Wednesday, January 2, 2008

บทความที่๓๓๙.ความพ่ายแพ้ของขบวนการฯ ๒๖ ก.พ. ๒๔๙๒ (๑)

ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒
ปรีดี พนมยงค์

-๑-

วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ เวลา ๒๑ น. ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบรรดามิตรได้ออกจากบ้านที่ข้าพเจ้าหลบซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งผู้ร่วมขบวนการฯ อันประกอบด้วยลูกศิษย์ลูกหาของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่ง และผู้รักชาติคนอื่นๆ กำลังรอคอยข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าได้สั่งการให้กองหน้าเข้าไปปลดอาวุธกองทหาร ซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวัง เพื่อที่เราจะเข้าไปตั้งกองบัญชาการขึ้นที่นั่น พระบรมมหาราชวังนี้ มิได้ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สิ้นรัชกาลที่ ๕ แล้ว

ผู้บัญชาการกองทหารรักษาพระบรมมหาราชวังมิได้ต่อต้านการจู่โจมอย่างฉับพลันของกองหน้าขบวนการฯ ดังนั้นภายใน ๑๕ นาที เราก็ควบคุมบริเวณพระบรมมหาราชวังได้ทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ได้มีการยิงต่อสู้กัน โดยฝ่ายขบวนการได้ใช้ปืนครกยิงสู้กับทหารฝ่ายรัฐบาล กองพันทหารราบที่ ๑ ของฝ่ายตรงข้ามพยายามที่จะออกจากที่ตั้ง แต่ถูกกระสุนปืนและระเบิดของเราสกัดไว้ได้ เรายึดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ไว้ได้ และมอบให้อยู่ในความควบคุมของนายทหารยศพันเอกผู้หนึ่ง(อดีตเสรีไทย)ในคืนวันที่ ๒๖ และ ๒๗ กุมภาพันธ์ มีการต่อสู้ประปรายระหว่างฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยกับฝ่ายรัฐบาล

-๒-

น่าเสียดายที่กำลังสนับสนุนจากฝ่ายทหารเรือถูกสกัดกั้นโดยกองกำลังซึ่งจงรักภักดีต่อฝ่ายรัฐบาล

เวลา ๖ โมงเช้าของวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ กองทหารของจอมพลพิบูลฯ ซึ่งบัญชาการโดยพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับคำสั่งให้ยิงถล่มพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นที่มั่นของฝ่ายขบวนการฯ

เมื่อเห็นว่ากำลังสนับสนุนของเราเดินทางมาไม่ทันเวลาและเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัตถุที่ล้ำค่าของชาติในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้กองกำลังถอยร่นมาอยู่ในกองบัญชาการทหารเรือที่พระราชวังเดิม ข้าพเจ้าได้จัดการให้เพื่อนร่วมขบวนการข้ามแม่น้ำไปด้วยเรือ ซึ่งนายพลเรือเอกผู้หนึ่งเป็นผู้จัดหาให้

ส่วนข้าพเจ้าจะอยู่ที่กองบัญชาการทหารเรือ เพื่อรอคอยกำลังสนับสนุน

ระหว่างนั้น กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลควบคุมพระนครไว้ได้ทั้งหมดแล้ว การก่อการเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ของข้าพเจ้าจึงประสบความพ่ายแพ้ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง”

นายทหารของฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วมต่อสู้ปราบปรามขบวนการฯ ของเรา ต่างได้รับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เป็นต้นว่าพลตรีสฤษดิ์ฯ ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นจอมพลเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ ฯ ทำรัฐประหารโค่นจอมพลพิบูลฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตน ฝ่ายหลังต้องลี้ภัยไปอยู่อเมริกาและต่อมาก็ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่น

แรกทีเดียวจอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้ครองอำนาจอย่างเปิดเผย เขาได้มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับพลเอกถนอม กิตติขจร(ยศในขณะนั้น) ๑ ปีต่อมาจอมพลสฤษดิ์ฯ ก็ทำรัฐประหารครั้งใหม่ และโค่นล้มรัฐบาลถนอมฯ ลง จอมพลสฤษดิ์ฯ เองได้เป็นนายกรัฐมนตรีและปกครองประเทศจนกระทั่งตายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ตั้งแต่นั้นมาจอมพลถนอม กิตติขจรได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง พลเอกถนอมฯ ได้เลื่อนยศเป็นจอมพล และดำเนินการปกครองประเทศต่อมาตามรัฐธรรมนูญเผด็จการที่จอมพลสฤษดิ์ ฯ ร่างขึ้น หลังจากนั้นจึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ โดยนายกรัฐมนตรีนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๕ รัฐธรรมนูญที่จอมพลถนอมฯ เป็นผู้ประกาศใช้ก็ถูกทำลายโดยตัวเขาเอง เพื่อนำเอาระบอบเผด็จการเข้ามาแทนที่

No comments: