Sunday, February 24, 2008

บทความที่๓๔๕.การหลบหนีไปยังจีนหนที่๒ ตอนที่๓

การผจญภัยระหว่างการหลบหนีออกจากสยามครั้งที่ ๒ ไปยังสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๓-

ที่ฮ่องกง ตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ส่งชาวจีนโพ้นทะเลชื่อ ซุน มาต้อนรับ เพื่อร่วมเดินทางกับเราไปจนถึงเมืองปักกิ่ง ซุน เป็นน้องชายของเหลียง อดีตนายทหารก๊กมินตั๋ง ซึ่งรัฐบาลจีนคณะชาติได้มอบหมายหน้าที่ให้รับรองคณะผู้แทนเสรีไทยที่ส่งไปจุงกิงระหว่างสงคราม อันที่จริง เหลียงเป็นเพียงผู้ฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเราได้กล่าวถึงแล้วในตอนที่ ๖ ของบทที่ ๔

เราพักอยู่ในอพาร์ตเมนท์ที่นายสงวน ตุลารักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตเช่าไว้ ณ ที่นี้ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยพำนักอยู่ภายหลังที่การก่อการเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ประสบความล้มเหลว

เช้าวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๒ เพื่อน ๔ คนและข้าพเจ้าลงเรือเดินทะเลที่มีระวางขับน้ำ ๓,๐๐๐ ตัน เรือลำนี้เป็นของพ่อค้าชาวจีน แต่จดทะเบียนเป็นเรืออังกฤษ เพื่อป้องกันมิให้เรือของจีนคณะชาติยึดเรือลำนี้ เจ้าหน้าที่อังกฤษจึงออกใบรับรองของท่าเรือให้ โดยระบุว่าเมืองท่าปลายทางของการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่อินซอนในเกาหลีใต้

ผู้ร่วมเดินทางคนอื่นๆ ได้แก่ ผู้รักประชาธิปไตยชาวจีนจากฮ่องกง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเชิญให้เข้าร่วมประชุมที่สภาที่ปรึกษาการเมืองของราษฎรจีน ก็ทยอยลงเรือลำเดียวกันนี้

ผู้เดินทางบางคนก็รู้วิธีที่จะตกลงกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร ส่วนเรานั้นได้ยอมให้ศุลการักษ์และกองตรวจคนเข้าเมืองของอังกฤษค้นกระเป๋าของเราที่ห้องพักผู้โดยสาร โดยคิดว่าศุลการักษ์ที่ฮ่องกงไม่กล้าฉวยโอกาสต่อหน้าผู้บังคับบัญชาชาวอังกฤษ ศุลการักษ์รื้อข้าวของของเรากระจุยกระจาย และเมื่อเขาออกจากห้องพักผู้โดยสาร เราก็พบว่า ยาที่หายากและมีราคาแพงมากในสมัยนั้น ซึ่งเราซื้อไว้เพื่อใช้ในระหว่างพำนักอยู่ในจีน ได้อันตธานไปเสียแล้ว

ศุลการักษ์ไม่เพียงขโมยยาที่มีค่าของเราไปเท่านั้น ซ้ำยังขู่จะฟ้องกองตรวจคนเข้าเมืองว่า สงสัยเราจะเป็นคอมมิวนิสต์ ยกเว้นเราจะจ่ายเงินให้พวกเขาคนละ ๕๐๐ เหรียญฮ่องกง ซุนจึงต้องติดต่อกับตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อจัดการให้เป็นที่พอใจแก่คนเหล่านั้น ชาวจีนฮ่องกงซึ่งโดยสารมาในเรือลำเดียวกันกับข้าพเจ้า ได้เล่าให้ฟัง มีกรณีมากมายเกี่ยวกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการอังกฤษในอาณานิคมแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนกตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร เงินที่ต้องจ่ายให้ข้าราชการเหล่านี้เรียกกันว่า “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ต่อมาเมื่อรัฐบาลอังกฤษในฮ่องกงจัดให้มีการออกล็อตตารี่ขึ้นในอาณานิคมแห่งนี้ เพื่อนๆที่เคยอยู่ที่นั่นเล่าว่า เป็นที่รู้กันดีว่า ฮ่องกงนั้น ใครถูกล็อตตารี่รางวัลใหญ่ เขาอาจขายสลากล็อตตารี่ให้กับนายหน้าของข้าราชการที่ฉ้อฉลเหล่านี้ ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาในฉลาก ตัวอย่างเช่นถ้าเขาถูกรางวัลที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๑ ล้านเหรียญฮ่องกง เขาอาจขายฉลากของเขาได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ เหรียญฮ่องกง ข้าราชการเหล่านี้ จะซื้อสลากที่ถูกรางวัลเอาไว้ เพื่อแสดงว่าเขาได้รับเงินมาโดยชอบธรรม แล้วจะได้โอนเงินไปยังประเทศอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อว่า ทางการอังกฤษจะไม่ดำเนินคดีต่อเขา ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง

ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องการเดินทางต่อ ก่อนที่จะออกจากท่าเรือฮ่องกง หลังจากจ่ายค่า “น้ำร้อนน้ำชา” สักครู่หนึ่งมีชาวจีน ๒ คนเข้ามาในเรือ บังคับให้ซุนมอบตัวต่อกองตรวจคนเข้าเมือง และขู่ว่าจะไม่สามารถเดินทางได้อีกต่อไป นอกจากจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับพวกเขา ซุนจึงให้เงินทั้งหมดที่เหลืออยู่ในกระเป๋าไป แต่อันธพาล ๒ คนก็ยังไม่พอใจ ซุนจึงต้องให้พวกนั้นค้นเสื้อผ้าของเขา และขอร้องอย่าเอาเงินไปหมด โดยเหลือไว้สำหรับซื้อ “น้ำร้อนน้ำชา” คราวต่อไปในระหว่างเดินทาง

No comments: