ช่วงนี้มีการกล่าวถึงประเทศนิคารากัว ในฐานะประเทศที่คุณทักษิณ ชินวัตรไปเยือน จึงขอนำเรื่องราวของนิคารากัวที่น่าจดจำ ก็คือ การอภิวัฒน์ของประชาชนโค่นล้มผู้กดขี่ ขูดรีด จนได้รับความสำเร็จ มาให้ได้ศึกษากันอีกครั้งดังนี้
บทเรียนจากการปฏิวัติในนิคารากัว
ข่าวการเคลื่อนไหวทางเมืองในประเทศอเมริกากลางดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อ มวลชนและคนทั่วไป อาจเป็นเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อไทยไม่มากนัก ข่าวเกี่ยวกับอเมริกากลางเพิ่งจะได้รับความสนใจก็ในปี ๒๕๒๒ เมื่อกระแสการต่อสู้คัดค้านอำนาจเผด็จการโซโมซาจากประชาชนได้ทวีสูงขึ้น จนในที่สุดก็สามารถโค่นล้มระบบการปกครองของประธานาธิบดีโซโมซาลงได้ นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของประชาชนนิคารากัวในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ที่ปกครองมาเกือบครึ่งศตวรรษ
การโค่นล้มระบอบเผด็จการโซโมซา โดยกองกำลังปฏิวัติของแนวร่วมรักชาตินิคารากัว ภายใต้การนำของแนวร่วมปลดปล่อยแซนดินิสต้า (Sandinista Liberation National Front :FSLN) นั้น มีสิ่งที่น่าสนใจติดตามมาหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการผนึกกำลังแนวร่วม การประสานรูปแบบการต่อสู้ เป็นต้น
ในการต่อสู้กับผู้ปกครองเผด็จการนั้น นอกจากจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของการปฏิวัติให้สอดคล้องกับสภาพสังคมแล้ว ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีและรูปแบบของการต่อสู้ ก็จะต้องกำหนดให้สอดคล้องกับสภาพการต่อสู้ที่เป็นจริงด้วย จึงจะนำไปสู่ชัยชนะได้
ในทางหลักการแล้ว การจะต่อสู้เปลี่ยนแปลงไม่ควรปฏิเสธรูปแบบการต่อสู้ใดๆ แต่จะใช้รูปแบบการต่อสู้ใด เมื่อไรนั้นก็จะต้องกำหนดจากสภาพการณ์ที่เป็นจริง ระยะหรือขั้นตอนของการต่อสู้เป็นสำคัญ
การต่อสู้ของประชาชนนิคารากัว นอกจากจะต่อสู้ด้วยอาวุธแล้ว ยังประสานการต่อสู้ทางการเมืองหลายรูปแบบด้วย ตั้งแต่ การชุมนุม ประท้วง เดินขบวน นัดหยุดงาน หรือแม้กระทั่งการจับตัวประกัน
ในการดำเนินการต่อสู้นั้นนอกจากจะต้องมีกองหน้าของประชาชนเป็นส่วนนำแล้ว การผนึกกำลังของประชาชนชั้นชนต่างๆก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดอันหนึ่ง บทเรียนจากการปฏิวัตินิคารากัว ได้พิสูจน์ชี้ชัดว่า มีแต่ทำให้การผนึกกำลังของมวลประชามหาชนปรากฏเป็นจริงขึ้นเท่านั้น จึงจะสามารถโค่นล้มเผด็จการลงไปได้ในที่สุด
นิคารากัว
เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ประชาชนนิคารากัวได้โค่นล้มระบบเผด็จการของนายพลโซโมซาลง กองกำลังปฏิวัติของแนวร่วมรักชาติภายใต้การนำของขบวนการซันดินิสต์ เข้ายึดเมืองหลวงมานากัว ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม นับแต่นั้นมานิคารากัวได้กลายเป็น “เมกกะ” อีกแห่งหนึ่งของ “นักแสวงบุญการปฏิวัติ” จากทุกมุมโลก จากลาตินอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้เพราะเอกลักษณ์ของการปฏิวัตินิคารากัวเป็นสิ่งที่ควรแก่การศึกษาติดตาม ผลสะเทือนจากการปฏิวัตินิคารากัวนั้นใหญ่หลวง สิ่งทีเรียกว่า “ความวุ่นวาย” หรือ “ไฟปฏิวัติ” ที่กำลังลุกลามอยู่ในประเทศอเมริกากลางอื่นๆ ได้แก่ เอลซันวาดอร์ และกัวเตมาลา
นิคารากัวเป็นประเทศเล็กๆในอเมริกากลางแต่ประชาชนมีประวัตการต่อสู้อันยาวนาน ขบวนการปฏิวัติซันดิ นิสต์สามารถโค่นล้มระบบเผด็จการลงได้ด้วยการประสานรูปแบบการต่อสู้ และใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบพื้นฐานของการต่อสู้ได้อย่างมีศิลปะ บทเรียนจากการปฏิวัตินิคารากัวมีมากมายที่น่าศึกษา
การต่อสู้ของประชาชนนิคารากัว
ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ นิคารากัวก็เช่นเดียวกับประเทศอเมริกากลางอื่นๆที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสเปน ที่แผ่ตัวเข้ามาหาความมั่นคั่งและอาณานิคม จนกระทั่งกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓ นิคารากัว หลุดออกมาเป็นอิสรภาพอยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่ต่อมาเมืองชายฝั่งแบซิฟิกอันอุดมสมบูรณ์ ตกไปอยู่ในความอารักขาของอังกฤษจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๐๓ นิคารากัวกลับเป็นเอกราชสมบูรณ์อีก พอปีพ.ศ. ๒๔๕๕ สหรัฐอเมริกาแผ่อิทธิพลเข้ามาภายในประเทศ ถือสิทธิ์เด็ดขาดในการที่จะขุดคลองตัดผ่านประเทศ เช่นเดียวกับปานามา ประชาชนนิคารากัวได้ทำการต่อต้าน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สหรัฐฯ ส่งกำลังทหารเข้าทำการยึดครอง
ในระยะนี้เอง ขบวนการชาตินิยมนิคารากัวได้ลุกขึ้นสู้ภายใต้การนำของ โอกุสโต เซซาร์ ซันติโน โดยตั้งกองกำลังที่เรียกว่า กองทัพปกป้องอธิปไตยแห่งชาติขึ้น เพื่อปลดปล่อยประเทศออกจากอิทธิพลของสหรัฐฯ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๙ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นคือ ตาโช โซโมซา ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของนิคารากัว โดยมีอิทธิพลของอเมริกาหนุนหลังอยู่ ตั้งแต่นั้นมานิคารากัวก็ตกเป็นทาสทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ตาโช ครองอำนาจอยู่ถึงยี่สิบปี ก่อนจะถูกลอบสังหารโดยขบวนชาตินิยมในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในระหว่างยี่สิบปีที่อยู่ในอำนาจ ครอบครัวโซโมซาได้วางตำแหน่งทายาททางการเมืองไว้อย่างรัดกุม โดยส่งลูกชายคนโตและคนรองได้แก่ หลุยส์และอานัสตาซิโอ ไปศึกษาในสหรัฐฯ คนแรกเรียนทางพลเรือน คนหลังเรียนทางทหาร จึงไม่น่าสงสัยเลยที่ครอบครัวเผด็จการโซโมซาสามารถแผ่ขยายอำนาจครอบครองผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจนิคารากัวไว้ได้ โดย อานัสตาซิโอ เป็นผู้ควบคุม “หน่วยรบพิเศษ” (National Guard) ซึ่งเป็นหน่วยรบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด (ฝึกโดยตรงโดยผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน) ทำการคุ้มครองฐานอำนาจของตระกูลไว้
หลังจากตาโชถูกลอบสังหาร หลุยส์ โซโมซา ลูกชายคนโตได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๖ อำนาจหลุดมือจากตระกูลโซโมซาไปเป็นเวลา ๕ ปีเพราะแพ้เลือกตั้ง ในช่วงสมัยหลุยส์เป็นประธานาธิบดีนี้เองที่ขบวนการซันดินิสต์ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ ต่อมาตระกูลโซโมซาได้กลับมาครองอำนาจอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๑๐ โดย อานัสตาซิโอ น้องชายของหลุยส์ได้นำกำลัง”หน่วยรบพิเศษ” เข้ายึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ และสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจอมเผด็จการทหารสมบูรณ์แบบด้วยความเห็นชอบจากวอชิงตัน จากนั้นก็กำจัดคู่แข่งขันทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ตระกูลโซโมซาและบริวารทำการผูกขาดทางการเมือง ทางทหารและครอบงำทางเศรษฐกิจกว่าครึ่งประเทศ
เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในนิคารากัว ประชาชนตายและบาดเจ็บเกือบสามหมื่นคน คนเสียหายทางวัตถุมากมาย นานาชาติส่งความช่วยเหลือมหาศาลประมาณ ๘๐๐ ล้านดอลล่าร์มาช่วยประชาชนผู้ประสบภัย แต่โซโมซาและบริวารที่ควบคุมกลไกการบริหารกลับฉ้อฉล โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของประชาชน นี่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองของนิคารากัว
ระบบเผด็จการโซโมซาเริ่มถูกต่อต้านทางการเมืองจากประชาชนทุกระดับชั้นทางสังคม ในช่วงนี้เองที่ขบวนการซันดินิสต์เข้มแข็งขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและแนวร่วมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
แต่การต่อสู้ของขบวนการฯ ในช่วงนี้ก็ยังประสบความลำบาก หน่วยกองโจรขนาดเล็กที่ปฏิบัติการอยู่ตามภูเขาและป่าทึบ ต้องเผชิญกับกำลังขนาดใหญ่ของรัฐบาล บ่อยครั้งที่การล้อมปราบทำความเสียหายใหญ่หลวงให้แก่ขบวนการฯ ปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ขบวนการฯ ทำการรุกครั้งใหญ่ หน่วยกล้าตายจำนวนหนึ่งบุกเข้าจับตัวประกัน ๑๗ คน ๕ คนในนั้นเป็นรัฐมนตรีของรัฐบาล ขบวนการฯได้ตั้งข้อเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ๒๐ คน ค่าไถ่ ๕ ล้านดอลล่าร์ รัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้อง แต่หลังจากนั้นก็เริ่มปราบปรามรุนแรง มีการกวาดล้างกวาดจับทั่วประเทศ การทรมานนักโทษการเมืองเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การต่อสู้ของขบวนการซันดินิสต์แผ่ขยายมากขึ้นทุกที และประชาชนหันมาสนับสนุนยิ่งขึ้น ความช่วยเหลือ มีทั้งให้กำลังใจ สนับสนุนทางการเงิน ให้ที่หลบซ่อนและอาหารจนกระทั่งเข้าร่วมจับอาวุธสู้ก็มีมาก
ต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นักหนังสือพิมพ์ฝ่ายค้านผู้มีชื่อเสียงถูกลอบสังหารโดยพวกของโซโมซา การลอบสังหารนี่คือจุดชนวนสงครามการเมือง เพราะประชาชนนิคารากัวเต็มไปด้วยความเคียดแค้น และหมดความอดกลั้น ขบวนการซันดินิสต์เริ่มรุกทันทีโดยบุกตีค่ายทหารตามเมืองใหญ่หลายแห่งพร้อมกัน ประชาชนในหลายเมืองลุกขึ้นสู้ เช่นเมืองมาซายา การต่อสู้ตามเมืองใหญ่ยืดเยื้ออยู่หนึ่งสัปดาห์
พอถึงเดือนมิถุนายนกองกำลังของขบวนการฯ เปิดการรุกครั้งใหญ่ด้วยการบุกเข้าตีค่ายของ “หน่วยรบพิเศษ” กลางเมืองหลวงมานากัว ติดตามมาด้วยการยึดรัฐสภาในขณะที่สมาขิกรัฐบาลประชุมกัน เดือนถัดไปมีการหยุดงานทั่วประเทศ วันที่ ๒๐ กันยายน “หน่วยรบพิเศษ” ของโซโมซาบุกเข้าตีเมืองเอสเตลิจนได้คืน ฝ่ายรัฐบาลทำการสังหารหมู่เด็กและผู้หญิงจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยเข้าไปคอสตาริกา และฮอนดูรัสถึงหนึ่งหมื่นหกพันคน
เดือนธันวาคมรัฐบาลประกาศสภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ สหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือทางทหารต่อรัฐบาลเผด็จการของนายพลอานัสตาซิโอ โซโมซาในฐานะละเมิด “สิทธิมนุษยชน”
นิคารากัวเข้าสู่สงครามประชาชนเต็มรูปแบบ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม นายพลโซโมซาและบริวารหนีออกนอกเมืองหลวง กองกำลังของประชาชนภายใต้การนำของขบวนการซันดินิสต์เข้ากรุงมานากัวในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ของชาวนิคารากัวได้ที่ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_9207.html และ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_6841.html
No comments:
Post a Comment