Sunday, February 24, 2008

บทความที่๓๔๔.การหลบหนีไปยังจีนหนที่๒ ตอนที่๒

การผจญภัยระหว่างการหลบหนีออกจากสยามครั้งที่ ๒ ไปยังสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๒-
วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๒ เวลา ๑๘.๐๐ น. เราพากันลงเรือประมงเล็กๆนั้น เราเลือกเดินทางเวลานี้ ก็เพื่อให้มาถึงด่านศุลกากรด่านแรกตอนค่ำก่อนด่านปิดไม่กี่นาที ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ต้องเสี่ยงต่อการตรวจอย่างละเอียดลออ วิธีการนี้ได้ผลดี เราผ่านไปได้อย่างง่ายดาย เรือประมงลำเล็กแล่นออกไปถึงป้อมพระจุลฯ ซึ่งเรือตอร์ปิโดของรัฐบาลจอดอยู่ เพื่อตรวจตราบรรดาเรือต่างๆ กัปตันนำเรือประมงเข้าหาเรือตอร์ปิโดอย่างใจเย็น และนายทหารชั้นประทวน ๒ คนก็ลงมาตรวจเรือ เมื่อเขาไม่พบสิ่งใดผิดปกติเกี่ยวกับสินค้าหนีภาษี ผู้บังคับการจึงสั่งให้ปล่อยเรือของเราผ่านไปได้ เราจึงเดินทางแล่นเลียบชายฝั่ง มุ่งหน้าเดินทางต่อไปทางใต้

ตามกฎหมายของสยาม ไม่อนุญาตให้เรือหาปลาที่มีระวางขับน้ำน้อยกว่า ๕ ตันและจดทะเบียนในกรุงเทพฯ แล่นออกไปไกลเกินกว่า ๒๕๐ กม.จากชายฝั่งทะเลตอนใต้ แต่เราจำต้องละเมิดกฎหมาย เพื่อเดินทางออกไปไกลกว่า ๑,๕๐๐ กม. เพื่อการนี้เราจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงจากตรวจจับจากเรือลาดตระเวน

เช้าวันหนึ่งขณะที่เราเดินทางออกห่างกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐๐ กม.เบื้องหน้าเรา ข้าพเจ้าแลเห็นเรือรบหลวงลำหนึ่งจอดอยู่ปากแม่น้ำสายเล็กๆ ทางชายฝั่ง ในสถานการณ์เช่นนั้น เรารู้สึกลำบากใจมาก ถ้าเราเดินทางต่อไปจะต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลจับกุมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าเรากลับทางทิศเหนือ เรือรบลำนั้นก็อาจสงสัยและยิงใส่ได้ ใน ๒ กรณีนี้เราต้องเสี่ยงต่อการถูกเรือรบจับกุม แต่โชคดีราวปาฏิหาริย์ เรือหาปลาลำหนึ่งได้ออกจากฝั่งไปทางเสาที่ผูกติดกับโป๊ะ เพื่อดักปลา เสาเหล่านี้ตั้งอยู่ระหว่างเรือรบกับเรือประมงของเรา กัปตันจึงเบนหัวเรือไปทางเสาเหล่านั้น แล้วผูกเรือไว้รอชาวประมง

เมือเรือประมงมาถึง เราก็ซื้อปลาบ้าง เพื่อหันเหให้เรือรบลำนั้นคิดว่า เราเดินทางมาเพื่อเจรจากับชาวประมงที่นั่นโดยเฉพาะ หลังจากการอำพรางเช่นนี้แล้ว เราก็หันเรือกลับไปทางเหนือ เพื่อทำทีว่า เดินทางกลับไปกรุเทพฯ

อันที่จริง เมื่อเราแล่นเรือมาได้ไกลถึง ๑๐ กม.เราก็หยุดที่โค้งชายฝั่งแห่งหนึ่ง ซึ่งช่วยกำบังเราให้พ้นจากสายตาเรือรบ จนกระทั่งถึง ๒๓ น. เราจึงตัดสินใจเสี่ยงภัยออกไปทะเลลึกทางตะวันออกนอกน่านน้ำสยาม เดชะบุญคืนนั้นทะเลสงบมาก และเมื่อออกมาได้ไกลพอสมควร เราก็หันเรือไปทางใต้ วันรุ่งขึ้นก็เดินทางมาถึงเขตน่านน้ำทะเลลึกของสยาม เราหันเรือไปทางตะวันออกและเข้าสู่เขตน่านน้ำทะเลมลายูของอังกฤษ

เราแล่นเลียบไปตามชายฝั่งตะวันออกของมลายูและมาจอดที่เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งเพื่อหยุดพักและมุ่งหน้าต่อไปทางใต้ พอตกค่ำก็เกิดลมพายุ เราต้องจอดเรือประมงใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งชายฝั่งมลายูของอังกฤษ เจ้าหน้าที่ตำรวจมลายู ๒-๓ นายมาตรวจเรือและขู่ว่าจะจับกุม ภายหลังได้พูดคุยกับพวกเขา และได้ให้เงินจำนวนหนึ่งแก่พวกเขาแล้ว เขาก็สัญญาว่าจะให้เราพักอยู่ที่นั่นในช่วงที่มีพายุ เราคิดว่าเขาคงจะแจ้งจับเราแน่ แต่เราก็คงจะไม่ถูกจับระหว่างเกิดพายุ ดังนั้น ก่อนที่พายุจะสงบราบเรียบ เราก็ออกเดินทางจากชายฝั่งนั้น เพื่อแล่นออกไปยังทะเลลึกนอกเขตน่านน้ำมลายูของอังกฤษ

จากนั้น เราก็เดินทางต่อไปทางใต้ ย่างเข้าวันที่ ๒ เราก็มาถึงเขตน่านน้ำสิงคโปร์ เนื่องจากการเดินทางใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ วัน และเพื่อนชาวจีนก็ยังมาไม่ถึงที่นัดพบ เราจึงเดินทางต่อไปยังเกาะบาไลของอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของฮอลแลนด์ เกาะนี้เป็นศูนย์กลางสินค้าหนีภาษี เป็นที่ที่รัฐบาลฮอลแลนด์อำนวยความสะดวกแก่เรือไม่ว่าสัญชาติใด เราพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา ๒-๓ วัน จนกระทั่งครบกำหนดนัด

จากเกาะนี้เราเดินทางไปยังสิงคโปร์เพื่อพบเพื่อนที่นั่น ขณะที่เข้าใกล้ท่าเรือสิงคโปร์ เราก็ถูกเรือลาดตระเวน ๒ ลำซึ่งบัญชาการโดยชาวมลายูตรวจตรา แต่พวกเขาไม่พบอะไรที่ผิดปกติ ด้วยความใจเย็นตามเคย กัปตันได้จอดเรือประมง ณ ท่าจอดเรือในสิงคโปร์ เพื่อนชาวจีนซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ได้มาพบเราที่นั่น เพื่อปรึกษาแผนการเดินทางไปยังฮ่องกง ระหว่างที่รอคอยอยู่นั้น เราได้เข้าพักในบ้านเพื่อน ซึ่งอยู่ใกล้กองบัญชาการตำรวจโดยที่ตำรวจไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย

ต่อมาไม่กี่วันเราก็แอบลงเรือเดินทะเลไปยังฮ่องกงด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนชาวจีน(ไม่ใช่คอมมิวนิสต์)

No comments: