Monday, February 25, 2008

บทความที่๓๔๖.การหลบหนีไปยังจีนหนที่๒ ตอนที่๔(จบ)

การผจญภัยระหว่างการหลบหนีออกจากสยามครั้งที่ ๒ ไปยังสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๔-

เมื่อเห็นว่า แผนการเดินทางครั้งนี้อาจล้มเหลว หากยังขนสินค้าต่างๆ ขึ้นเรืออยู่อีก ตัวแทนอีกคนหนึ่งจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งรับผิดชอบการเดินทางของเรา และผู้รักประชาธิปไตยชาวจีนทั้งหมดในเรือ จึงได้ขอให้กัปตันเรือถอนสมอออกจากท่าเรือฮ่องกงโดยเร็วที่สุด โดยทิ้งสินค้าที่เหลือไว้ลงเรืออีกลำหนึ่ง ซึ่งจะมาในวันรุ่งขึ้น ดังนี้ เรือของเราจึงออกจากท่าเรือฮ่องกงบ่ายวันเดียวกันโดยไม่คำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศ

กัปตันเรือได้กำชับเราว่า ในกรณีที่เรือรบจีนคณะชาติตรวจตรา เราจะต้องบอกว่า เดินทางไปเกาหลีใต้ มิใช่ไปดินแดนที่จีนอยู่ภายใต้การควบคุมของคอมมิวนิสต์

เมื่อเรือของเราแล่นออกไปนอกน่านน้ำฮ่องกง กัปตันก็ได้รับการติดต่อทางวิทยุแจ้งว่าจะมีพายุใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายดังกล่าว กัปตันจึงต้องนำเรือฝ่าออกไปทันทียังบริเวณระหว่างเกาะเล็กๆ กับชายฝั่งทะเลจีน ซึ่งยังคงถูกจีนคณะชาติยึดครองไว้ เราต้องอยู่ที่นั่นราว ๒๔ ชั่วโมง ก่อนเดินทางต่อไป

เช้าวันหนึ่ง ขณะที่เดินทางมาเข้าเขตทะเลจีน ข้าพเจ้ามองเห็นจุดดำเป็นรูปเรือลำหนึ่งอยู่ทางขอบฟ้า และกำลังมุ่งหน้ามาทางเรือของเรา กัปตันได้แจ้งให้ผู้โดยสารทุกคนทราบว่า จะต้องเตรียมพร้อมที่จะถูกตรวจตราโดยเรือของฝ่ายจีนคณะชาติ ด้วยเหตุนี้คนที่เอกสารหรือหนังสือสำคัญที่ฝ่ายจีนคณะชาติอาจถือเป็นข้อสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จะต้องรีบทำลายหลักฐานเหล่านั้นทันที ไม่เช่นนั้นผู้ที่ถือเอกสารเหล่านั้นอาจถูกจับกุมและนำตัวไปยังไต้หวัน ผู้โดยสารหลายคนจึงเผาเอกสารของตนที่เตาเครื่องจักรไอน้ำในเรือ

แต่เราไม่ทำเช่นนั้นเพราะคิดว่า ในกรณีที่มีการตรวจสอบเราจะแสดงหนังสือเดินทางของสยามโดยชี้แจงว่า เราจะเดินทางไปอินซอล-เกาหลีใต้ ไม่ได้ไปดินแดนจีนภายใต้การยึดครองของคอมมิวนิสต์

เรือรบลำนั้นแล่นใกล้เรือของเราเข้ามาทุกที ขณะที่อยู่ห่าง ๔๐๐ เมตร เรามองเห็นธงอังกฤษที่ข้างเรือ เจ้าหน้าที่ในเรือลำนั้นประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า เขาตรวจตราแถบนี้อยู่เพื่อคุ้มกันเรือพาณิชย์ของอังกฤษ และถ้าเรือของเราถูกตรวจจับโดยเรือลาดตระเวนของฝ่ายจีนคณะชาติ เราจะแจ้งให้เขาทราบทันทีทางวิทยุ เพื่อว่าเขาจะได้มาช่วยเรา ทุกคนรู้สึกโล่งใจ แต่ศาสตราจารย์ชาวจีนฮ่องกงผู้หนึ่ง ได้แสดงความเสียดายกับข้าพเจ้าที่เขาได้รีบร้อนเผาเอกสารมีค่า ซึ่งในนั้นมีบันทึกประจำวันที่เขาเขียนไว้ตั้งแต่เด็กหลายเล่ม

เช้าวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๒ เรือของเราแล่นเทียบท่าเรือชิงเต่า เจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ประจำท่าเรือได้ลงมาในเรือให้การต้อนรับผู้เดินทางทุกคน หลังจากเสร็จสิ้นพิธีตรวจคนเข้าเมืองแล้ว เรือของเราก็ทอดสมออยู่ที่ท่าเรือนั้น ชาวจีนอื่นๆที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองของราษฎรจีน พากันรีบเดินทางต่อไปโดยทางรถไฟ เพื่อไปให้ถึงปักกิ่งทันการเปิดประชุมในวันที่ ๒๑ กันยายน

ส่วนพวกเราได้ไปเยือนตัวเมืองที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยตามคำเชิญของ “สหายหม่า” (นายกเทศมนตรีแห่งชิงเต่า)ซึ่งเขาจัดให้เราพักในโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองนั้น

No comments: