อยในองค์คณะพิพากษาทั้งหมด เช่น ห้าคนก็อาจจะเป็นจำนวนแย้งสองต่อสาม หรือหนึ่งต่อห้า เรียกว่า “ความเห็นแย้ง” ตรงตัวนี่แหละครับ

นเรศ-ความเห็นแย้งทำเป็นลายลักษณ์อักษรเสมอไปไหม?
หลวงปริพนธ์-ไม่จำเป็น เว้นแต่คดีใหญ่ๆ

นเรศ-ผู้พิพากษาจะมีความเห็นแย้งได้ทุกศาลไหมละครับ?
หลวงปริพนธ์-มีได้เฉพาะศาลอาญาหรือศาลต้นกับศาลอุทธรณ์เท่านั้น ศาลฎีกามีความเห็นแย้งไม่ได้ หรือถึงจะมีก็ต้องยอมรับความเห็นของผู้พิพากษาข้างมาก

นเรศ-ผมเรียนถามแทรกอีกนิดเถอะครับ เพราะได้ทราบมาว่า ในศาลฎีกา เมื่อคดีนี้ผ่านการพิจารณาแล้ว ผู้พิพากษาสองในสามมีความเห็นแย้ง อย่างความเห็นแย้งของท่าน คือ ให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งสามไป
หลวงปริพนธ์-คุณทราบจากทางไหน?

นเรศ-ก็อย่างที่ท่านรู้จักผมนั่นแหละครับ สมัยเป็นนักข่าว ทางโรงพิมพ์มอบให้ผมทำข่าวนี้เรื่อยมาเกือบจะทุกโรงพิมพ์ทีเดียว ผมก็เลยได้ข่าวลือว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาสองในห้าท่านมีความเห็นแย้งดังกล่าว แต่ก็ไม่ทราบว่าจริงหรือเท็จ?
หลวงปริพนธ์-ผมตอบอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า ผมไม่ทราบว่าจริงหรือเท็จเหมือนกัน แต่ข่าวลือนั้นผมได้ยินอย่างเดียวกับคุณนเรศ ผมคิดว่าเราไม่ควรจะพูดถึงข่าวลือไม่ใช่หรือ?

นเรศ-ครับ ข่าวลือย่อมไม่เป็นที่พึงประสงค์ แต่กรณีสวรรคตเป็นเรื่องที่ไม่จบสิ้นจนทุกวันนี้เพราะข่าวลือนั่นเอง ท่านคงจะไม่ปฏิเสธว่าความเห็นที่แตกต่างกันไม่เป็นที่ยุติอย่างที่กล่าวก็เพราะข่าวลือแท้ๆ หรือท่านจะปฏิเสธว่าไม่มีข่าวลือ?
หลวงปริพนธ์-ก็ลือกันมาก!

นเรศ-ลือกันจนเกือบจะเสียผู้เสียคนไปอย่างนายปรีดี พนมยงค์ นั่นก็อย่างหนึ่ง ผมคิดว่าท่านคงไม่ปฏิเสธที่เขาลือกันว่านายปรีดีฆ่าในหลวง
หลวงปริพนธ์-ก็ได้ยินอยู่และมีในสำนวน

นเรศ-ควรมิควรแล้วแต่ท่านจะพิจารณาเถอะครับ ยังมีที่ลือต่อไปอีก ผมไม่ทราบว่าที่มีการพิจารณาลับเกี่ยวกับคดีสวรรคตเป็นเรื่องที่ลือนี้หรือเปล่า?
หลวงปริพนธ์-ผมอ่านเอกสารท่วมหัวมาแล้ว ขอยืนยันว่าในการพิจารณาลับนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจอะไรเลย

No comments: