Sunday, January 6, 2008

บทความที่๓๔๑. ความพ่ายแพ้ของขบวนการฯ ๒๖ ก.พ. ๒๔๙๒ (๓)

ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒
ปรีดี พนมยงค์
-๔-
หลังจากความพ่ายแพ้ของกบฏวังหลวง เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยในการเข้าร่วมก่อการฯ ในบรรดาผู้ที่จับกุมเหล่านี้ ปรากฏว่าบางคนไม่มีส่วนรู้เห็นกับการก่อการดังกล่าวเลย ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกผู้ก่อการฯ ประมาณ ๑๕ คนเป็นเวลาเกือบ ๙ ปีและได้ปล่อยตัวคนอื่นๆ อีกมากมาย เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ หลายคนหนีการจับกุมไปได้และหลบซ่อนอยู่ในต่างจังหวัดบ้าง ในประเทศเพื่อนบ้านบ้าง หรือที่แน่กว่านั้น ก็อยู่ในกรุงเทพฯ อย่างเปิดเผย ด้วยความใจเย็นคิดว่า ไม่มีพยานคนใดสามารถยืนยันได้ว่าได้เห็นตนเข้าร่วมก่อการฯ ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ ๒๖ จนถึงเช้าวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์

ถึงอย่างไรก็ดี อดีตรัฐมนตรี ๔ คน ได้แก่นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรืองและนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมลงมือก่อการฯ ในวันนั้นกับเรา กลับถูกจับกุมทั้ง ๔ คน

ก่อนวันก่อการฯ ๑ วัน นายทองอินทร์ฯ นายถวิลฯ และนายจำลองฯ ได้รับคำเตือนให้อยู่ในบ้านของตน และมิให้ปรากฏตัวจนกว่าฝ่ายก่อการฯ จะประสบชัยชนะ ด้วยเหตุนี้ทั้ง ๓ คนนี้ จึงอยู่ในบ้านของตนเฉยๆ แต่จอมพลพิบูลฯและฝ่ายปฏิกิริยาได้จับกุมพวกเขาด้วยเหตุผลว่า มักทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล ส่วนนายทองเปลวฯ นั้น อยู่ที่ปีนังเป็นเวลาหลายเดือนก่อนการก่อการฯด้วยซ้ำ

ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจของจอมพลพิบูลฯ ก็ประกาศว่า ได้เห็นนายทองเปลวฯ และตำรวจก็ได้ส่งโทรเลขถึงเขาโดยใช้ชื่อภรรยาของอดีตรัฐมนตรีท่านนี้เป็นผู้ส่ง นายทองเปลวฯ จึงได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยไม่ทันนึกว่าเป็นกลลวงของตำรวจ ทันทีที่ถึงกรุงเทพฯก็ถูกจับกุม

อดีตรัฐมนตรีทั้ง ๔ คนได้รับการทารุณกรรมจากฝ่ายตำรวจปฏิกิริยาจนปางตาย เพราะบาดแผลจากการถูกซ้อมอย่างป่าเถื่อน ดังนั้นเพื่อจะอำพรางบาดแผลเหล่านั้น ค่ำวันหนึ่ง ตำรวจก็ได้จับคนทั้ง ๔ ซึ่งมีอาการปางตายใส่รถบรรทุก คุ้มกันโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธปืนกลเบา และติดตามด้วยรถยนต์ตำรวจ ซึ่งกำกับโดยนายพันตำรวจผู้หนึ่ง เมื่อรถบรรทุกมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๒๐ กม. รถยนต์สองคันก็จอดนิ่ง หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ลงจากรถ และสาดกระสุนใส่ผู้บริสุทธิ์ทั้ง ๔ คน

วันรุ่งขึ้น ตำรวจก็ประกาศว่า ระหว่างการย้ายผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งนั้น ได้มีโจรจีนมลายูยิงปืนใส่ตำรวจ เพื่อชิงตัวผู้ต้องหา ตำรวจจึงจำเป็นต้องโต้ตอบด้วยปืนกลเบา และกระสุนก็ถูกผู้ต้องหาทั้ง ๔ ถึงแก่ความตาย ไม่มีใครในเมืองไทยเชื่อแถลงการณ์ของตำรวจ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าโจรจีนมลายู(ในขณะนั้น)อยู่ห่างจากกรุงเทพฯราว ๑,๐๐๐ กม.

Thursday, January 3, 2008

บทความที่๓๔๐.ความพ่ายแพ้ของขบวนการฯ ๒๖ ก.พ.๒๔๙๒ (๒)

ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒
ปรีดี พนมยงค์
-๓-
เที่ยงคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ นาวาโทมนัส จารุภา ได้นำข้าพเจ้าไปยังที่หลบซ่อนแห่งหนึ่ง ที่นั่นภรรยาและบุตรชายของข้าพเจ้าได้ช่วยพาข้าพเจ้าไปยังบ้านผู้รักความเป็นธรรมคนหนึ่ง ซึ่งได้กรุณาให้ที่พักแก่ข้าพเจ้าตลอดระยะเวลา ๕ เดือน แม้ว่ารัฐบาลตั้งสินบนนำจับด้วยราคาสูงแก่ผู้ที่บอกที่ซ่อนของข้าพเจ้า แต่ผู้รักความเป็นธรรมผู้นี้ ก็ไม่ได้มีความอยากได้ผลประโยชน์นี้เลย

สองปีต่อมา คือใน พ.ศ.๒๔๙๔ นาวาโทมนัสฯ และนาวาเอกอานนท์ ปุณฑริกาภา ได้ก่อการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กบฏแมนฮัตตัน” เนื่องจากในการปฏิบัติการครั้งนั้น หน่วยทหารเรือซึ่งนำโดยนาวาโทมนัสฯ ได้เข้าจี้ตัวจอมพลพิบูลฯ ระหว่างพิธีรับมอบเรือ “แมนฮัตตัน” ต่อหน้าเอกอัครราชทูตอเมริกัน และเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของทั้งสองประเทศ

นาวาโทมนัสฯและหน่วยทหารของเขา ได้จับตัวจอมพลพิบูลฯ และพาลงเรือรบหลวง “ศรีอยุธยา” การรบจึงเริ่มขึ้นระหว่างกำลังของกองทัพเรือฝ่ายหนึ่ง ครั้งแรกดูเหมือนว่ากองทัพเรือจะควบคุมกรุงเทพฯไว้ได้ แต่กองทัพอากาศได้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดถล่มเรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นกองบัญชาการของฝ่ายก่อการฯ โดยไม่เห็นแก่ชีวิตจอมพลพิบูลฯ ซึ่งอยู่ในเรือลำนั้นเลย จอมพลพิบูลฯได้เรียกร้องผู้ที่จงรักภักดีต่อตนมิให้ใช้กำลังอาวุธ แต่ให้เจรจาอย่างสันติกับฝ่ายก่อการฯ เครื่องบินได้บินถล่มเรือรบหลวงที่ทอดสมออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งจมลงในไม่ช้า จอมพลพิบูลฯ ได้หลบหนีออกจากเรือลำนั้นได้อย่างหวุดหวิด ด้วยการกระโดดน้ำและว่ายมาถึงฝั่ง ซึ่งบรรดาผู้ที่จงรักภักดีได้ให้การต้อนรับ จึงสามารถกลับเข้ามายังกองบัญชาการกองกำลังฝ่ายรัฐบาลได้

หน่วยทหารบกอื่นๆในจังหวัดใกล้เคียง ได้เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล และรบชนะฝ่ายทหารเรือ ในที่สุดกองกำลังฝ่ายรัฐบาลก็สามารถควบคุมกรุงเทพฯ ได้อีกครั้ง

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายทหารเรือหลายคน รวมทั้งผู้บัญชาการทหารเรือและเจ้าหน้าที่พลเรือนบางคนที่ต้องสงสัยว่าเข้าร่วมกับฝ่ายก่อการฯ

ขณะที่นาวาโทมนัสฯ และนาวาเอกอานนท์ฯ พร้อมด้วยนายทหารกองทัพบกอีกคนหนึ่ง ซึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายก่อการฯสามารถหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ในพม่า ผู้ก่อการฯจำนวนหนึ่งก็สามารถหนีเข้าไปลี้ภัยอยู่ในลาว กัมพูชา และสิงคโปร์

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน นาวาโทมนัสฯ ก็กลับเข้ากรุงเทพฯอย่างลับๆ อีกหนหนึ่ง

ครั้งนี้นาวาโทมนัสฯได้ถูกจับกุมพร้อมกับปาลบุตรชาย และภรรยาของข้าพเจ้า ในข้อหา “กบฏสันติภาพ” พ.ศ.๒๔๙๕ ส่วนนาวาเอกอานนท์ฯ ได้พำนักอยู่ในพม่าและเพิ่งเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯไม่นานนักหลังเหตุการณ์ โดยคิดว่าตนอาจได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งปล่อยตัวนาวาโทมนัสฯกับบุตรชายข้าพเจ้าและผู้ต้องหากบฏอื่นๆ แต่น่าเสียดายเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลับจับกุมตัวเขาไว้ และศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกเป็นเวลา ๒๐ ปี ต่อมาเขาได้รับการลดโทษลง และในที่สุด ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๕

Wednesday, January 2, 2008

บทความที่๓๓๙.ความพ่ายแพ้ของขบวนการฯ ๒๖ ก.พ. ๒๔๙๒ (๑)

ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒
ปรีดี พนมยงค์

-๑-

วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ เวลา ๒๑ น. ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบรรดามิตรได้ออกจากบ้านที่ข้าพเจ้าหลบซ่อนอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งผู้ร่วมขบวนการฯ อันประกอบด้วยลูกศิษย์ลูกหาของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่ง และผู้รักชาติคนอื่นๆ กำลังรอคอยข้าพเจ้าอยู่ ข้าพเจ้าได้สั่งการให้กองหน้าเข้าไปปลดอาวุธกองทหาร ซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวัง เพื่อที่เราจะเข้าไปตั้งกองบัญชาการขึ้นที่นั่น พระบรมมหาราชวังนี้ มิได้ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สิ้นรัชกาลที่ ๕ แล้ว

ผู้บัญชาการกองทหารรักษาพระบรมมหาราชวังมิได้ต่อต้านการจู่โจมอย่างฉับพลันของกองหน้าขบวนการฯ ดังนั้นภายใน ๑๕ นาที เราก็ควบคุมบริเวณพระบรมมหาราชวังได้ทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ได้มีการยิงต่อสู้กัน โดยฝ่ายขบวนการได้ใช้ปืนครกยิงสู้กับทหารฝ่ายรัฐบาล กองพันทหารราบที่ ๑ ของฝ่ายตรงข้ามพยายามที่จะออกจากที่ตั้ง แต่ถูกกระสุนปืนและระเบิดของเราสกัดไว้ได้ เรายึดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ไว้ได้ และมอบให้อยู่ในความควบคุมของนายทหารยศพันเอกผู้หนึ่ง(อดีตเสรีไทย)ในคืนวันที่ ๒๖ และ ๒๗ กุมภาพันธ์ มีการต่อสู้ประปรายระหว่างฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยกับฝ่ายรัฐบาล

-๒-

น่าเสียดายที่กำลังสนับสนุนจากฝ่ายทหารเรือถูกสกัดกั้นโดยกองกำลังซึ่งจงรักภักดีต่อฝ่ายรัฐบาล

เวลา ๖ โมงเช้าของวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ กองทหารของจอมพลพิบูลฯ ซึ่งบัญชาการโดยพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับคำสั่งให้ยิงถล่มพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นที่มั่นของฝ่ายขบวนการฯ

เมื่อเห็นว่ากำลังสนับสนุนของเราเดินทางมาไม่ทันเวลาและเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัตถุที่ล้ำค่าของชาติในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้กองกำลังถอยร่นมาอยู่ในกองบัญชาการทหารเรือที่พระราชวังเดิม ข้าพเจ้าได้จัดการให้เพื่อนร่วมขบวนการข้ามแม่น้ำไปด้วยเรือ ซึ่งนายพลเรือเอกผู้หนึ่งเป็นผู้จัดหาให้

ส่วนข้าพเจ้าจะอยู่ที่กองบัญชาการทหารเรือ เพื่อรอคอยกำลังสนับสนุน

ระหว่างนั้น กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลควบคุมพระนครไว้ได้ทั้งหมดแล้ว การก่อการเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ของข้าพเจ้าจึงประสบความพ่ายแพ้ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “กบฏวังหลวง”

นายทหารของฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วมต่อสู้ปราบปรามขบวนการฯ ของเรา ต่างได้รับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เป็นต้นว่าพลตรีสฤษดิ์ฯ ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นจอมพลเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ ฯ ทำรัฐประหารโค่นจอมพลพิบูลฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตน ฝ่ายหลังต้องลี้ภัยไปอยู่อเมริกาและต่อมาก็ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่น

แรกทีเดียวจอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้ครองอำนาจอย่างเปิดเผย เขาได้มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับพลเอกถนอม กิตติขจร(ยศในขณะนั้น) ๑ ปีต่อมาจอมพลสฤษดิ์ฯ ก็ทำรัฐประหารครั้งใหม่ และโค่นล้มรัฐบาลถนอมฯ ลง จอมพลสฤษดิ์ฯ เองได้เป็นนายกรัฐมนตรีและปกครองประเทศจนกระทั่งตายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ตั้งแต่นั้นมาจอมพลถนอม กิตติขจรได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง พลเอกถนอมฯ ได้เลื่อนยศเป็นจอมพล และดำเนินการปกครองประเทศต่อมาตามรัฐธรรมนูญเผด็จการที่จอมพลสฤษดิ์ ฯ ร่างขึ้น หลังจากนั้นจึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ โดยนายกรัฐมนตรีนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลฯ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๕ รัฐธรรมนูญที่จอมพลถนอมฯ เป็นผู้ประกาศใช้ก็ถูกทำลายโดยตัวเขาเอง เพื่อนำเอาระบอบเผด็จการเข้ามาแทนที่

บทความที่๓๓๘. การลี้ภัยไปสิงคโปร์และจีน (๓)

รัฐประหารปฏิกิริยาและการลี้ภัยครั้งแรกไปยังสิงคโปร์และจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๔-

เมื่อเจียงไคเช็คได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สนามบินเซี่ยงไฮ้แล้ว ก็ได้แสดงความปรารถนาจะให้ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในจีนโดยยืนยันกับข้าพเจ้าว่า ไม่เคยลืมคุณูปการของข้าพเจ้าที่มีต่อสัมพันธมิตรระหว่างสงคราม และเขาจะไม่ส่งข้าพเจ้าข้ามแดนกลับไป เนื่องจากเขาจำได้ดีว่า รัฐบาลจอมพลพิบูลฯได้ปฏิบัติต่อประเทศจีนด้วยความไม่ซื่อสัตย์และปราศจากความละอายใจ ในการนี้เขาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ข้าพเจ้าระหว่างพำนักอยู่ในจีน

-๕-
วันที่ ๑ ตุลาคม ในปีเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้ทราบข่าวว่า รัฐบาลจอมพลพิบูลฯ ได้จับกุมนายทหารและนักการเมืองหลายคน ซึ่งวางแผนจะก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น แต่สมาชิกของกลุ่มคนหนึ่งเกิดทรยศหักหลังพรรคพวกขึ้นมา ขบวนการต่อสู้ครั้งนี้นำโดยพลตรีเนตร เขมะโยธิน(ยศในขณะนั้น)นักเรียนเก่าโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูงแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นสมาชิก “ขบวนการเสีรีไทย” ระหว่างสงคราม และเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมขบวนต่อสู้ครั้งนี้ การพยายามก่อกบฏครั้งนี้เรียกชื่อว่า “กบฏ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑”

ส่วนคนที่สามารถหลบหนีการจับกุม ได้ส่งตัวแทนของเขามาพบข้าพเจ้า เพื่อวางแผนก่อการอภิวัฒน์โค่นรัฐบาลปฏิกิริยาอีกครั้งหนึ่ง เราได้ตกลงกันว่า จะให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการก่อการอีกครั้งหนึ่ง โดยร่วมมือกับเพื่อนๆทหารเรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้รักชาติ ประชาธิปไตยและทหารตำรวจผู้รักชาติ รวมทั้งบรรดาแม่ทัพเรือ และนายพลคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าเสนาธิการกองทัพบก และถูกคณะรัฐประหารปลดออกจากตำแหน่ง

เมื่อมิตรของข้าพเจ้าที่เมืองไทยแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า โอกาสอำนวยแล้ว เราจึงเช่าเรือขนาด ๒๐ ตัน เพื่อเดินทางอย่างลับๆออกจากฝั่งทะเลจีน ไปยังฝังตะวันออกของอ่าวสยาม

Tuesday, January 1, 2008

บทความที่๓๓๗.การลี้ภัยไปสิงคโปร์และจีน (๒)

รัฐประหารปฏิกิริยาและการลี้ภัยครั้งแรกไปยังสิงคโปร์และจีน
ปรีดี พนมยงค์
-๓-

ปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ข้าพเจ้าเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง ซึ่งบรรดามิตรชาวไทยของข้าพเจ้า และกงสุลใหญ่ของสยามเวลานั้นได้ให้การต้อนรับอย่างดี

จากฮ่องกง เราเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเพื่อนชาวจีนที่เกิดในสยาม และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสยามประจำนานกิงบางคนได้ต้อนรับเรา

นายสงวน ตุลารักษ์อดีตเอกอัครราชทูตสยามประจำนานกิงและตัวข้าพเจ้า ได้ไปพบกันเอกอัครรัฐทูตเม็กซิโกเพื่อขอวีซ่าซึ่งเขาประทับตราให้โดยไม่มีปัญหาเลย

เราคิดกันว่าจะเดินทางไปเม็กซิโกโดยแวะผ่านซานฟรานซิสโก ขณะที่เรากำลังยื่นหนังสือแก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีนอยู่นั้น ได้มีชาวอเมริกันหนุ่มคนหนึ่งชื่อนอร์แมน ฮันน่าห์ (Norman Hannah) ซึ่งเป็นรองกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำเซี่ยงไฮ้ ได้ตรงเข้ามากระชากหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าจากมือเจ้าหน้าที่จีนผู้นั้น และได้ขีดฆ่าวีซ่าอเมริกัน ซึ่งสถานเอกอัครรัฐทูตสหรัฐประจำลอนดอนเป็นผู้ออกให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงประจักษ์แก่ตัวเองว่า รองกงสุลหนุ่มอเมริกันผู้นี้ช่างมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ของจีนและแม้แต่เอกอัครรัฐทูตสหรัฐเอง(ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบรองกงสุลผู้นี้เป็นสายลับของ ซี.ไอ.เอ.)นอกจากนั้นก็ยังได้เข้าใจอีกว่า เหรียญอิสริยาภรณ์และคำประกาศเกียรติคุณที่มอบให้แก่ข้าพเจ้านั้น ไม่มีค่าอันใดเลยเพราะข้าพเจ้ากลับถูกมองว่าเป็นอาชญากรเสียด้วยซ้ำ อันเป็นข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้นโดยผู้ที่เป็นศัตรูระหว่างสงครามของสหรัฐเอง(ซึ่งก็คือจอมพลพิบูลฯ)ทั้งนี้โดยการปฏิเสธไม่ให้ข้าพเจ้าแวะผ่านบนผืนแผ่นดินอเมริกัน แม้จะเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ชาวอเมริกันที่เซี่ยงไฮ้พยายามติดต่อกับข้าพเจ้า เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมให้พบ

วันหนึ่งเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเคยทำงานร่วมกับข้าพเจ้าเมื่อคราวต่อต้านญี่ปุ่น ได้เชิญข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารกลางวันกับเขาในฐานะเพื่อน ข้าพเจ้าประหลาดใจที่ได้พบกงสุลใหญ่อเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับวีซ่าครั้งนั้น และแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า นายพลยอร์ช มาร์แชลรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันได้สั่งให้ประทับวีซ่ากลับคืนในหนังสือเดินทางของข้าพเจ้า ต่อมาไม่นานนอร์แมน ฮันนาห์ อดีตรองกงสุลอเมริกันก็ได้ย้ายไปประจำกรุงเทพฯ องค์การซี.ไอ.เอ.นี้เองที่เป็นผู้สนับสนุนให้ตำรวจสันติบาลไทยจับกุมภรรยาและบุตรชายคนโตของข้าพเจ้า ภรรยาของข้าพเจ้าถูก “ควบคุมตัว” ที่สันติบาลเป็นเวลา ๘๔ วัน ส่วนปาลบุตรชายคนโต ซึ่งขณะนั้นอายุ ๒๐ ปีถูกตัดสินใจจำคุก ๒๐ ปี โดยอ้างข้อหาว่าเป็นกบฏภายในราชอาณาจักร ปาลได้รับการปล่อยตัวตามกฏหมายนิรโทษกรรมเมื่อคราวครบรอบกึ่งพุทธกาล พ.ศ.๒๕๐๐

ฮันนาห์ได้ย้ายไปอยู่อัฟกานิสถานชั่วระยะเวลาสั้นๆ ต่อมาก็กลับมาประจำกรุงเทพฯ ในฐานะที่ปรึกษาสถานทูตอเมริกัน วันหนึ่งเอกอัครราชทูตไทยประจำได้มอบสำเนารายงานซึ่งเขียนโดยฮันนาห์ เกี่ยวกับเหตุการณ์เรื่องวีซ่าครั้งนั้นแก่ข้าพเจ้า รายงานฉบับนั้นเต็มไปด้วยคำโกหกมดเท็จมากมาย ฮันนาห์เขียนในตอนหนึ่งว่า หลังจากขีดวีซ่าอเมริกันบนหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าแล้ว เขาก็เดินทางมาพบข้าพเจ้าที่โรงแรมซึ่งข้าพเจ้าก็ต้อนรับเขาอย่างฉันมิตร และเราก็รับประทานอาหารร่วมกัน

ข้าพเจ้าสาบานได้ว่า ไม่เคยพบหน้าฮันนาห์อีกเลยตั้งแต่วันเกิดเหตุครั้งนั้น

ต่อมาเพื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ข้าพเจ้าได้ข่าวว่า ฮันนาห์ได้พ้นตำแหน่งจากกรุงเทพฯ เพื่อเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาแล้ว

ข้าพเจ้าไม่ได้มีความโกรธเคืองนายฮันนาห์เป็นการส่วนตัวเพียงแต่อยากให้ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันตระหนักว่า เงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ของพวกสายลับ ซี.ไอ.เอ.นั้น บางทีก็สูญเสียไปกับรายงานที่บิดเบือน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจที่เป็นผลเสียแก่ชาวอเมริกันเอง

บทความที่๓๓๖.การลี้ภัยไปสิงคโปร์และจีน (๑)

รัฐประหารปฏิกิริยา
และการลี้ภัยครั้งแรกไปยังสิงคโปร์และจีน

ปรีดี พนมยงค์
-๑-
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ เกิดการรัฐประหารของฝ่ายทหาร โดยการสนับสนุนของพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดและพวกคลั่งชาติ โค่นล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของข้าพเจ้า พวกเขาได้บุกเข้าไปในบ้าน เพื่อจะทำลายชีวิตข้าพเจ้ารวมทั้งภรรยาและบุตรเล็กๆ หาว่าข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกรณีสวรรคตฯ จอมพลป.ซึ่งถูกปล่อยก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน เพราะกฎหมายอาชญากรสงครามไม่มีผลย้อนหลังมาใช้บังคับ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ทำให้มีอำนาจควบคุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภามิได้มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมอีกต่อไป แต่จะมาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากประมุขแห่งรัฐ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ก่อนรัฐประหารอายุต่ำสุดของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้ ๒๓ ปี ซึ่งเท่ากับอายุต่ำสุดของผู้สมัครเป็นวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามมาตรฐานนี้ก็ใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะต่อมาประเทศไทยก็ถูกปกครองโดยรัฐธรรมฟาสซิสต์ กึ่งฟาสซิสต์ และฟาสซิสต์ใหม่ๆ ฯลฯ อีกหลายฉบับ ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองหลายประการ

รัฐบาลใหม่ประกอบด้วยพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัดเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาไม่กี่เดือนทหารก็ได้ชี้ให้รัฐบาลชุดนี้ลาออก และจอมพลพิบูลฯก็ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

คืนวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด และข้าพเจ้าไปพักอยู่กับเพื่อทหารเรือที่ฐานทัพสัตหีบอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รับระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทย เพื่อลี้ภัยไปอยู่ในสิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ

ข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนเดินทางได้ไปพบกันนาวาเอกสแตนท ฟอร์ด เดนนิส (Captain S. DENIS R.N.) ซึ่งเคยร่วมต่อสู้ระหว่างสงครามภายใต้การนำของลอร์ดเมาน์ทแบทเตน และขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อขอให้ติดต่อกับทูตอังกฤษ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ของข้าพเจ้าในการเดินทางไปสิงคโปร์ ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เดนนิสและนาวาเอกการ์เดส (Captain Gardes U.S.N)ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรืออเมริกันได้ร่วมมือกันนำข้าพเจ้าออกจากท่าเรือกรุงเทพฯ จนกระทั่งออกไปยังทะเลลึกโดยเรือยนต์ของการ์เดส ซึ่งนำทางโดยการ์เดสเอง พร้อมด้วยภรรยาและน้องภรรยา ต่อมาเราก็ลงเรือบรรทุกน้ำมันของอังกฤษมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ กัปตันเรือบรรทุกน้ำมันและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่นและอำนวยความสะดวกอย่างดียิ่ง

-๒-
ขณะสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะให้สิทธิแก่ข้าพเจ้าในการลี้ภัยทางการเมือง ข้าพเจ้าก็ทราบดีว่า สิทธิอันนี้จะมีอยู่ตราบเท่าจนกว่าอังกฤษรับรองระบอบปกครองใหม่ของสยามเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอให้สถานเอกอัครราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอนและนานกิง(ซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลใหม่)ออกหนังสือเดินทางการทูตพร้อมด้วยวีซ่าแก่ข้าพเจ้า เพื่ออนุญาตให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังประเทศอื่นได้ เอกอัครราชทูตทั้งสองยินดีทำตามที่ข้าพเจ้าขอไป ข้าพเจ้าจึงได้รับวีซ่าทางการทูตจากสถานทูตจีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฯลฯ ข้าพเจ้าพักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา ๗ เดือน เพื่อรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการกลับสู่สยาม ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่ามิตรของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งกำลังเตรียมตัวก่อการต่อต้านรัฐบาลของคณะรัฐประหารอย่างลับๆ ซึ่งต้องซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเดินทางออกสิงคโปร์ไปยังประเทศอื่นๆ ในระหว่างนั้น