รบทำไม?และรบเพื่อใคร?
บทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
ตอนที่ ๗.
ในขณะที่การเศรษฐกิจได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง พร้อมกับการกดขี่ขูดรีดที่ทารุณโหดร้ายนั้น นายทุนทั้งหลายก็ต้องประสบกับปัญหาวัตถุดิบที่จะมาป้อนโรงงาน และปัญหาตลาดในการระบายสินค้าที่ผลิตขึ้น เพราะวัตถุดิบภายในประเทศมีไม่เพียงพอเสียแล้ว และผลิตผลก็เกินความต้องการของตลาดภายในประเทศ นายทุนจึงเสาะแสวงหาแหล่งวัตถุดิบจากภายนอกประเทศ และพร้อมกับหาตลาดระบายสินค้า ซึ่งนับเป็นบาทก้าวของลัทธิล่าอาณานิคมของระบบทุนนิยมที่สืบต่อจากระบบศักดินา บริษัทตัวแทนของกลุ่มนายทุน ได้เดินทางออไปแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ และตลาดระบายสินค้าในประเทศที่ล้าหลังทั้งหลาย ทั้งในเอเซีย อาฟริกา และลาตินอเมริกา และโดยบริษัทนายทุนเหล่านั้นพยายามที่จะกดราคาวัตถุดิบให้ต่ำที่สุด และโก่งราคาสินค้าของตนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และประกอบกับเล่ห์โกงต่างๆ ของพวกเขา จึงทำให้เกิดความบาดหมางกันขึ้นระหว่างบริษัทตัวแทนกลุ่มนายทุนกับพ่อค้าหรือรัฐบาลท้องถิ่นที่ล้าหลังเหล่านั้น จนในที่สุดรัฐบาลของบริษัทนายทุนได้ส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองประเทศล้าหลัง และทำให้ประเทศเหล่านั้นกลายเป็นประเทศเมืองขึ้นหรืออาณานิคม ประเทศในอาฟริกาทั้งทวีป เอเซียค่อนทวีป และลาตินอเมริกาเกือบทั้งหมดจึงกลายเป็นอาณานิคมของประเทศนายทุนตะวันตกและอเมริกา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเทศอาณานิคมทั้งหลายจึงกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูกๆ แหล่งแรงงานราคาถูกๆ และแหล่งระบายสินค้าหรือตลาดสินค้าราคาแพงของเหล่าประเทศนายทุน ประเทศอาณานิคมทั้งหลายจึงกลายเป็นแหล่งของการกดขี่ขูดรีดของประเทศทุนนิยมโดยตรง ประเทศทุนนิยมเหล่านั้น จึงนอกจากจะกดขี่ขูดรีดชนชั้นคนงานภายในประเทศของตนแล้ว ก็ยังแผ่การกดขี่ขูดรีดครอบคลุมไปทั่วทุกมุมโลก
แต่เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบและตลาดระบายสินค้าโดยทั่วไปมีอยู่จำกัด ไม่พอที่จะสนองความต้องการทะยานอยากอย่างไม่มีขอบเขตของนานาประเทศทุนนิยมได้ ประเทศทุนนิยมเหล่านั้นจึงขัดแย้งกันเองในการแสวงหาผลประโยชน์ แต่ก็ได้พยายามประนีประนอม เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ อย่างเช่นการประนีประนอมระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ในการเข้าครอบครองเอเซียอาคเนย์ โดยอังกฤษเข้าครอบครองทางตะวันตกและทางใต้ของประเทศไทย คือ พม่าและมลายูส่วนฝรั่งเศสเข้าครอบครองทางตะวันออก คือ อินโดจีน(ญวน,ลาว,เขมร) โดยเอาประเทศไทยเป็นประเทศกันชนของประเทศทุนนิยมทั้งสอง ประเทศไทยจึงรอดจากการเป็นเมืองขึ้นโดยตรงของประเทศเหล่านั้น แต่ได้กลายเป็นเมืองขึ้นทางอ้อมของประเทศนายทุนทั้งหลาย โดยการถูกบีบบังคับจำกัดสิทธิ์ทั้งในทางการเมือง การเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยพึ่งจะมาสลัดแอกของประเทศทุนนิยมออกไปได้ เมื่อภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นี้เอง
No comments:
Post a Comment