Tuesday, January 1, 2008

บทความที่๓๓๗.การลี้ภัยไปสิงคโปร์และจีน (๒)

รัฐประหารปฏิกิริยาและการลี้ภัยครั้งแรกไปยังสิงคโปร์และจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๓-

ปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ข้าพเจ้าเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง ซึ่งบรรดามิตรชาวไทยของข้าพเจ้า และกงสุลใหญ่ของสยามเวลานั้นได้ให้การต้อนรับอย่างดี

จากฮ่องกง เราเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเพื่อนชาวจีนที่เกิดในสยาม และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสยามประจำนานกิงบางคนได้ต้อนรับเรา

นายสงวน ตุลารักษ์อดีตเอกอัครราชทูตสยามประจำนานกิงและตัวข้าพเจ้า ได้ไปพบกันเอกอัครรัฐทูตเม็กซิโกเพื่อขอวีซ่าซึ่งเขาประทับตราให้โดยไม่มีปัญหาเลย

เราคิดกันว่าจะเดินทางไปเม็กซิโกโดยแวะผ่านซานฟรานซิสโก ขณะที่เรากำลังยื่นหนังสือแก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีนอยู่นั้น ได้มีชาวอเมริกันหนุ่มคนหนึ่งชื่อนอร์แมน ฮันน่าห์ (Norman Hannah) ซึ่งเป็นรองกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำเซี่ยงไฮ้ ได้ตรงเข้ามากระชากหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าจากมือเจ้าหน้าที่จีนผู้นั้น และได้ขีดฆ่าวีซ่าอเมริกัน ซึ่งสถานเอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำลอนดอนเป็นผู้ออกให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงประจักษ์แก่ตัวเองว่า รองกงสุลหนุ่มอเมริกันผู้นี้ช่างมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ของจีนและแม้แต่เอกอัครรัฐทูตสหรัฐเอง(ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบรองกงสุลผู้นี้เป็นสายลับของ ซี.ไอ.เอ.)นอกจากนั้นก็ยังได้เข้าใจอีกว่า เหรียญอิสริยาภรณ์และคำประกาศเกียรติคุณที่มอบให้แก่ข้าพเจ้านั้น ไม่มีค่าอันใดเลยเพราะข้าพเจ้ากลับถูกมองว่าเป็นอาชญากรเสียด้วยซ้ำ อันเป็นข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้นโดยผู้ที่เป็นศัตรูระหว่างสงครามของสหรัฐเอง(ซึ่งก็คือจอมพลพิบูลฯ)ทั้งนี้โดยการปฏิเสธไม่ให้ข้าพเจ้าแวะผ่านบนผืนแผ่นดินอเมริกัน แม้จะเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ชาวอเมริกันที่เซี่ยงไฮ้พยายามติดต่อกับข้าพเจ้า เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมให้พบ

วันหนึ่งเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเคยทำงานร่วมกับข้าพเจ้าเมื่อคราวต่อต้านญี่ปุ่น ได้เชิญข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารกลางวันกับเขาในฐานะเพื่อน ข้าพเจ้าประหลาดใจที่ได้พบกงสุลใหญ่อเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับวีซ่าครั้งนั้น และแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า นายพลยอร์ช มาร์แชลรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันได้สั่งให้ประทับวีซ่ากลับคืนในหนังสือเดินทางของข้าพเจ้า ต่อมาไม่นานนอร์แมน ฮันนาห์ อดีตรองกงสุลอเมริกันก็ได้ย้ายไปประจำกรุงเทพฯ องค์การซี.ไอ.เอ.นี้เองที่เป็นผู้สนับสนุนให้ตำรวจสันติบาลไทยจับกุมภรรยาและบุตรชายคนโตของข้าพเจ้า ภรรยาของข้าพเจ้าถูก “ควบคุมตัว” ที่สันติบาลเป็นเวลา ๘๔ วัน ส่วนปาลบุตรชายคนโต ซึ่งขณะนั้นอายุ ๒๐ ปีถูกตัดสินใจจำคุก ๒๐ ปี โดยอ้างข้อหาว่าเป็นกบฏภายในราชอาณาจักร ปาลได้รับการปล่อยตัวตามกฏหมายนิรโทษกรรมเมื่อคราวครบรอบกึ่งพุทธกาล พ.ศ.๒๕๐๐

ฮันนาห์ได้ย้ายไปอยู่อัฟกานิสถานชั่วระยะเวลาสั้นๆ ต่อมาก็กลับมาประจำกรุงเทพฯ ในฐานะที่ปรึกษาสถานทูตอเมริกัน วันหนึ่งเอกอัครราชทูตไทยประจำได้มอบสำเนารายงานซึ่งเขียนโดยฮันนาห์ เกี่ยวกับเหตุการณ์เรื่องวีซ่าครั้งนั้นแก่ข้าพเจ้า รายงานฉบับนั้นเต็มไปด้วยคำโกหกมดเท็จมากมาย ฮันนาห์เขียนในตอนหนึ่งว่า หลังจากขีดวีซ่าอเมริกันบนหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าแล้ว เขาก็เดินทางมาพบข้าพเจ้าที่โรงแรมซึ่งข้าพเจ้าก็ต้อนรับเขาอย่างฉันมิตร และเราก็รับประทานอาหารร่วมกัน

ข้าพเจ้าสาบานได้ว่า ไม่เคยพบหน้าฮันนาห์อีกเลยตั้งแต่วันเกิดเหตุครั้งนั้น

ต่อมาเพื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ข้าพเจ้าได้ข่าวว่า ฮันนาห์ได้พ้นตำแหน่งจากกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาแล้ว

ข้าพเจ้าไม่ได้มีความโกรธเคืองนายฮันนาห์เป็นการส่วนตัวเพียงแต่อยากให้ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันตระหนักว่า เงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ของพวกสายลับ ซี.ไอ.เอ.นั้น บางทีก็สูญเสียไปกับรายงานที่บิดเบือน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจที่เป็นผลเสียแก่ชาวอเมริกันเอง

No comments: